ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๖. อุปาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบาลีเถระ
(พระอุบาลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๔๔๑] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าสุชาตะ ในกรุงหงสวดี มีกองทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอันมาก [๔๔๒] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท สำเร็จในคัมภีร์พยากรณ์ลักษณะ คัมภีร์อิติหาสะ และไตรเพท อันเป็นธรรมของตน [๔๔๓] ครั้งนั้น เหล่าปริพาชกผู้มีผมปอยเดียว สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเชื้อสายพระอาทิตย์ และเหล่าดาบสผู้เที่ยวสัญจร พากันท่องเที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน [๔๔๔] แม้พวกเขาก็พากันห้อมล้อมข้าพเจ้า ด้วยสำคัญว่า เป็นพราหมณ์ มีชื่อเสียง ชนจำนวนมากพากันบูชาข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่บูชาใครๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๔๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นใครว่าเป็นผู้ที่ควรบูชา จึงถือตัวจัด พระชินเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นมาตราบใด คำว่า พุทธะ ก็ยังไม่มีตราบนั้น [๔๔๖] เมื่อวันคืนล่วงไป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระจักษุ เสด็จอุบัติขึ้นมาบรรเทาความมืดทั้งปวงในโลก [๔๔๗] เมื่อศาสนาแผ่ไปกว้างขวาง มีท่านผู้รู้มากและเป็นปึกแผ่น ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังกรุงหงสวดี [๔๔๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงธรรมเป็นประโยชน์แก่พระบิดา มีชุมนุมชนอยู่โดยรอบตลอดหนึ่งโยชน์ ตามเวลานั้น [๔๔๙] ครั้งนั้น สุนันทดาบสได้รับสมมติจากหมู่ชน(ว่าเป็นเลิศ) ได้ใช้ดอกไม้บังแดดทั่วพุทธบริษัท [๔๕๐] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔ ณ มณฑปดอกไม้ที่งดงาม เหล่าสัตว์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิได้บรรลุธรรม [๔๕๑] พระพุทธเจ้าทรงบันดาลหยาดฝนคือพระธรรม ให้ตกลงตลอดทั้ง ๗ คืน ๗ วัน พอถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าก็ได้ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสว่า [๔๕๒] ท่านผู้นี้ เมื่อเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก ก็จักเป็นผู้ประเสริฐกว่าใครทั้งหมด จักเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้งหลาย [๔๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๕๔] ท่านผู้นี้จักเป็นบุตรของนางมันตานี มีนามว่าปุณณะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น [๔๕๕] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า๑- ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสอย่างนี้แล้ว ทำให้ประชาชนทั้งปวงร่าเริง ทรงแสดงกำลังของพระองค์ [๔๕๖] ครั้งนั้น๒- ประชาชนประนมมือไหว้สุนันทดาบส แต่สุนันทดาบสครั้นทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ชำระคติ(กำเนิด)ของตนให้บริสุทธิ์หมดจด [๔๕๗] เพราะข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระมุนี ณ ที่นั้น จึงได้มีความดำริว่า เราจักสั่งสมบุญ โดยประการที่จะได้พบพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม [๔๕๘] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็คิดถึงกิจที่เราควรทำว่า เราจะบำเพ็ญบุญกรรมเช่นไร ในเนื้อนาบุญที่ยอดเยี่ยม [๔๕๙] บรรดาภิกษุผู้เป็นนักสวดทั้งหมดในศาสนา ภิกษุรูปนี้เป็นนักสวดรูปหนึ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เลิศในทางวินัย ตำแหน่งนั้นข้าพเจ้าปรารถนา๓- แล้ว [๔๖๐] โภคสมบัติของข้าพเจ้านี้นับประมาณมิได้ เปรียบดังห้วงน้ำที่ไม่มีอะไรๆ ทำให้กระเพื่อมได้ (นับไม่ได้) ข้าพเจ้าได้จ่ายโภคสมบัตินั้นสร้างอารามถวายพระพุทธเจ้า @เชิงอรรถ : @ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๕/๓๓๓) @ ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงก่อนที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระจะเสด็จอุบัติขึ้นมา (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๖/๓๓๓) @ ท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งพระวินัยธรผู้เลิศกว่าพระ @วินัยธรทุกรูป จึงได้สักการะพระศาสดาแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๙/๓๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๖๑] ข้าพเจ้าจ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อสวนชื่อว่าโสภณะ ด้านทิศตะวันออกนคร สร้างให้เป็นสังฆาราม [๔๖๒] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป เรือนโล้น ถ้ำ และที่จงกรมไว้ในสังฆารามอย่างดี [๔๖๓] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ โรงน้ำ และห้องอาบน้ำ ถวายแด่หมู่ภิกษุ [๔๖๔] ข้าพเจ้าได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง ภาชนะสำหรับใช้สอย คนวัด และเภสัชนั้นครบทุกอย่าง [๔๖๕] ข้าพเจ้าได้จัดตั้งอารักขาไว้ ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง ด้วยหวังว่า ใครๆ อย่าได้รบกวนอารามแห่งนั้น ของท่านผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่เลย [๔๖๖] ข้าพเจ้าได้จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนสร้างที่อยู่ไว้ในสังฆาราม ครั้นให้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงน้อมถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า [๔๖๗] ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอารามเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอพระองค์ทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้าผู้มีพระจักษุ ข้าพระองค์ขอมอบถวายแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงรับเถิด [๔๖๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงเป็นผู้นำ ทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว จึงทรงรับไว้ [๔๖๙] ข้าพเจ้าทราบการรับของพระสัพพัญญู ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ จึงตระเตรียมโภชนาหารแล้ว ไปกราบทูลภัตตกาล [๔๗๐] เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลภัตตกาลแล้ว พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำ พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป ได้เสด็จมาสู่อารามของข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๗๑] ข้าพเจ้าทราบเวลาที่พระองค์ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงอังคาสให้อิ่มหนำ ทราบเวลาที่เสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า [๔๗๒] อารามชื่อโสภณะข้าพระองค์จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อมา ได้สร้างจนเสร็จเรียบร้อยด้วยทรัพย์จำนวนเท่านั้นเช่นกัน ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์ทรงรับเถิด [๔๗๓] ด้วยการถวายพระอารามแห่งนี้และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น เมื่อข้าพระองค์บังเกิดในภพ ขอจงได้สิ่งที่ข้าพระองค์ปรารถนาเถิด [๔๗๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆาราม ที่ข้าพเจ้าสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า [๔๗๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายสังฆาราม ซึ่งสร้าง(กุฏิ ที่เร้น มณฑป ปราสาท เรือนโล้น และกำแพงเป็นต้น) เสร็จเรียบร้อยแล้วแด่พระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๔๗๖] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม [๔๗๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม [๔๗๘] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ผู้ประดับตกแต่งสวยงาม สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๗๙] มีหน้ากลมโต๑- มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม [๔๘๐] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ [๔๘๑] จักได้สิ่งของทุกอย่างที่ท้าวเทวราชจะพึงได้ เป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่รู้จักพร่อง ครองเทวสมบัติ [๔๘๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๔๘๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๔๘๔] ท่านผู้นี้จักมีนามว่าอุบาลี เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น [๔๘๕] จักถึงความสำเร็จในวินัย เป็นผู้ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ๒- ดำรงศาสนาของพระชินเจ้าไว้ได้ อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๔๘๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ จักทรงตั้ง(อุบาลี)ไว้ในเอตทัคคะ @เชิงอรรถ : @ มีหน้ากลมโต ในที่นี้แปลตามบาลี อาฬารมุขา แต่อรรถกถาเป็น อาฬารปมฺหา (ขุ.อป.อ. ๑/๔๗๙/๓๓๕) @และข้ออื่นๆ ในเล่มเดียวกัน เช่นข้อ ๙๕/๑๐๕, ๗๖/๔๒๙ เป็น อาฬารปมฺหา เหมือนกันแปลว่า มีตากลมโต @ ฐานะและมิใช่ฐานะ หมายถึงเหตุและมิใช่เหตุ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๕/๓๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๘๗] ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์๑- เริ่มต้นตั้งแต่(หลายแสน)กัปที่นับมิได้ ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้น ทั้งได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามลำดับ [๔๘๘] คนถูกคุกคามด้วยพระราชอาญา ถูกเสียบไว้ที่หลาวแล้ว ไม่ได้ความสำราญที่หลาว ต้องการแต่จะหลุดพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด [๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกคุกคามด้วยอาชญาคือภพ ถูกเสียบไว้ที่หลาวคือกรรม ถูกเวทนาคือความกระหายบีบคั้นแล้ว [๔๙๐] ไม่ประสบความสำราญในภพ ถูกไฟ ๓ กอง๒- แผดเผาอยู่ แสวงหาอุบายรอดพ้น ดุจคนแสวงหาอุบายรอดพ้นจากพระราชอาญา ฉะนั้น [๔๙๑] คนดื่มยาพิษ ถูกยาพิษบีบคั้น เขาจึงแสวงหายากำจัดยาพิษ [๔๙๒] เมื่อแสวงหา จึงได้พบยากำจัดยาพิษ ดื่มยานั้นแล้วก็มีความสุข เพราะรอดพ้นจากยาพิษ ฉันใด [๔๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็เป็นเหมือนคนถูกยาพิษทำร้าย ถูกอวิชชาบีบคั้น จึงแสวงหายาคือพระสัทธรรม @เชิงอรรถ : @ ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ คือข้าพเจ้าปรารถนาจะเป็นผู้เลิศกว่าใครๆ ในทางทรงจำวินัย @ในศาสนาของพระโคดมผู้มีพระภาค (ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๗/๓๓๖) @ ไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟในนรก ไฟที่เกิดขึ้นในกัป ไฟคือทุกข์ @(ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๙-๔๙๐/๓๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๔๙๔] เมื่อแสวงหายาคือพระธรรมก็ได้พบศาสนาของพระศากยะ ศาสนานั้นเป็นยาชั้นเลิศกว่ายาทุกขนาน สำหรับบรรเทาลูกศรทุกชนิด๑- [๔๙๕] ข้าพระองค์ดื่มธรรมโอสถแล้วก็ถอนพิษได้ทั้งหมด ข้าพระองค์ได้สัมผัสพระนิพพาน ซึ่งไม่แก่ ไม่ตาย เป็นภาวะเย็นสนิท [๔๙๖] คนถูกผีคุกคาม ถูกผีสิงบีบคั้น พึงแสวงหาหมอผี เพื่อรอดพ้นจากผี [๔๙๗] เมื่อแสวงหา ก็ได้พบหมอผีผู้ฉลาดในวิชาไล่ผี หมอผีนั้นจึงขับไล่ผีให้คนนั้น และทำผีพร้อมทั้งต้นเหตุให้พินาศ ฉันใด [๔๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกผีคือความมืด(คือกิเลส)เบียดเบียน จึงแสวงหาแสงสว่างคือญาณเพื่อรอดพ้นจากความมืด [๔๙๙] ต่อมา ข้าพระองค์ได้พบพระศากยมุนีผู้ชำระความมืดคือกิเลส พระศากยมุนีนั้น ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์ ดุจหมอผีขับไล่ผีไป ฉะนั้น [๕๐๐] ข้าพระองค์ได้ตัดกระแสการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ห้ามกระแสแห่งตัณหาได้ ถอนภพขึ้นได้หมดสิ้น ดุจหมอผีขับไล่ผีไปพร้อมทั้งต้นเหตุ ฉะนั้น [๕๐๑] พญาครุฑโฉบลงจับนาคซึ่งเป็นภักษาของตน ย่อมทำน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมถึง ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ @เชิงอรรถ : @ ลูกศรทุกชนิด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๔๙๔/๓๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๐๒] ครั้นพญาครุฑนั้นจับนาคได้แล้ว เบียดเบียนนาค ให้ห้อยหัวลง มันจับนาคพาบินไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด [๕๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็เหมือนพญาครุฑที่มีพลัง แสวงหาอสังขตธรรม๑- ได้ชำระโทษทั้งหลายแล้ว [๕๐๔] ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันประเสริฐ จึงยึดถือเอาสันติบท๒- อันยอดเยี่ยมนี้อยู่ ดุจพญาครุฑจับนาคไป ฉะนั้น [๕๐๕] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี๓- เกิดในสวนจิตรลดาแล้ว ล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี เถาวัลย์นั้นจึงจะเกิดผลผลหนึ่ง [๕๐๖] เทพทั้งหลาย เข้าไปนั่งเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้น เมื่อกาลนานๆ จะมีผลสักคราว เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้นเป็นเถาวัลย์ชั้นสูงสุด เป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทวดาอย่างนี้ [๕๐๗] นับได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี (นับจากกัปนี้ไป) ข้าพระองค์จึงจะได้ปรนนิบัติพระมุนีนั้นนอบน้อมทั้งเช้าเย็น ดุจเหล่าเทวดาได้เข้าไปเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีทั้งเช้าเย็น ฉะนั้น [๕๐๘] การปรนนิบัติ(พระพุทธเจ้า)ไม่เป็นหมัน(เปล่าประโยชน์) และการนอบน้อมก็ไม่เปล่าประโยชน์ ถึงข้าพระองค์จะมาจากที่ไกล ขณะ๔- ก็มิได้ล่วงเลยข้าพระองค์ไป @เชิงอรรถ : @ อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ธรรมที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัย ได้แก่ พระนิพพาน @(ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๓/๓๓๘) @ สันติบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๔/๓๓๘) @ อาสาวดี เป็นชื่อของผิวพรรณที่ได้ยาก ท่านก็กล่าวถึงเถาวัลย์อาสาวดีที่หายากมากในหมู่เทพยดา @เป็นเถาวัลย์ที่เหล่าเทวดาต้องการ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๕/๓๓๙) @ ขณะ ในที่นี้หมายถึงขณะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๘/๓๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๐๙] ข้าพระองค์ค้นหาการถือปฏิสนธิในภพก็ไม่เห็น เพราะข้าพระองค์ไม่มีอุปธิ หลุดพ้นแล้ว(จากกิเลสทั้งปวง) มีจิตสงบระงับเที่ยวไป [๕๑๐] ธรรมดาดอกปทุมพอได้สัมผัสแสงดวงอาทิตย์ ก็แย้มบานทุกเมื่อ ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียรมาก ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นบานแล้ว(คือสำเร็จมรรคผลนิพพาน) เพราะรัศมีแห่งพระพุทธเจ้า [๕๑๑] ในกำเนิดนกยาง ย่อมไม่มีนกยางตัวผู้ในกาลทุกเมื่อ เมื่อเมฆฝนคำรน(เมื่อฟ้าร้อง) นกยางตัวเมียจึงจะตั้งครรภ์ได้ ในกาลทั้งปวง [๕๑๒] นกยางตัวเมียเหล่านั้นจะตั้งครรภ์อยู่นาน ตราบเท่าที่เมฆฝนยังไม่คำราม พวกมันจะพ้นจากภาระ(จะออกไข่) ได้ก็ต่อเมื่อเมฆฝนตกลงมา ฉันใด [๕๑๓] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงคำรนด้วยเมฆฝนคือพระธรรม ก็ได้ตั้งครรภ์คือธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆฝนคือธรรม [๕๑๔] ใช้เวลาตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้าพระองค์ จึงจะได้ตั้งครรภ์คือบุญ ข้าพระองค์ยังไม่พ้นจากภาระ๑- ตราบเท่าที่เมฆฝนคือพระธรรมยังไม่คำรน [๕๑๕] ข้าแต่พระศากยมุนี พระองค์ทรงคำรน ด้วยเมฆฝนคือพระธรรมในกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ในกาลใด ในกาลนั้นข้าพระองค์ก็จะพ้นจากภาระ @เชิงอรรถ : @ ภาระ ในที่นี้หมายถึงภาระคือการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๕/๓๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๑๖] ธรรมแม้นั้น คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งปวง ข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว
ภาณวารที่ ๒ จบ
[๕๑๗] ข้าพระองค์ปรารถนาคำสอนของพระองค์นานจนนับกัปไม่ได้ ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ทั้งได้สันติบท๑- อันยอดเยี่ยมตามลำดับ [๕๑๘] ข้าพระองค์ถึงความสำเร็จในวินัย เป็นเหมือนภิกษุผู้แสวงคุณผู้มีชื่อเสียง ไม่มีภิกษุรูปอื่นจะเสมอเหมือนข้าพระองค์ ข้าพระองค์ทรงจำคำสั่งสอนไว้ได้ [๕๑๙] ในวินัยปิฎกทั้งสิ้นนี้ คือ ในวินัย ในขันธกะ๒- ในปริจเฉท ๓ (คือ ในสังฆาทิเสส ๓ หมวด และปาจิตตีย์ ๓ หมวด)๓- @เชิงอรรถ : @ สันติบท หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๗/๓๔๑) @ วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์, ขันธกะ หมายถึงมหาวรรคและจุลวรรค (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๙/๓๔๑) @ ติกสังฆาทิเสส อาบัติสังฆาทิเสส ๓ หมวด เป็นข้อกำหนด ๓ ประการของพระวินัยธร ผู้จะตัดสินอธิกรณ์ @จะต้องตรวจดูว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ในข้อกำหนดไหน ใน ๓ ประการนั้น เช่น นางภิกษุณี เรียกนาง @ภิกษุณีอื่นที่ถูกภิกษุณีสงฆ์ยกออกจากหมู่โดยชอบธรรม ชอบด้วยวินัย ชอบด้วยสัตถุศาสน์ กลับเข้าหมู่ @เช่นนี้ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส โดยสถานใดสถานหนึ่ง ในข้อกำหนด ๓ ประการ คือ (๑) มีความเข้าใจ @กรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมว่าเป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมเรียกนางภิกษุณี ที่ถูกลงโทษ @กลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๒) มีความสงสัยในกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรม เรียกนาง @ภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๓) มีความเข้าใจกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบ @ธรรมว่า เป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยไม่ชอบธรรม เรียกนางภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติ @สังฆาทิเสส ติกปาจิตตีย์ อาบัติปาจิตตีย์ ๓ หมวด คือภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ โดยสถานใดสถานหนึ่ง @ในข้อกำหนด ๓ ประการ เช่น ภิกษุเก็บอดิเรกจีวรไว้เกิน ๑๐ วันแล้ว (๑) มีความสำคัญว่าเกิน ๑๐ @วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๒) มีความสงสัยว่าเกิน ๑๐ วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๓) มีความสำคัญว่า @ยังไม่เกิน ๑๐ วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๖๘/๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

ในหมวดที่ ๕ ๑- ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยอักขระ(คือสระ) หรือแม้ในพยัญชนะเลย [๕๒๐] ข้าพระองค์ฉลาดในวิธีข่ม ในการกระทำคืน ในฐานะที่ควรและฐานะที่ไม่ควร ในการเรียกภิกษุผู้ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ และในการช่วยให้ภิกษุออกจากอาบัติ ถึงความสำเร็จในการกระทำทางวินัยกรรมทุกอย่าง [๕๒๑] ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยและขันธกะ และขยายอุภโตวิภังค์ เรียก(ภิกษุผู้ถูกลงโทษ)กลับเข้าหมู่โดยกิจ(หน้าที่) [๕๒๒] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติศาสตร์ และฉลาดในประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์ สิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้ไม่มี ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศผู้หนึ่งในศาสนาของพระศาสดา [๕๒๓] ในวันนี้ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี๒- บรรเทาความสงสัยได้ทุกอย่าง ในศาสนาของพระศากยบุตร ตัดความลังเลได้หมดสิ้น [๕๒๔] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บทหน้า บทหลัง อักขระ พยัญชนะ คำเริ่มต้น และคำลงท้าย [๕๒๕] เหมือนอย่างพระราชาผู้มีพลัง ทรงจับไพร่พลของพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ ให้เดือดร้อน ชนะสงครามแล้ว รับสั่งให้สร้างนครไว้ในที่นั้น [๕๒๖] พึงรับสั่งให้สร้างกำแพง รับสั่งให้ขุดคูรอบ ตั้งเสาระเนียด สร้างซุ้มประตู สร้างป้อมต่างๆ ไว้ในนคร เป็นอันมาก @เชิงอรรถ : @ ในหมวดที่ ๕ ในที่นี้ หมายถึงปริวาร (ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน ๕ หมวด คือ อาทิกัมมิกะ @ปาจิตตีย์ มหาวรรค จูฬวรรค ปริวาร) (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๙/๓๔๑) @ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี ในอรรถกถาเป็น รูปทกฺเข แก้ว่า ในคราวมองเห็นรูปก็คือในการวินิจฉัยวินัย @(ขุ.อป.อ. ๑/๕๒๓/๓๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๒๗] พึงรับสั่งให้สร้างถนนสี่แยก ทางแยก ร้านตลาด จัดสรรไว้เป็นอย่างดี สร้างศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่ตัดสินคดีความไว้ในนครนั้น [๕๒๘] เพื่อป้องกันอริราชศัตรู เพื่อจะรู้ช่องทาง(ดีร้าย) เพื่อดูแลรักษากำลังพล พระราชาเจ้านครนั้น จึงทรงแต่งตั้งแม่ทัพไว้ [๕๒๙] เพื่อรักษาสิ่งของ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งคนที่ฉลาด ในการเก็บรักษาสิ่งของ ให้เป็นผู้รักษาสิ่งของ ด้วยตั้งพระทัยว่า สิ่งของของเราอย่าเสียหายไปเลย [๕๓๐] ผู้ใดสมัครสมานกับพระราชา และปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่พระราชา พระราชาย่อมมอบหน้าที่แก่ผู้นั้น๑- เพื่อปฏิบัติตอบแทนต่อมิตร [๕๓๑] พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทรงแต่งตั้งผู้ที่ฉลาดในลางบอกเหตุ ในนิมิตและในลักษณะ ผู้คงแก่เรียน ผู้ทรงมนตร์๒- ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต @เชิงอรรถ : @ บาทคาถาว่า สมคฺโค โหติ โส รญฺโญ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น มมตฺโต โหติ โย รญฺโญ เดิมแปลว่า @เขาเป็นผู้พร้อมเพรียงกับพระราชา ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ใด ย่อมมอบหน้าที่ คือความเป็นใหญ่ @ในการวินิจฉัยแก่ผู้นั้นเพื่อปฏิบัติเพื่อความเป็นมิตร โส เขาสามัคคีกับพระราชาพอฟังได้ แต่ถ้าจะตั้งคน @ที่ตนชอบพอให้เป็นคนตัดสินคดีความ คงไม่ได้ เพราะ โส คงแทนนามนามที่กล่าวชื่อมาแล้ว คือ คนที่ดูแล @รักษาสิ่งของ ถ้าจะว่า โส แทนบทว่า ราชา ก็ฟังไม่ขึ้น ราชาที่ไหนมาสามัคคีกับราชานี้ จึงแปลตามแนว @ฉบับพม่าและอรรถกถา (มมตฺโต โหติ โย รญฺโญติ โย ปณฺฑิโต รญฺโญ มมตฺโต มามโก ปกฺขปาโต @โหติ. วุทฺธึ ยสฺส จ อิจฺฉตีติ อสฺส รญฺโญ วุฑฺฒึ จ วิรุฬฺหึ โย อิจฺฉติ กาเมติ, ตสฺส อิตฺถมฺภูตสฺส ราชา @อธิกรณํ วินิจฺฉยาธิปจฺจํ เทติ มิตฺตสฺส มิตฺตภาวสฺส ปฏิปชฺชิตุนฺติ สมฺพนฺโธ ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๐/๓๔๔) @ ผู้ที่ฉลาดลางบอกเหตุ หมายถึงผู้บอกคัมภีร์ไวยากรณ์แก่ศิษย์จำนวนมาก ผู้ทรงจำมนต์ ได้แก่ ผู้ทรง @จำไตรเพท (พระเวท ๓ เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ (๑) ฤคเวท ประมวลบทความ @สรรเสริญ เทพเจ้า (๒) ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่างๆ (๓) สามเวท @ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดแล้วร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ @ต่อมาเพิ่มอาถรรพเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น ๔ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๑/๓๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๓๒] พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ พสกนิกรจึงขนานพระนามว่ากษัตริย์ เหล่าอำมาตย์จึงถวายการอารักขาพระราชาทุกเมื่อ ดุจนกจักรพากเฝ้ารักษานกผู้ประสบทุกข์ [๕๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นดุจกษัตริย์ ผู้ขจัดข้าศึกศัตรูได้แล้ว ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงขนานพระนามว่าธรรมราชา [๕๓๔] พระองค์ทรงปราบเหล่าเดียรถีย์ ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนามาร ทรงขจัดความมืดมนอนธการแล้ว ได้ทรงสร้างนครคือพระธรรมไว้ [๕๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ในนครคือพระธรรมนั้น พระองค์มีศีลเป็นปราการ มีพระญาณเป็นซุ้มประตู มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด และมีความสังวรเป็นนายประตู [๕๓๖] ข้าแต่พระมุนี พระองค์มีสติปัฏฐานเป็นป้อม มีพระปัญญาเป็นชุมทาง มีอิทธิบาทเป็นถนนสี่แยก ธรรมวิถี พระองค์ก็ทรงสร้างไว้ดีแล้ว [๕๓๗] พระองค์มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์มีองค์ ๙ ๑- แม้ทั้งมวล นี้เป็นธรรมสภา @เชิงอรรถ : @ พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ คือ (๑) สุตตะ พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส (๒) เคยยะ @ข้อความ ที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน คือพระสูตรที่มีคาถารวมอยู่ด้วยทั้งหมด (๓) เวยยากรณะ @ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา (๔) คาถา @ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรีคาถา (๕) อุทาน พระคาถาพุทธอุทาน (๖) อิติวุตตกะ พระสูตร @ที่เรียกว่าอิติวุตตกะ มี ๑๑๒ สูตร (๗) ชาตกะ ชาดก ๕๐๐ เรื่อง (๘) อัพภูตธรรม เรื่องอัศจรรย์ @คือ พระสูตรที่กล่าวถึง ข้ออัศจรรย์ต่างๆ (๙) เวทัลละ พระสูตรแบบถามตอบ เช่นจูฬเวทัลลสูตร @มหาเวทัลลสูตร) (ขุ.อะ-ปะ.อ. ๑/๕๓๗/๓๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๓๘] พระองค์มีสุญญตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันว่าง) อนิมิตตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีนิมิต) อัปปณิหิตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีความตั้งปรารถนา) อาเนญชวิหารธรรม๑- (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่หวั่นไหว) นิโรธวิหารธรรม๒- (ธรรมเป็นเครื่องอยู่คือความดับ) นี้เป็นธรรมกุฎี [๕๓๙] พระเถระผู้เลิศด้วยปัญญา ที่ทรงแต่งตั้งไว้ ฉลาดในปฏิภาณ มีนามว่าสารีบุตร เป็นจอมทัพธรรมของพระองค์ [๕๔๐] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ฉลาดในจุติและปฏิสนธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ มีนามว่าโกลิตะ (โมคคัลลานะ) เป็นปุโรหิตของพระองค์ [๕๔๑] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ดำรงวงศ์เก่าแก่ มีเดชแผ่ไป หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เป็นผู้เลิศด้วยธุดงค์คุณ(มีนามว่ากัสสปะ)เป็นผู้พิพากษาของพระองค์ [๕๔๒] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป๓- ในศาสนา มีนามว่าอานนท์ เป็นผู้รักษาธรรมของพระองค์ [๕๔๓] พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงละพระเถระเหล่านี้ทุกรูป ทรงมุ่งเฉพาะข้าพระองค์ แล้วทรงประทานการวินิจฉัยวินัย ซึ่งบัณฑิตผู้รู้แสดงไว้แล้วแก่ข้าพระองค์ @เชิงอรรถ : @ อาเนญชวิหารธรรม หมายถึงสามัญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) ๔ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง (คือโสดาปัตติผล @สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๘/๓๔๖), ที.ปา. ๑๑/๓๕๔/๒๔๖ @ นิโรธ ในที่นี้หมายถึงพระนิพพานเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๘/๓๔๖) @ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป แปลมาจากศัพท์ สพฺพปาฐิ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๔๒/๓๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๔๔] สาวกของพระพุทธองค์ บางรูปไต่ถามปัญหาในวินัย ในปัญหาที่ถามมานั้น ข้าพระองค์ไม่ต้องคิด(ลังเล) ย่อมอธิบายปัญหานั้นได้เลย [๕๔๕] ข้าแต่พระมหามุนีตลอดพุทธเขต ยกเว้นพระองค์ ในพระวินัยไม่มีใครผู้เช่นกับข้าพระองค์ ผู้ที่ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน [๕๔๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว บันลืออย่างนี้ว่า ผู้เสมอกับอุบาลีในพระวินัย๑- และในขันธกะ(คือในมหาวรรค จูฬวรรคและปริวาร)ไม่มี [๕๔๗] สำหรับท่านผู้เห็นพระวินัยเป็นหลักสำคัญ นวังคสัตถุศาสตร์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทั้งหมดพระศาสดาตรัสไว้ในวินัย๒- [๕๔๘] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพระองค์ ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ทรงแต่งตั้งข้าพระองค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ [๕๔๙] ข้าพระองค์ได้ปรารถนาตำแหน่งนี้นานนับได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ถึงความสำเร็จในวินัย @เชิงอรรถ : @ วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์ วินัยทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณี @ คำว่า วินเย กถิตํ สพฺพํ ฉบับพม่าเป็น วินโยคธํ ตํ สพฺพํ ในอรรถกถาก็มีนัยเช่นนี้ โดยพระอรรถ- @กถาจารย์แก้เป็น สพฺพํ วินโยคธํ ตํ วินเย อนฺโตปวิฏฺฐํ วินยมูลกํ อิจฺเจวํ ปสฺสิโน ปสฺสนฺตสฺส @(ขุ.อป.อ. ๑/๕๔๗/๓๔๗) @คาถานี้ เดิมแปลว่า เรากล่าวสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ ตลอดถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วทั้งหมดไว้ใน @พระวินัยแก่บุคคลผู้เห็นมูลพระวินัย (ฉบับสังคายนา) @ข้อความตามนัยเดิมนั้น ดูกระไรอยู่ เพราะทำให้สงสัยว่าพระอุบาลีจะเป็นผู้จัดนวังคสัตถุศาสน์ไว้ @ในพระวินัยหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๕๐] เมื่อก่อน ข้าพระองค์เป็นช่างกัลบก (ช่างตัดผม) เป็นผู้ทำให้เจ้าศากยะทั้งหลายเกิดความเพลิดเพลิน ได้ละชาติกำเนิดนั้นแล้วมาเป็นบุตร ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๕๕๑] ในกัปที่ ๒ นับจากภัทรกัปนี้ไป ได้มีกษัตริย์พระนามว่าอัญชสะ ทรงเดชานุภาพหาที่สุดมิได้ ทรงยศหาประมาณมิได้ เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์มาก [๕๕๒] ข้าพระองค์ได้เป็นขัตติยกุมารมีนามว่าจันทนะ เป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น เป็นคนมีกิริยาแข็งกระด้าง เพราะความมัวเมาในชาติตระกูล ในยศ และในโภคะ [๕๕๓] ช้างตระกูลมาตังคะ ๑๐๐,๐๐๐ เชือก ตกมัน ๓ แห่งประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แวดล้อมข้าพระองค์อยู่ทุกเมื่อ [๕๕๔] ครั้งนั้น ข้าพระองค์มีกำลังพลของตนห้อมล้อม ต้องการจะประพาสอุทยาน จึงทรงช้างชื่อสิริกะออกจากนครไป [๕๕๕] พระสัมพุทธเจ้า๑- พระนามว่าเทวละ ผู้เพียบพร้อมด้วยจรณะ๒- คุ้มครองทวาร สำรวมด้วยดี เสด็จมาข้างหน้าของข้าพระองค์ @เชิงอรรถ : @ พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๕/๓๔๙) @ จรณะ หมายถึงจรณธรรม ๑๕ มีสีลสังวรเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๕/๓๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๕๖] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไสช้างสิริกะไป จะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ช้างนั้นเหมือนเกิดความโกรธยกเท้าไม่ขึ้น [๕๕๗] ข้าพระองค์เห็นช้างเสียใจ จึงโกรธพระพุทธเจ้า เบียดเบียนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ไปอุทยาน [๕๕๘] เพราะการจะให้ช้างทำร้ายนั้นเป็นเหตุ ข้าพระองค์จึงมิได้ประสบความสำราญ ศีรษะเป็นเหมือนมีไฟลุกโพลงอยู่ ข้าพระองค์ถูกความเร่าร้อนเผาไหม้อยู่ เหมือนปลาติดเบ็ด [๕๕๙] แผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครเป็นที่สุด ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เป็นดุจไฟลุกท่วม ข้าพระองค์ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า [๕๖๐] หม่อมฉันได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระสยัมภูพระองค์ใด ผู้เป็นดังอสรพิษที่ถูกทำให้โกรธ ดังกองไฟที่ลามมา ดังช้างพลายตัวตกมัน๑- [๕๖๑] พระพุทธชินเจ้า ผู้มีตบะแก่กล้า ถูกข้าพระองค์รุกราน พวกเราชาวเมืองทั้งปวงจักพินาศ พวกเราจักขอขมาพระมุนีนั้น @เชิงอรรถ : @ แปลตามอรรถกถา (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖๐/๓๕๐) ท่านเปรียบพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าว่า @เป็นดังอสรพิษร้ายบ้าง ดังกองไฟบ้าง ดังราชสีห์ชาติไกรสรบ้าง ดังช้างตกมันบ้าง คนที่เข้าใกล้อสรพิษ @กองไฟลุกโชติช่วง ราชสีห์ดุร้าย ช้างตกมัน ย่อมได้รับอันตราย ฉันใด ผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า @พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ย่อมประสบบาปกรรมใหญ่หลวง ก็ฉันนั้น @ดังบาลีว่า @อาสีวิโส ยถา โฆโร มิคราชาว เกสรี @มตฺโตว กุญฺชโร ทนฺโต เอวํ พุทฺธา ทุราสทา. @(ขุ.อป. ๓๒/๒๗๐/๔๔๙) @คาถาที่ ๕๖๐ นี้ เดิมแปลอสรพิษร้าย และกองไฟเป็นอุปมาของช้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๖๒] หากพวกเราจักไม่ขอขมาพระองค์(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้มีจิตตั้งมั่น แว่นแคว้นของเราจักพินาศภายในวันที่ ๗ [๕๖๓] พระเจ้าสุเมขลราช พระเจ้าโกสิยราช พระเจ้าสิคควราช พระเจ้าสัตตกราชเหล่านั้นพร้อมเสนา ได้รุกรานท่านฤๅษีทั้งหลายแล้ว ได้ถึงความทุกข์ยาก [๕๖๔] ท่านฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว ประพฤติประเสริฐ ย่อมโกรธในกาลใด ในกาลนั้นย่อมทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ท้องทะเล และภูเขา ให้พินาศไป [๕๖๕] ข้าพระองค์จึงสั่งให้ประชาชนมาประชุมกันในพื้นที่ ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ เพื่อต้องการจะแสดงโทษ จึงเข้าไปหาพระสยัมภูพุทธเจ้า [๕๖๖] ประชาชน(พร้อมทั้งข้าพระองค์)ทั้งหมด มีผ้าเปียก ศีรษะเปียก ประนมมือ พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระสยัมภูพุทธเจ้า แล้วได้กราบเรียนคำนี้ว่า [๕๖๗] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษเถิด ประชาชนอ้อนวอนพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดช่วยบรรเทาความเร่าร้อน และขอพระคุณเจ้าอย่าได้ทำแว่นแคว้นให้พินาศเลย [๕๖๘] มวลมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา ทานพ และรากษส๑- จะพึงเอาค้อนเหล็กทุบศีรษะของข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อ @เชิงอรรถ : @ ทานพ หมายถึงอสูรจำพวกหนึ่ง รากษส หมายถึงยักษ์ร้าย, ผีเสื้อน้ำ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖๘/๓๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๖๙] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า) ไฟย่อมไม่เกิดในน้ำ พืชย่อมไม่งอกบนแผ่นหิน กิมิชาติ๑- ย่อมไม่เกิดในยาพิษ ฉันใด ความโกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้า ฉันนั้น [๕๗๐] แผ่นดินไม่หวั่นไหว ฉันใด พระพุทธเจ้าใครๆ ก็ให้กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น ทะเลประมาณมิได้ ฉันใด พระพุทธเจ้ามีพระคุณประมาณมิได้ ฉันนั้น และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด พระพุทธเจ้ามีพระคุณไม่มีที่สุด ฉันนั้น [๕๗๑] พระพุทธเจ้าทั้งหลายฝึกฝนตนแล้ว มีความเพียรมาก มีการงดโทษให้แก่ผู้อื่นและมีตบะ ท่านผู้มีความอดทนและมีการอดโทษให้ แก่ผู้อื่น จะไม่มีการลุอำนาจอคติ [๕๗๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้บรรเทาความเร่าร้อน เหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าต่อหน้ามหาชน ในครั้งนั้น [๕๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร๒- เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงได้เข้าถึงภาวะที่เลวทราม ล่วงเลยชาตินั้นมาเข้าสู่นคร(คือนิพพาน)ซึ่งไม่มีภัย [๕๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในครั้งนั้น พระสยัมภูพุทธเจ้าเห็นข้าพระองค์ถูกไฟแผดเผาอยู่ @เชิงอรรถ : @ กิมิชาติ หมายถึงสัตว์จำพวกหนอน @ อรรถกถาเป็น ธีราติ ธีร ธิติสมฺปนฺน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๓/๓๕๒) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ (เป็นคำร้อง @เรียกที่พระอุบาลีเรียกพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เล่าประวัติในอดีตของตนมาแล้ว) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

(แต่)ดำรงอยู่ด้วยดี จึงทรงบรรเทาความเร่าร้อนให้ ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระสยัมภูงดโทษให้๑- [๕๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในวันนี้ พระผู้มีพระภาคทรงช่วยข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กอง๒- แผดเผาอยู่ ให้ถึงภาวะสงบเย็น และทรงช่วยดับไฟ ๓ กองให้แล้ว [๕๗๖] ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เงี่ยโสตสดับ จงตั้งใจฟังข้าพเจ้ากล่าว ข้าพเจ้าจะบอกประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย โดยประการที่ข้าพเจ้าได้เห็นบท๓- แล้ว [๕๗๗] ข้าพเจ้าดูหมิ่นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เพราะกรรมนั้น ในปัจจุบันนี้ จึงมาเกิดในชาติตระกูลต่ำ [๕๗๘] ท่านทั้งหลายอย่าได้พลาดขณะ๔- ไปเลย เพราะเหล่าสัตว์ผู้ล่วงเลยขณะไปย่อมเศร้าโศก ขอท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ตนเถิด ขณะท่านทั้งหลายให้สำเร็จแล้ว [๕๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลบางพวก ยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายแรงแก่บุคคลบางพวก และยารักษาแก่บุคคลบางพวก @เชิงอรรถ : @ ฉบับเก่าประธานของประโยคคือ ตฺวํ (คือ สัพพนาม แทน คำว่า ภควา ซึ่งพระอุบาลี กำลังกราบทูลอยู่) @ดูตามความแล้ว หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต และอรรถกถาก็ขึ้น ปจฺเจกพุทฺโธ เป็นประธาน @ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟนรก ไฟในเปรตวิสัยและไฟในสังสารวัฏ @(ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๕/๓๕๓) @ บท ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๖/๓๕๓) @ ขณะในที่นี้ หมายถึงขณะเป็นที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๘/๓๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๘๐] คือพระผู้มีพระภาค ตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ ตรัสบอกยาถ่ายแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในผล ตรัสบอกยารักษาโรคแก่บุคคลผู้ได้ผลแล้ว ตรัสบอกบุญเขตแก่บุคคลผู้แสวงบุญ [๕๘๑] ตรัสบอกยาพิษร้ายแรง(คือบาปอกุศล) แก่บุคคลผู้เป็นข้าศึกต่อศาสนา ยาพิษร้ายแรงย่อมแผดเผานรชนนั้น เหมือนอสรพิษร้าย ฉะนั้น [๕๘๒] ยาพิษร้ายแรงที่บุคคลดื่มแล้วเพียงครั้งเดียว ก็ย่อมทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลทำผิดต่อศาสนาแล้ว ย่อมถูกแผดเผานับเป็นโกฏิกัป [๕๘๓] พระองค์ทรงช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ) ด้วยขันติ ด้วยความไม่เบียดเบียน และด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้ [๕๘๔] พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นเช่นพื้นปฐพี ไม่ทรงติดข้องในลาภ ในความเสื่อมลาภ ในความสรรเสริญ ในความถูกดูหมิ่น เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้ [๕๘๕] พระมุนีทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งปวง คือ ในพระเทวทัต นายขมังธนู โจรองคุลีมาล พระราหุล และช้างธนบาล [๕๘๖] พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ไม่มีความแค้นเคือง ไม่มีความกำหนัด เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในชนทั้งหมด คือในนายขมังธนู และในพระโอรส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน

[๕๘๗] ท่านทั้งหลายได้พบผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระฤๅษี ซึ่งเปื้อนคูถ ถูกทิ้งไว้ที่หนทาง ก็พึงประนมมือเหนือศีรษะแล้วไหว้เถิด [๕๘๘] พระพุทธเจ้าเหล่าใดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนี้ เพราะเหตุนั้น จึงควรนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น [๕๘๙] ข้าพเจ้าทรงจำวินัยที่ดีงาม เช่นกับองค์แทนพระศาสดาไว้ด้วยหทัย ข้าพเจ้านมัสการวินัยอยู่ในกาลทั้งปวง [๕๙๐] วินัยเป็นที่อาศัยของข้าพเจ้า เป็นที่ยืนเดินของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสำเร็จการอยู่ในวินัย วินัยเป็นอารมณ์ของข้าพเจ้า [๕๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ภิกษุชื่ออุบาลีถึงความสำเร็จในวินัย เป็นผู้ฉลาดในวิธีระงับอธิกรณ์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา [๕๙๒] ข้าพเจ้านั้น เที่ยวไปจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง นมัสการอยู่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งเป็นธรรมดี [๕๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๕๙๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน

[๕๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปาลิเถราปทานที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๘-๙๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=32&siri=8              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=801&Z=1074                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=8              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=8&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=8280              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=8&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=8280                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap8/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :