ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. ปหาราทสูตร

๙. ปหาราทสูตร
ว่าด้วยท้าวปหาราทะจอมอสูร
[๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร๑- เข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสกับท้าวปหาราทะจอมอสูรดังนี้ว่า “ปหาราทะ พวกอสูรต่างพากันยินดีในมหาสมุทรบ้างไหม” ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรต่างพากัน ยินดีในมหาสมุทร” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ปหาราทะ ในมหาสมุทร มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏเท่าไร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร” ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในมหาสมุทร มีสิ่ง ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไป โดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่งที่น่า อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๒. มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง การที่มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่ พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร @เชิงอรรถ : @ จอมอสูร ในที่นี้หมายถึงผู้เป็นใหญ่แห่งเหล่าอสูร จอมอสูรมี ๓ ตน คือ จอมอสูรเวปจิตติ จอมอสูรราหู @และจอมอสูรปหาราทะ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๔๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. ปหาราทสูตร

๓. มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบก ทันที การที่มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่ง จนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๔. มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทร แล้วย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น การที่มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการ ที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๕. แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน ตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่อง หรือเต็มได้ การที่ แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน ตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นสิ่งที่ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม การที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ใน มหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ๗. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว การที่มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ใน มหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๔๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. ปหาราทสูตร

๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่ อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี ฯลฯ มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่ พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้บ้างไหม” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันยินดีใน ธรรมวินัยนี้” ท้าวปหาราทะจอมอสูรทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้มี ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากัน ยินดีในธรรมวินัย” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัย ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ๑- มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ๒- มีการปฏิบัติไปตามลำดับ๓- ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที @เชิงอรรถ : @ การศึกษาไปตามลำดับในที่นี้หมายถึงการศึกษาสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา @(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๔) @ การบำเพ็ญไปตามลำดับ ในที่นี้หมายถึงการบำเพ็ญธุดงค์ ๑๓ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๔) @ การปฏิบัติไปตามลำดับ ในที่นี้หมายถึง อนุปัสสนา ๙ มหาวิปัสสนา ๑๘ อารัมมณวิภัตติ ๓๘ @และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๔๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. ปหาราทสูตร

เหมือนมหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดย ลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตาม ลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่ มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย ปรากฏประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่าง พากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๒. สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะ เหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง การที่สาวก ทั้งหลายของเราไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่ง ชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ใน ธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๓. บุคคลใดผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี๑- แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วย ราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อม ประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ เหมือนมหาสมุทร ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที การที่ บุคคลใดผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็น สมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลาง ภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ นี้เป็น @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๗๒ หน้า ๑๕๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๔๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. ปหาราทสูตร

ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ที่ ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๔. วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละ ชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น เหมือนมหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวม เรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น การที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากัน ยินดีในธรรมวินัยนี้ ๕. แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำ ให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ การที่แม้หากภิกษุจำนวนมาก ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือ เต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ใน ธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือ รสเค็ม การที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุ ทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๕๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๙. ปหาราทสูตร

๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนมหาสมุทรที่มีรัตนะมาก มีรัตนะ หลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว การที่ธรรมวินัยนี้ มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำ ให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เหมือน มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่ธรรมวินัยนี้เป็น ที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง สกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล๑- นี้เป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้ ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ปหาราทสูตรที่ ๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๓/๒๒๔, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๕๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๔๖-๒๕๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=92              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=4030&Z=4163                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=109              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=109&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5375              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=109&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5375                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i101-e.php#sutta9 https://suttacentral.net/an8.19/en/sujato https://suttacentral.net/an8.19/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :