ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

๙. เหมวตสูตร
ว่าด้วยเหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา
[๑๕๓] (สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้) วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ราตรีที่เป็นทิพย์ปรากฏแล้ว เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นศาสดา ทรงพระนามสูงส่งกันดีกว่า [๑๕๔] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้) พระโคดมเป็นผู้คงที่๑- มีพระทัยสม่ำเสมอ ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริงหรือ ทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ให้อยู่ในอำนาจได้จริงหรือ [๑๕๕] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้) พระโคดมเป็นผู้คงที่ มีพระทัยสม่ำเสมอ ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริง และทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ให้อยู่ในอำนาจได้จริง [๑๕๖] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้) พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริงหรือ ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงหรือ พระองค์ไม่ทรงละทิ้งฌานจริงหรือ @เชิงอรรถ : @ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระทัยคงที่โดยอาการ ๕ อย่าง คือ (๑) เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ @(๒) เป็นผู้คงที่เพราะสละแล้ว (๓) เป็นผู้คงที่เพราะพ้นแล้ว (๔) เป็นผู้คงที่เพราะข้ามได้แล้ว (๕) เป็นผู้คงที่ @เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ ได้ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๕๕/๒๓๑-๒๓๒) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

[๑๕๗] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้) พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริง ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริง ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริง พระองค์ตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงละทิ้งฌานจริง [๑๕๘] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้) พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริงหรือ มีพระวาจาไม่หยาบคายจริงหรือ ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริงหรือ ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริงหรือ [๑๕๙] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้) พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริง มีพระวาจาไม่หยาบคายจริง ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริง ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริง ตรัสคำที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว เพราะทรงกำหนดด้วยพระปัญญา [๑๖๐] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้) พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริงหรือ พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริงหรือ พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะได้จริงหรือ พระองค์ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริงหรือ [๑๖๑] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้) พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริง พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะทั้งปวงได้จริง พระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริง [๑๖๒] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้) พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริงหรือ พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริงหรือ พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริงหรือ พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริงหรือ [๑๖๓] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้) พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริง พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริง พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริง พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริง [๑๖๔] (เหมวตยักษ์กล่าวชื่นชมสาตาคิรยักษ์ดังนี้) ท่านได้สรรเสริญพระทัยของพระมุนีโคดม ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม และสรรเสริญพระมุนีโคดมนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม [๑๖๕] (สาตาคิรยักษ์กล่าวชื่นชมเหมวตยักษ์ดังนี้) ท่านก็ชื่นชมพระทัยของพระมุนีโคดม ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม และชื่นชมพระมุนีโคดมนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม [๑๖๖] พระทัยของพระมุนีโคดม ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เราไปเฝ้าพระโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะกันเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

[๑๖๗] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้) มาเถิด เราทั้งสองจะไปเฝ้าพระโคดม ผู้มีพระชงฆ์ดังปลีแข้งเนื้อทราย มีพระวรกายงามระหง มีลักษณะองอาจ เสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณ ทรงปราศจากความติดพระทัยในรสพระกระยาหาร ทรงเป็นมุนีผู้เพ่งพินิจอยู่ในป่า [๑๖๘] เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดม ผู้สง่าดุจราชสีห์ เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว๑- ทรงเป็นพระนาคะ๒- ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย จะทูลถามถึงธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช๓- [๑๖๙] เราทั้งสองจงทูลถามพระโคดมผู้ทรงแนะนำพร่ำสอน ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง๔- ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ล่วงพ้นเวรภัยได้ทุกอย่าง @เชิงอรรถ : @ เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว หมายถึงไม่มีตัณหา อีกนัยหนึ่ง หมายถึงในโลกธาตุเดียวกันนี้ มีเพียง @พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗) @ ทรงเป็นพระนาคะ หมายถึงเป็นผู้ไม่เกิดอีกบ้าง เป็นผู้ไม่ทำความชั่วบ้าง หรือหมายถึงทรงมีพลธรรม @บ้าง (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗) @ ธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๘) @ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๙/๒๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

[๑๗๐] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้) เมื่ออะไรเกิด สัตว์โลกจึงเกิด สัตว์โลกยินดีในอะไร สัตว์โลกยึดถืออะไร เพราะอะไรสัตว์โลกจึงเดือดร้อน [๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) เมื่ออายตนะ ๖ ๑- เกิด สัตว์โลกจึงเกิด สัตว์โลกย่อมยินดีในอายตนะ ๖ สัตว์โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล เพราะอายตนะ ๖ สัตว์โลกจึงเดือดร้อน [๑๗๒] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้) ความยึดถือที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้นคืออะไร ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องนำออกจากโลก สัตว์โลกจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร [๑๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) กามคุณ ๕ อันมีใจเป็นที่ ๖ ซึ่งมีอยู่ในโลก เราประกาศไว้ชัดเจนแล้ว สัตว์โลกคลายความพอใจในกามคุณ ๕ นี้ได้ ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้๒- @เชิงอรรถ : @ อายตนะ ๖ หมายถึงอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๑/๒๔๐) @ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๕๑๐/๓๐๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

[๑๗๔] นี้คือธรรมเครื่องนำออกจากโลก เราบอกแก่พวกท่านตามความเป็นจริง เราก็บอกพวกท่านเช่นนี้แล เพราะว่าสัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยวิธีดังนี้ [๑๗๕] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้) ในโลกนี้ใครเล่าข้ามโอฆะ๑- ได้ ใครเล่าข้ามห้วงมหรรณพได้๒- ใครเล่าไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก ปราศจากเกาะแก่ง และเครื่องยึดเหนี่ยว [๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว เพ่งพินิจธรรมภายใน มีสติทุกเมื่อ ย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก [๑๗๗] ผู้นั้นเว้นขาดจากกามสัญญา๓- ได้แล้ว เป็นผู้ละสังโยชน์ได้ทุกอย่าง หมดสิ้นความเพลิดเพลินและภพแล้ว ย่อมไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก @เชิงอรรถ : @ โอฆะ หมายถึงกิเลส ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓) @ ห้วงมหรรณพ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓) @ กามสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม หรือสัญญาที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง @(องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๙. เหมวตสูตร

[๑๗๘] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้) ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีพระปัญญาลึกซึ้ง ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ทรงข้องในกามภพ ทรงหลุดพ้นได้เด็ดขาดในอารมณ์ทั้งปวง แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาอันเป็นทิพย์ [๑๗๙] ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีพระนามเลื่องลือไกล ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด ทรงประทานแสงสว่างคือปัญญา ไม่ทรงติดข้องอาลัย๑- ในกาม ทรงเป็นพระสัพพัญญูรู้ธรรมทั้งปวง มีพระปัญญาบารมี แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาของพระอริยะ [๑๘๐] วันนี้เราทั้งหลายเห็นดีแล้ว สว่างไสวแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว เพราะเราทั้งหลายได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ปราศจากอาสวะ [๑๘๑] ยักษ์ ๑,๐๐๐ ตนที่อยู่ ณ ที่นั้นทั้งหมด มีฤทธิ์ มียศ ย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นสรณะ โดยเปล่งวาจาว่าพระองค์ทรงเป็นพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครยิ่งกว่าของข้าพระองค์ทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ อาลัย หมายถึงตัณหา และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๙/๒๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค]

๑๐. อาฬวกสูตร

[๑๘๒] ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง ตามหมู่บ้านหรือตามขุนเขาลำเนาไพร
เหมวตสูตรที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๓๕-๕๔๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=236              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7410&Z=7512                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=309              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=309&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=5287              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=309&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=5287                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta9 https://suttacentral.net/snp1.9/en/mills https://suttacentral.net/snp1.9/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :