บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
๑๕. จัตตาฬีสนิบาต ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา ภาษิตของพระอิสิทาสีเถรี (พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๔๐๒] ในเมืองปาฏลีบุตรได้ชื่อว่าเป็นเมืองดอกไม้ เป็นแผ่นดินที่ผ่องใส มีพระภิกษุณี ผู้ทรงคุณธรรม เป็นกุลธิดาในศากยสกุล ๒ รูป [๔๐๓] ใน ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งชื่อว่าอิสิทาสี รูปที่ ๒ ชื่อว่าโพธิ ล้วนมีศีลสมบูรณ์ ยินดีเข้าฌาน เป็นพหูสูต กำจัดกิเลสได้แล้ว [๔๐๔] ทั้งสองรูปนั้นเที่ยวบิณฑบาต ฉันและล้างบาตรแล้ว ก็นั่งพักอย่างสบายในที่สงัด ได้เปล่งถ้อยคำเหล่านี้ถามตอบกัน (พระโพธิเถรีถามว่า) [๔๐๕] แม่เจ้าอิสิทาสี แม่เจ้าเป็นผู้น่าเลื่อมใสอยู่ แม้วัยของแม่เจ้าก็ยังไม่เสื่อมโทรม แม่เจ้าเห็นโทษอะไร จึงขวนขวายในเนกขัมมะเล่า [๔๐๖] พระอิสิทาสีเถรีนั้นฉลาดในการแสดงธรรม เมื่อถูกซักถามในที่สงัด จึงได้กล่าวตอบดังนี้ว่า แม่เจ้าโพธิ ขอแม่เจ้าจงฟังเหตุที่ฉันออกบวช (ต่อไปนี้เป็นคำวิสัชนา) [๔๐๗] ในกรุงอุชเชนนีราชธานี บิดาของดิฉันเป็นเศรษฐี สำรวมในศีล ดิฉันเป็นธิดาคนเดียวของท่าน จึงเป็นที่รักที่โปรดปราน และน่าเอ็นดู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๐๘] ภายหลังพวกคนสนิทของดิฉัน ที่มีตระกูลสูงมาจากเมืองสาเกต ขอดิฉันว่า เศรษฐีมีรัตนะมากขอดิฉัน บิดาได้ให้ดิฉันเป็นสะใภ้ของเศรษฐีนั้น [๔๐๙] ดิฉันต้องเข้าไปทำความนอบน้อมพ่อผัวและแม่ผัวทุกเช้าเย็น ต้องกราบเท้าด้วยเศียรเกล้า ตามที่ถูกสั่งสอนมา [๔๑๐] พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย หรือบ่าวไพร่ของสามีดิฉันไม่ว่าคนใด ดิฉันเห็นแล้วแม้ครั้งเดียว ก็หวาดกลัวต้องให้ที่นั่งเขา [๔๑๑] ดิฉันต้องรับรองเขาด้วยข้าว น้ำ ของเคี้ยว และสิ่งของที่จัดเตรียมไว้ในที่ที่เขาเข้าไปนั้น นำเข้าไปให้ และต้องให้ของที่สมควรแก่เขา [๔๑๒] ดิฉันลุกขึ้นตามเวลา เข้าไปยังเรือนสามี ล้างมือและเท้าที่ใกล้ประตู ประนมมือเข้าไปหาสามี [๔๑๓] ต้องจัดหาหวี เครื่องผัดหน้า ยาหยอดตา และกระจก แต่งตัวให้สามีเอง เสมอเหมือนหญิงรับใช้ [๔๑๔] หุงข้าวต้มแกงเอง ล้างภาชนะเองทั้งนั้น ปรนนิบัติสามี เสมือนมารดาปรนนิบัติบุตรน้อยคนเดียว [๔๑๕] จงรักภักดี ทำหน้าที่ครบถ้วน เลิกถือเนื้อถือตัว ขยันไม่เกียจคร้าน มีศีลอย่างนี้ สามีก็ยังเกลียด [๔๑๖] สามีนั้น บอกมารดาและบิดาว่า ลูกจักลาไปละ ลูกไม่ขออยู่ร่วมกับอิสิทาสี ทั้งไม่ยอมอยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกันด้วย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
(มารดาบิดาของเขากล่าวว่า) [๔๑๗] อย่าพูดอย่างนี้สิลูก อิสิทาสีเป็นบัณฑิต ฉลาดรอบครอบ ขยันไม่เกียจคร้าน ทำไมลูกจึงไม่ชอบใจล่ะ (สามีของดิฉันพูดว่า) [๔๑๘] อิสิทาสี ไม่ได้เบียดเบียนอะไรลูกดอก แต่ลูกไม่อยากอยู่ร่วมกับอิสิทาสี ลูกเกลียด ลูกพอแล้ว จักขอลาไป [๔๑๙] แม่ผัวและพ่อผัว ฟังคำของสามีดิฉันนั้นแล้ว ได้ถามดิฉันว่า เจ้าประพฤติผิดอะไร เจ้าจึงถูกเขาทอดทิ้ง จงพูดไปตามความเป็นจริงสิ (ดิฉันตอบว่า) [๔๒๐] ดิฉันไม่ได้ประพฤติผิดอะไร ไม่ได้เบียดเบียนเขา ทั้งไม่ได้พูดคำหยาบคาย ดิฉันกล้าหรือ ที่จะทำสิ่งที่สามีเกลียดดิฉันได้นะคุณแม่ [๔๒๑] มารดาบิดาของเขานั้น เสียใจ ถูกทุกข์ครอบงำ หวังทะนุถนอมบุตร จึงนำดิฉันส่งกลับไปเรือนบิดา ฉันเป็นผู้ชนะสิริที่สวยงามแล้วหนอ [๔๒๒] ภายหลัง บิดาได้ยกดิฉันให้แก่กุลบุตร ผู้ร่ำรวยน้อยกว่าสามีคนแรกครึ่งหนึ่ง โดยสินสอดครึ่งหนึ่งจากสินสอดที่เศรษฐีให้เราครั้งแรก [๔๒๓] ดิฉัน อยู่ในเรือนสามีคนที่ ๒ นั้นได้เดือนเดียว ต่อมา เขาขับไล่ดิฉันซึ่งบำรุงบำเรออยู่ดุจทาสี ไม่คิดประทุษร้าย มีศีลสมบูรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๒๔] บิดาของดิฉัน บอกบุรษผู้หนึ่ง ที่ฝึกกายและวาจาแล้ว มีหน้าที่ฝึกจิตของชนเหล่าอื่น กำลังเที่ยวขอทานอยู่ว่า เจ้าจงทิ้งผ้าเก่าๆ และกระเบื้องขอทานเสีย มาเป็นลูกเขยข้าเถิด [๔๒๕] แม้บุรุษนั้น อยู่ได้ครึ่งเดือน ก็พูดกับบิดาว่า โปรดคืนผ้าเก่า กระเบื้องขอทาน และภาชนะขอทานแก่ฉันเถิด ฉันจักไปขอทานตามเดิม [๔๒๖] ครั้งนั้น บิดามารดาและหมู่ญาติของดิฉันทุกคน พูดกับคนขอทานนั้นว่า เจ้าทำอะไรไม่ได้ในที่นี้ รีบบอกมา เธอจักทำกิจนั้นแทนเจ้าเอง [๔๒๗] เขาถูกบิดามารดาและหมู่ญาติของดิฉันถามอย่างนี้แล้ว จึงพูดว่า ถึงตัวฉันจะเป็นใหญ่และเป็นไท ฉันพอแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ร่วมกับอิสิทาสี ฉันไม่ขออยู่ร่วมกับอิสิทาสี ทั้งไม่ขออยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกับเธอ [๔๒๘] ชายขอทานนั้นถูกบิดาปล่อยก็ไป แม้ดิฉันอยู่คนเดียว ก็คิดว่า จะลาบิดามารดาไปตายหรือไปบวชเสีย [๔๒๙] ขณะนั้น พระแม่เจ้าชินทัตตาเถรี ผู้ทรงวินัย เป็นพหูสูต มีศีลสมบูรณ์ เที่ยวบิณฑบาตมายังตระกูลบิดา [๔๓๐] ดิฉันเห็นท่าน จึงลุกไปจัดที่นั่งของดิฉันถวายท่าน และเมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ดิฉันก็กราบเท้าแล้วถวายอาหาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๓๑] ดิฉันเลี้ยงดูท่านด้วยข้าวน้ำ ของควรเคี้ยว และสิ่งของที่จัดไว้ในเรือนนั้นให้อิ่มหนำสำราญ จึงเรียนท่านว่า ดิฉันประสงค์จะบวช เจ้าค่ะ [๔๓๒] ลำดับนั้น บิดาพูดกับดิฉันว่า ลูกเอ๋ย ลูกจงประพฤติธรรมในเรือนนี้ก็แล้วกัน จงเลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเถิด [๔๓๓] ขณะนั้น ดิฉันร้องไห้ประนมมือพูดกับบิดาว่า ความจริง ลูกทำบาปมามากแล้ว ลูกจักชำระกรรมนั้นให้เสร็จสิ้นกันเสียที [๔๓๔] ครั้งนั้น บิดาจึงให้พรดิฉันว่า ขอให้ลูกบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผลอันเลิศ และจงได้นิพพานที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ ทรงกระทำให้แจ้งเถิด [๔๓๕] ดิฉันกราบลามารดาบิดาและหมู่ญาติทุกคน บวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ [๔๓๖] รู้ระลึกชาติได้ ๗ ชาติ จักบอกกรรมที่มีผลวิบากแก่แม่เจ้า ขอแม่เจ้าโปรดสำรวมใจฟังวิบากกรรมนั้นเถิด [๔๓๗] ชาติก่อน ดิฉันเป็นช่างทองในเมืองเอรกกัจฉะ มีทรัพย์มาก มัวเมาในวัยหนุ่ม ได้เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น [๔๓๘] ดิฉันนั้นตายจากชาตินั้นแล้ว ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลานาน ถูกไฟนรกเผาแล้ว ครั้นพ้นจากนรกนั้นแล้ว ก็เกิดในท้องนางลิง [๔๓๙] พอเกิดได้ ๗ วัน วานรใหญ่ จ่าฝูง ก็กัดอวัยวะสืบพันธุ์ นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๔๐] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดวานรนั้นแล้ว เกิดในท้องแม่แพะตาบอด และเป็นง่อยอยู่ในป่า แคว้นสินธุ [๔๔๑] พออายุได้ ๑๒ ปี พาเด็กขึ้นหลังไป ถูกเด็กตัดอวัยวะสืบพันธุ์ ป่วยเป็นโรค หมู่หนอนชอนไชที่อวัยวะสืบพันธุ์ นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น [๔๔๒] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดแพะนั้นแล้ว ก็เกิดในท้องแม่โคของพ่อค้าโค เป็นลูกโคมีขนแดงดังน้ำครั่ง อายุ ๑๒ เดือนก็ถูกตอน [๔๔๓] ดิฉันถูกเขาใช้ให้ลากไถและเทียมเกวียน ป่วยเป็นโรคตาบอด มีความลำบาก นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น [๔๔๔] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดโคนั้นแล้ว เกิดในท้องสาวใช้ข้างถนนในพระนคร เป็นหญิงก็ไม่ใช่ เป็นชายก็ไม่เชิง นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น [๔๔๕] อายุ ๓๐ ปีก็ตาย มาเกิดเป็นเด็กหญิง ในตระกูลช่างเกวียนที่เข็ญใจ มีโภคทรัพย์น้อย มีเจ้าหนี้มากมาย [๔๔๖] เมื่อหนี้พอกพูนทับถมมากขึ้น แต่นั้น นายกองเกวียนก็ริบเอาทรัพย์สมบัติแล้ว ฉุดคร่าดิฉันนั้นผู้กำลังรำพันอยู่ออกจากเรือนของสกุล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต]
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๔๗] ภายหลัง บุตรของนายกองเกวียนนั้นชื่อคิริทาส เห็นดิฉันเป็นสาวรุ่นอายุ ๑๖ ปี ก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงขอไปเป็นภรรยา [๔๔๘] แต่นายคิริทาสนั้น มีภรรยาอยู่ก่อนคนหนึ่ง เป็นคนมีศีล มีคุณธรรม และมีชื่อเสียง รักใคร่สามีอย่างดียิ่ง ดิฉันได้ทำให้สามีเกลียดนาง [๔๔๙] ข้อที่สามีทั้งหลาย เลิกร้างดิฉัน ซึ่งปรนนิบัติอยู่เสมือนสาวใช้ไป ก็เป็นผลกรรมที่ดิฉันนั้นกระทำแล้วในครั้งนั้น ดิฉันสิ้นสุดกรรมนั้นแล้วจัตตาฬีสนิบาต จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๘}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๒๒-๖๒๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=473 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=10029&Z=10137 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=473 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=473&items=1 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=7004 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=473&items=1 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=7004 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thig15.1/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]