ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)

๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
ว่าด้วยน้ำใจของพญาเนื้อรุรุ
(พระราชาตรัสว่า) [๑๑๗] เราจะให้บ้านส่วยและเหล่านารีที่ประดับตบแต่งแล้วแก่คน ผู้บอกกล่าวถึงพญาเนื้อตัวประเสริฐกว่าเนื้อทั้งหลายแก่เรา (บุตรเศรษฐีกราบทูลว่า) [๑๑๘] ขอพระองค์ประทานบ้านส่วยและเหล่านารี ที่ประดับตบแต่งแล้วแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงพญาเนื้อ ตัวประเสริฐกว่าเนื้อทั้งหลายต่อพระองค์ (เมื่อจะบอกที่อยู่ของพญาเนื้อ จึงกราบทูลว่า) [๑๑๙] ณ ไพรสณฑ์แห่งนั้น ต้นมะม่วงและต้นสาละผลิดอกบานสะพรั่ง ภูมิภาคปกคลุมไปด้วยติณชาติมีสีแดงเหมือนปีกแมลงค่อมทอง พญาเนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้ (พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนั้นว่า) [๑๒๐] พระราชาทรงโก่งธนูสอดใส่ลูกศร เสด็จเข้าไปใกล้ ส่วนพญาเนื้อเห็นพระราชาแล้วจึงร้องกราบทูลแต่ไกลว่า [๑๒๑] ทรงหยุดก่อน พระมหาราชผู้จอมทัพ อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระองค์ ใครหนอกราบทูลเรื่องนี้แก่พระองค์ว่า พญาเนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้ (พระราชาตรัสว่า) [๑๒๒] เจ้าคนที่ประพฤติเลวทรามยืนอยู่ห่างๆ นั่นเพื่อน ก็เขานั่นแหละได้บอกเรื่องนี้แก่เราว่า เนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)

(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๒๓] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า ส่วนคนบางคนที่ประทุษร้ายมิตรไม่ดีเลย (พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๑๒๔] นี่พญาเนื้อรุรุ เจ้าติเตียนหมู่เนื้อ หรือหมู่นก ก็หรือติเตียนหมู่มนุษย์ เพราะภัยอันใหญ่หลวงจะมาต้องเรา เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์ (พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๒๕] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้ช่วยผู้ใด ซึ่งถูกน้ำพัดมาในห้วงน้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสเชี่ยวกรากขึ้นมา ภัยมาถึงข้าพระองค์เพราะผู้นั้นเป็นเหตุ การสมาคมกับคนชั่วเป็นทุกข์ (พระราชาทรงกริ้วบุตรเศรษฐี จึงตรัสว่า) [๑๒๖] เรานั้นจะปล่อยลูกศร ๔ ปีกดอกนี้ แหวกอากาศไปเจาะร่างเสียบตรงหัวใจ เราจะฆ่ามันผู้ประทุษร้ายมิตร ทำกิจที่ไม่ควรทำ ซึ่งไม่รู้จักคนผู้ทำคุณไว้เช่นนั้น (ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๒๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ผู้ทรงพระปรีชา การฆ่าคนชั่วนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่สรรเสริญ ขอคนผู้มีธรรมชั่วช้าจงกลับไปบ้านได้ตามความปรารถนา และขอพระองค์ทรงพระราชทาน สิ่งที่พระองค์ตรัสพระราชทานไว้แก่เขาเถิด และข้าพระองค์จะกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต]

๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)

(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า) [๑๒๘] พญาเนื้อรุรุ เจ้าไม่ประทุษร้ายต่อคนผู้ประทุษร้าย แถมยังปล่อยให้คนชั่วช้ากลับไปบ้านได้ตามสบาย นับว่าเป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษทั้งหลายแน่นอน เราจะให้สิ่งที่ได้พูดว่าจะให้แก่เขา และจะให้เจ้าเที่ยวไปตามความพอใจด้วย (ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะลองหยั่งพระทัยพระราชา จึงได้กราบทูลว่า) [๑๒๙] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น [๑๓๐] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี (พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า) [๑๓๑] พวกชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกัน ร้องทุกข์ว่า พวกเนื้อพากันมากินข้าวกล้า ขอพระองค์ผู้สมมติเทพจงทรงห้ามหมู่เนื้อนั้น (พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า) [๑๓๒] ชนบทจงอย่ามีและแม้แว่นแคว้นจงพินาศไปก็ตามที ส่วนเราให้อภัยทานแล้ว จะไม่ประทุษร้ายพญาเนื้อรุรุอย่างเด็ดขาด [๑๓๓] ชนบทของเราจงอย่ามีและแว่นแคว้นของเราจงพินาศไป ส่วนเราให้พรแก่พญาเนื้อแล้วจะไม่พูดมุสาเด็ดขาด
รุรุมิคราชชาดกที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๑๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๔๑๖-๔๑๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=482              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=7108&Z=7156                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1839              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=1839&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=4502              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=1839&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=4502                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja482/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :