ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๒. สุเมธกถา
ว่าด้วยสุเมธดาบส
[๑] ใน ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป มีนครหนึ่งชื่อว่าอมระ เป็นนครที่น่าชม น่ารื่นรมย์ใจ [๒] เป็นนครที่สมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ ไม่ว่างเว้นจากเสียง ๑๐ ประการ คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงกลอง เสียงสังข์ เสียงรถ(เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงเพลงขับ เสียงฉิ่ง) และเสียงเชื้อเชิญด้วยของกินและเครื่องดื่มว่า เชิญท่านเคี้ยวกิน เชิญท่านดื่ม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๓] เป็นนครที่สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทั้งปวง ประกอบด้วยการงานทุกอย่าง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คับคั่งไปด้วยหมู่ชนต่างๆ เป็นนครที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเทพนคร เป็นที่อยู่ของผู้มีบุญ [๔] เราเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ อยู่ในกรุงอมรวดี สั่งสมทรัพย์ไว้หลายโกฏิ มีทรัพย์สมบัติและธัญญาหารมากมาย [๕] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะ๑- และอิติหาสะ๒- และในธรรมของตน [๖] นั่งอยู่ในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า การเกิดในภพใหม่ และการแตกไปแห่งสรีระเป็นทุกข์ ความหลงตายเป็นทุกข์ ชีวิตถูกชราย่ำยี [๗] ก็ครั้งนั้น เรามีความเกิด ความแก่ ความป่วยไข้เป็นธรรมดา เราจักแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม [๘] เอาเถิด เราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ นี้ไปเสีย [๙] มรรคนั้นไม่อาจจะไม่เป็นเหตุ มรรคนั้นที่มีอยู่ก็จักมี เราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ @เชิงอรรถ : @ ทำนายลักษณะ หมายถึงทำนายลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะมหาบุรุษ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕/๑๐๘) @ อิติหาสะ หมายถึงคัมภีร์พิเศษ ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ของพราหมณ์ว่าด้วยคำพูดว่าเป็นเช่นนี้ @(ขุ.พุทฺธ.อ. ๕/๑๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๐] เมื่อความทุกข์มี ชื่อว่าความสุขก็ต้องมีฉันใด เมื่อภพมีอยู่ วิภพ๑- ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น [๑๑] เมื่อความร้อนมี ความเย็นอย่างอื่นก็ต้องมีฉันใด เมื่อไฟ ๓ ๒- อย่างมีอยู่ นิพพาน(ความดับ)ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น [๑๒] เมื่อความชั่วมี แม้ความดีก็ต้องมี ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น [๑๓] บุรุษผู้ตกไปในหลุมคูถเห็นสระน้ำเต็ม ไม่เข้าไปยังสระน้ำนั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของสระน้ำ ฉันใด [๑๔] เมื่อสระน้ำอมฤต๓- มีอยู่ บุคคลไม่แสวงหาสระน้ำนั้น อันเป็นที่ชำระมลทินคือกิเลส นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของสระน้ำอมฤต ฉันนั้น [๑๕] เมื่อทางไปมีอยู่ บุรุษนั้นถูกข้าศึกปิดล้อมไม่ยอมหนีไป นั้นไม่ใช่ความผิดของหนทาง ฉันใด [๑๖] เมื่อทางเกษมมีอยู่ บุคคลถูกกิเลสปิดล้อม ไม่แสวงหาทางนั้น นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของทางอันเกษม ฉันนั้น [๑๗] คนป่วย เมื่อหมอมีอยู่ ก็ไม่ให้หมอเยียวยา ความป่วยไข้นั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของหมอ ฉันใด [๑๘] คนมีทุกข์ถูกความป่วยไข้คือกิเลสเบียดเบียน ไม่แสวงหาอาจารย์ นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ผู้แนะนำ @เชิงอรรถ : @ วิภพ หมายถึงธรรมที่ไม่ให้เกิด (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๐/๑๑๐) @ ไฟ ๓ หมายถึงไฟคือราคะ โทสะ และโมหะ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๘) @ สระน้ำอมฤต ในที่นี้หมายถึงนิพพาน ( ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๔/๑๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

เอาเถิดเราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ นี้ไปเสีย ฉันนั้น [๑๙] คนปลดเปลื้องซากศพที่น่ารังเกียจที่ผูกไว้ที่คอแล้ว ไปอยู่เป็นสุขอย่างเสรีตามลำพังตน ฉันใด [๒๐] เราไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่าเป็นที่รวมซากศพต่างๆ นี้ไปเสีย ฉันนั้น [๒๑] คนชายหญิงถ่ายอุจจาระลงในส้วม แล้วละทิ้งส้วมไปไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ฉันใด [๒๒] เราจักละทิ้งร่างกายที่เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ นี้ไปเสีย ดุจคนถ่ายอุจจาระ(ลงในส้วม) แล้วละทิ้งส้วมไป ฉันนั้น [๒๓] เจ้าของเรือทิ้งเรือที่คร่ำคร่า ชำรุด น้ำไหลเข้าได้ไป อย่างไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ฉันใด [๒๔] เราจักละทิ้งร่างกายนี้ที่มีทวาร ๙ มีของไม่สะอาดไหลออกอยู่เป็นนิตย์ไปเสีย ดุจเจ้าของเรือละทิ้งเรือที่คร่ำคร่าไป ฉันนั้น [๒๕] บุรุษนำสิ่งของมีค่าไปกับพวกโจร เห็นภัยคือการถูกปล้นสิ่งของจึงละทิ้ง(โจร)ไปเสีย ฉันใด [๒๖] กายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เราจักละกายนี้ไปเพราะกลัวแต่การปล้นกุศลธรรม ฉันนั้น [๒๗] ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้ว ได้ให้ทรัพย์หลายร้อยโกฏิ แก่คนมีที่พึ่งและไม่มีที่พึ่งแล้วเข้าไปยังภูเขาหิมพานต์ [๒๘] ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อธรรมิกะ เราสร้างอาศรมอย่างดี สร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๒๙] ในที่นั้น เราสร้างที่จงกรมซึ่งเว้นโทษ ๕ ประการ๑- เป็นที่นำมาซึ่งอภิญญาพละประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ๒- [๓๐] ละทิ้งผ้าสาฎกซึ่งประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ๓- เสีย แล้วนุ่งผ้าคากรอง(ผ้าเปลือกไม้) ซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ [๓๑] เราละทิ้งบรรณศาลาที่ประกอบไปด้วยโทษ ๘ ประการ๔- เสีย เข้าไปอาศัยโคนต้นไม้ซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ๕- [๓๒] เราละทิ้งข้าวเปลือกที่หว่านไว้ ปลูกไว้เสียโดยไม่เหลือ บริโภคผลไม้ที่หล่นเองซึ่งประกอบด้วยคุณหลายอย่าง [๓๓] ในที่นั้น เราบำเพ็ญความเพียรอยู่ในที่นั่งที่ยืนและที่จงกรม ภายในเวลา ๗ วัน ก็ได้บรรลุอภิญญาพละ [๓๔] เมื่อเราบรรลุถึงความสำเร็จ มีความชำนาญในศาสนาอย่างนี้แล้ว พระชินเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๓๕] ในขณะที่พระชินเจ้าทรงปฏิสนธิ ประสูติ ตรัสรู้ และแสดงธรรม เราเป็นผู้เปี่ยมด้วยความยินดีในฌาน จึงไม่ได้เห็นนิมิต ๔ ประการ @เชิงอรรถ : @ โทษ ๕ ประการ คือ (๑) ที่แข็งกระด้างขรุขระ (๒) มีต้นไม้อยู่ภายใน (๓) มีกอไม้ปกคลุม (๔) แคบเกินไป @(๕) กว้างเกินไป (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๙/๑๑๗) @ ประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ หมายถึงประกอบด้วยสุขของสมณะ ๘ ประการ (๑) มีจิตเป็นสมาธิ @(๒) บริสุทธิ์ (๓) ผุดผ่อง (๔) ไม่มีกิเลสยียวน (๕) ปราศจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง (๖) อ่อนโยน @(๗) ควรแก่การงาน (๘) ตั้งขึ้นไม่หวั่นไหว (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๙/๑๑๗) @ ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๐/๑๑๘ @ ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๐/๑๑๘ @ ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๑/๑๑๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๓๖] ในแคว้นปัจจันตประเทศ ชนทั้งหลาย ทูลนิมนต์พระตถาคตแล้ว มีใจยินดี ช่วยกันแผ้วถางทางสำหรับพระตถาคตเสด็จดำเนินมา [๓๗] ครั้งนั้น เราออกจากอาศรมของตนแล้ว สลัดผ้าคากรอง เหาะไปในท้องฟ้า [๓๘] เห็นหมู่ชนผู้มีจิตโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ จึงลงจากท้องฟ้ามาถามมนุษย์ทั้งหลายในขณะนั้นว่า [๓๙] มหาชนผู้มีจิตโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ ช่วยกันแผ้วถางทางสำหรับเดินเพื่อใคร [๔๐] ชนเหล่านั้นถูกเราถามแล้วบอกว่า ‘พระพุทธชินเจ้าผู้ยอดเยี่ยม พระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ชนทั้งหลายช่วยกันแผ้วถางทางสำหรับเสด็จดำเนินเพื่อพระองค์’ [๔๑] เดี๋ยวนั้น ปีติเกิดแก่เราเพราะได้ฟังคำว่า ‘พุทโธ‘ เราจึงกล่าวประกาศความโสมนัสว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘ [๔๒] เราทั้งยินดี ทั้งตื้นตันใจ ยืนคิดอยู่ ณ ที่นั้นว่า ‘เราจักปลูกพืชคือบุญลงในที่นี้ ขณะอย่าได้ล่วงเลยไป’ [๔๓] แล้วกล่าวว่า ‘ถ้าท่านทั้งหลายช่วยกันแผ้วถางทางเพื่อพระพุทธเจ้า ขอจงให้โอกาสหนึ่งแก่ข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็จะช่วยแผ้วถางทางสำหรับเสด็จดำเนิน’ [๔๔] ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้ให้โอกาสแก่เราเพื่อการแผ้วถางทาง เราแผ้วถางทางไปพลางคิดไปพลางว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘ [๔๕] เมื่อโอกาสของเรายังไม่ทันเสร็จ พระชินมหามุนีพระนามว่าทีปังกร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

กับพระขีณาสพ ๔๐๐,๐๐๐ รูป ผู้ได้อภิญญา ๖ ผู้คงที่ ปราศจากมลทินก็เสด็จมาถึงทาง [๔๖] การต้อนรับย่อมเป็นไป คนเป็นอันมากประโคมกลองเภรี เทวดาและมนุษย์ต่างก็มีความชื่นชม เปล่งเสียงสาธุการ [๔๗] เทวดาก็เห็นมนุษย์ มนุษย์ก็เห็นเทวดา ทั้ง ๒ พวกนั้น พากันประนมมือเดินตามพระตถาคต [๔๘] เทวดาทั้งหลายนำดนตรีทิพย์มาประโคม มนุษย์ทั้งหลายนำดนตรีมนุษย์มาประโคม ทั้ง ๒ พวกนั้นพากันประโคม [๔๙] เทพผู้อยู่ในนภากาศ ต่างก็โปรยปรายดอกมณฑารพ ดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะอันเป็นทิพย์ลงมายังทิศน้อยทิศใหญ่ [๕๐] และโปรยปรายกระแจะจันทน์ และของหอมอย่างดี ล้วนแต่เป็นของทิพย์ลงมายังทิศน้อยทิศใหญ่ [๕๑] มนุษย์ทั้งหลายผู้อยู่บนพื้นดิน ต่างก็โปรยปรายดอกจำปา ดอกสน กระทุ่ม ดอกกากะทิง ดอกบุนนาค ดอกการะเกดลงมายังทิศน้อยทิศใหญ่ [๕๒] เราสยายผมแล้วลาดผ้าคากรอง และหนังสัตว์ลงบนเปือกตม แล้วนอนคว่ำหน้าลงที่นั้น [๕๓] ด้วยคิดว่า ‘พระพุทธเจ้าพร้อมทั้ง(สาวก)ผู้เป็นศิษย์ จงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๕๔] เมื่อเรานอนอยู่ที่พื้นดิน มีความคิดอย่างนี้ว่า เราเมื่อต้องการอยู่ ก็พึงเผากิเลสเราได้ ในวันนี้ [๕๕] (แต่)จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา ที่จะรู้แจ้งพระธรรมในศาสนานี้ โดยเพศที่คนอื่นไม่รู้จัก เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พ้นแล้ว พึงปลดเปลื้องมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา [๕๖] จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา ที่เป็นผู้ชายเห็นกำลังความสามารถ จะข้ามพ้นแต่เพียงผู้เดียว เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ช่วยมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้นด้วย [๕๗] ด้วยอธิการ(คือกุศลอันยิ่งใหญ่) นี้ ที่เราได้ทำแล้วในพระพุทธเจ้า ทรงเป็นสูงสุดแห่งบุรุษ เราจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จะช่วยหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้น [๕๘] เราจักตัดกระแสสังสารวัฏ๑- ทำลายภพทั้ง ๓ ๒- แล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา๓- (เรือคือธรรม) ช่วยมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น [๕๙] อภินิหารย่อมสำเร็จได้เพราะธรรม ๘ ประการ ประชุมพร้อมกัน คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความสมบูรณ์ด้วยบุรุษเพศ ๑ @เชิงอรรถ : @ กระแสสังสารวัฏ ในที่นี้หมายถึง กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส ๙ หรือกระแสตัณหา @(ขุ.พุทฺธ.อ. ๕๘/๑๓๙) @ ภพทั้ง ๓ ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕๘/๑๓๙) @ ธรรมนาวา ได้แก่ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕๘/๑๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

เหตุที่จะทำให้สำเร็จพระอรหันต์ได้ในชาตินั้น ๑ การได้เห็นพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑ ความถึงพร้อมแห่งคุณ(คือสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕) ๑ อธิการคือการทำให้ยิ่ง ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑ [๖๐] พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่เหนือศีรษะเรา ตรัสพระดำรัสนี้ว่า [๖๑] ‘เธอทั้งหลายจงดูชฎิลดาบสนี้ ผู้มีตบะแก่กล้า ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก [๖๒] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ ทรงเริ่มตั้งความเพียรบำเพ็ญทุกรกิริยา [๖๓] พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา [๖๔] พระชินเจ้าพระองค์นั้น จักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว [๖๕] จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ [๖๖] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม [๖๗] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ [๖๘] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ [๖๙] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี’ [๗๐] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ [๗๑] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า [๗๒] ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล [๗๓] มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๗๔] เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล [๗๕] พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา ทรงประกาศกรรมของเราแล้ว ทรงยกพระบาทเบื้องขวาขึ้น [๗๖] สาวกของพระชินเจ้าที่อยู่ในที่นั้น ได้ทำประทักษิณเราทุกๆ องค์ เทวดา มนุษย์ อสูร ยักษ์ อภิวาทเราแล้ว พากันหลีกไป [๗๗] ครั้งนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์ล่วงคลองจักษุเราไป เราลุกขึ้นจากการนอนแล้ว นั่งขัดสมาธิอยู่ [๗๘] เราสำราญใจด้วยความสุข บันเทิงใจด้วยความปราโมทย์ และดื่มด่ำด้วยปีติ นั่งขัดสมาธิอยู่ในกาลนั้น [๗๙] ครั้งนั้น เรานั่งขัดสมาธิแล้วคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีความชำนาญในฌาน ถึงความสำเร็จอภิญญา [๘๐] ในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล ไม่มีฤาษีผู้เสมอกับเรา ในธรรมคือฤทธิ์ ก็ไม่มีใครเสมอกับเรา เราได้สุขเช่นนี้’ [๘๑] ขณะที่เรานั่งขัดสมาธิอยู่ เทวดาผู้สถิตอยู่ในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล พากันเปล่งเสียงอย่างกึกก้องว่า ‘ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๒] นิมิตเหล่าใดที่เคยปรากฏ ในขณะที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

นั่งขัดสมาธิอย่างประเสริฐ นิมิตเหล่านั้นก็ปรากฏในวันนี้ [๘๓] ความหนาวก็บำราศไป และความร้อนก็สงบ นิมิตเหล่านั้นปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๔] โลกธาตุมีหมื่นจักรวาล ปราศจากเสียง หมดความวุ่นวาย นิมิตเหล่านั้นปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๕] ลมพายุไม่พัด แม่น้ำทั้งหลายก็ไม่ไหล นิมิตเหล่านั้นปรากฏในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๖] ดอกไม้ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้บก และพันธุ์ไม้น้ำทุกชนิดต่างก็ผลิดอกในขณะนั้น แม้ในวันนี้ดอกไม้เหล่านั้นก็บานหมดทุกดอก ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๗] ไม้เถาหรือไม้ต้นต่างก็เผล็ดผลแล้วในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ไม้ผลเหล่านั้นก็เผล็ดผลแล้วทุกต้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๘] รัตนะทั้งหลายที่อยู่ในอากาศ และที่อยู่บนพื้นดินสว่างไสวแล้วในขณะนั้น แม้ในวันนี้ รัตนะเหล่านั้นก็สว่างไสว ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๘๙] ดนตรีทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และเป็นของทิพย์ ต่างก็บรรเลงขึ้นแล้วในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ดนตรีทั้ง ๒ อย่างนั้นก็บรรเลง ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๙๐] ทิพยบุปผชาติอันวิจิตร ต่างก็ตกลงจากท้องฟ้าในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ทิพยบุปผชาติเหล่านั้นก็ปรากฏ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๑] มหาสมุทรย่อมกระฉ่อน โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลก็ไหว แม้ในวันนี้ ทั้ง ๒ นั้น(มหาสมุทรและโลกธาตุ)ก็บันลือลั่น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๒] ไฟนรกนับหมื่นดวงก็ดับลงในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ไฟนรกนั้นก็ดับแล้ว ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๓] ดวงอาทิตย์ปราศจากมลทิน ดาวทุกดวงต่างก็สุกสกาว แม้ในวันนี้ ดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างก็ผ่องแผ้วสุกใส ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๔] ทั้งที่ฝนไม่ตกเลย (แต่)น้ำในแม่น้ำ กลับเอ่อขึ้นจากแผ่นดินในขณะนั้น แม้ในวันนี้ น้ำในแม่น้ำนั้นก็เอ่อขึ้นจากแผ่นดิน ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๕] หมู่ดาวนพเคราะห์และหมู่ดาวนักษัตร เปล่งประกายสว่างทั่วท้องฟ้า ดวงจันทร์ประกอบด้วยวิสาขฤกษ์แจ่มจรัส ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๖] สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่อยู่ในรู และจำพวกที่อาศัยอยู่ตามซอก ต่างก็พากันออกจากที่อยู่ของตน แม้ในวันนี้ สัตว์เหล่านั้นละทิ้งที่อยู่อาศัย ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๙๗] ความไม่พอใจมิได้มีแก่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายต่างพากันยินดีอยู่ทั่วกันในขณะนั้น แม้ในวันนี้ สัตว์ทั้งหลายก็ยินดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๘] โรคทั้งหลายต่างก็สงบระงับลง และความหิวโหยก็หายไปในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ภาวะทั้ง ๒ อย่างนั้นก็ปรากฏเหมือนกัน ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๙๙] ราคะก็เบาบางลงไป โทสะ และโมหะ ต่างก็ถดถอยไปในขณะนั้น แม้ในวันนี้ กิเลสเหล่านั้นก็ปราศจากไปจนหมดสิ้น ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๐๐] ภัยมิได้มีในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้น เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายจึงรู้ได้ว่า ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๐๑] ขณะนั้น ธุลีมิได้ฟุ้งขึ้นไปในอากาศ แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้น เพราะเครื่องหมายนั้น เราทั้งหลายจึงรู้ได้ว่า ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๐๒] กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาก็ปราศไปหมดสิ้น กลิ่นทิพย์ก็หอมฟุ้งตลบไป(ในขณะนั้น) แม้ในวันนี้ กลิ่นหอมก็ฟุ้งตลบไป ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๐๓] เทวดาทั้งปวงก็ได้พากันปรากฏกาย(ในขณะนั้น) เว้นแต่อรูปพรหม แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้นทั้งหมด ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๐๔] นรกทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ก็ได้ปรากฏทั้งหมดเท่านั้น ในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏทั้งหมด ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๐๕] กำแพง ประตู และภูเขา ก็มิได้เป็นสิ่งที่ปิดกั้นได้ในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ทั้งหมดก็เปิดโล่ง ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๐๖] การจุติและการอุบัติ๑- ก็มิได้มีในขณะนั้น แม้ในวันนี้ การจุติและการอุบัติเหล่านั้นก็ปรากฏ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน นิมิตเหล่านี้ย่อมปรากฏ เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลาย [๑๐๗] ท่านจงบำเพ็ญความเพียรให้มั่นคง อย่าถอยกลับ จงก้าวไปข้างหน้าเถิด แม้เราทั้งหลายก็รู้ความเพียรนั้นอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน’ [๑๐๘] เราได้สดับพระพุทธดำรัสและคำ ของเทวดาในหมื่นจักรวาลทั้ง ๒ แล้ว ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ ได้คิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่า [๑๐๙] ‘พระพุทธชินเจ้าทั้งหลาย มีพระดำรัสไม่เป็นสอง มีพระดำรัสไม่เป็นโมฆะ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน @เชิงอรรถ : @ การจุติ หมายถึงการตาย การอุบัติ หมายถึงเกิด (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๐๖/๑๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๑๐] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนก้อนดินที่โยนขึ้นไปบนท้องฟ้า ย่อมตกลงมาที่พื้นดินเป็นแน่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๑๑] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนสัตว์ทั้งปวง ต้องมีความตายเที่ยงแท้แน่นอน พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๑๒] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนสิ้นราตรีแล้ว อาทิตย์ต้องอุทัยแน่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๑๓] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนราชสีห์ลุกออกจากที่นอน ต้องมีการบันลือสีหนาทแน่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน [๑๑๔] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนสตรีมีครรภ์แก่ จะต้องมีการคลอดบุตรในครรภ์เป็นแน่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๑๕] เอาเถิด เราจักค้นหาพุทธการกธรรม๑- จากสิบทิศ คือข้างนี้ๆ เบื้องบน เบื้องล่าง ตลอดทั่วธรรมธาตุ [๑๑๖] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นทานบารมีเป็นข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นทางใหญ่ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๑๗] ‘ท่านจงยึดทานบารมีข้อที่ ๑ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ท่านก็จงบำเพ็ญทานบารมีเถิด [๑๑๘] หม้อที่เต็มด้วยน้ำซึ่งผู้ใดผู้หนึ่งจับคว่ำลง น้ำย่อมไหลออกหมด ไม่ขังอยู่ในหม้อนั้น ฉันใด [๑๑๙] ท่านเห็นผู้ขอทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงแล้ว จงให้ทานอย่าให้เหลือ ดุจหม้อน้ำที่เขาคว่ำลง ฉันนั้น [๑๒๐] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๒๑] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นศีลบารมีเป็นข้อที่ ๒ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๒๒] ‘ท่านจงยึดศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ท่านก็จงบำเพ็ญศีลบารมีเถิด [๑๒๓] จามรีย่อมรักษาขนหาง(ของตน)ที่ติดข้องอยู่ในที่ไรๆ ก็ยอมตายในที่นั้น ไม่ยอมให้ขนหางเสียไป ฉันใด @เชิงอรรถ : @ พุทธการกธรรม ได้แก่ ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามี ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) เนกขัมมะ @(๔) ปัญญา (๕) วิริยะ (๖) ขันติ (๗) สัจจะ (๘) อธิษฐาน (๙) เมตตา (๑๐) อุเบกขา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๑๕/๑๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๒๔] ท่านจงบำเพ็ญศีลในภูมิทั้ง ๔ ๑- รักษาศีลให้บริบูรณ์ในกาลทุกเมื่อ ดุจจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้น’ [๑๒๕] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๒๖] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นเนกขัมมบารมีเป็นข้อที่ ๓ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๒๗] ‘ท่านจงยึดเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ท่านจงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเถิด [๑๒๘] คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ ได้รับทุกข์มานาน ย่อมไม่เกิดความยินดีในเรือนจำนั้น มีแต่จะหาช่องทางที่จะพ้นออกไป ฉันใด [๑๒๙] ท่านจงเห็นภพทั้งปวงดุจเรือนจำ จงมุ่งหน้าต่อเนกขัมมะเพื่อหลุดพ้นไปจากภพ ฉันนั้นเถิด’ [๑๓๐] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๓๑] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นปัญญาบารมีเป็นข้อที่ ๔ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า @เชิงอรรถ : @ ศีลในภูมิทั้ง ๔ ในที่นี้ ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจเวกขณศีล @(ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๒๔/๑๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๓๒] ‘ท่านจงยึดปัญญาบารมีข้อที่ ๔ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ท่านก็จงบำเพ็ญปัญญาบารมีเถิด [๑๓๓] ภิกษุเมื่อเที่ยวบิณฑบาต มิได้เว้นว่าจะเป็นตระกูลชั้นต่ำ ชั้นกลาง หรือชั้นสูง ย่อมได้อาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ฉันใด [๑๓๔] ท่านเมื่อสอบถามคนมีความรู้ตลอดกาลทั้งปวง บำเพ็ญปัญญาบารมีไปเถิด แล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ฉันนั้น’ [๑๓๕] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๓๖] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นวิริยบารมีเป็นข้อที่ ๕ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๓๗] ‘ท่านจงยึดวิริยบารมีข้อที่ ๕ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ท่านก็จงบำเพ็ญวิริยบารมีเถิด [๑๓๘] ราชสีห์พญาเนื้อมีความเพียรไม่ย่อหย่อน ทั้งในขณะหมอบ ยืน และเดิน ประคองใจไว้ทุกเมื่อ ฉันใด [๑๓๙] ท่านจงประคองความเพียรให้มั่นคงทุกภพทุกชาติ บำเพ็ญวิริยบารมีไปเกิด แล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ฉันนั้น’ [๑๔๐] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๔๑] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นขันติบารมีเป็นข้อที่ ๖ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๔๒] ‘ท่านจงยึดขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ท่านมีใจแน่วแน่(ไม่เป็นสอง)ในขันติบารมีนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ [๑๔๓] ธรรมดาแผ่นดินย่อมทนทานต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงทุกอย่าง ทั้งที่สะอาดและไม่สะอาด ไม่ทำความยินดีและความขัดเคือง แม้ฉันใด [๑๔๔] ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อดทนต่อการยกย่อง และการดูหมิ่นของคนทั้งปวง บำเพ็ญขันติบารมีแล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณได้’ [๑๔๕] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๔๖] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นสัจจบารมีเป็นข้อที่ ๗ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๔๗] ‘ท่านจงยึดสัจจบารมีข้อที่ ๗ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ท่านมีคำพูดที่แน่นอน(ไม่เป็นสอง)ในสัจจบารมีนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ [๑๔๘] ธรรมดาว่าดาวประกายพรึก เป็นดาวนพเคราะห์ที่เที่ยงตรงในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ย่อมไม่เคลื่อนไปจากวิถีโคจร ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือฤดูฝน แม้ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๔๙] ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงอย่าถอยกลับไปจากทาง(ที่ถูกต้องมั่นคง) ในสัจจะทั้งหลาย บำเพ็ญสัจจบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้’ [๑๕๐] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๕๑] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นอธิษฐานบารมีเป็นข้อที่ ๘ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๕๒] ‘ท่านจงยึดอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้นแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ [๑๕๓] ภูผาไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นไม่สะเทือนเพราะลมแรง คงตั้งอยู่ในที่เดิมนั่นเอง แม้ฉันใด [๑๕๔] ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีทุกเมื่อ บำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้’ [๑๕๕] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๕๖] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นเมตตาบารมีเป็นข้อที่ ๙ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๕๗] ‘ท่านจงยึดเมตตาบารมีข้อที่ ๙ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ ท่านก็จงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอในเมตตาบารมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๕๘] ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็น ชำระล้างมลทินคือธุลีเสมอกัน ทั้งในคนดีและคนชั่ว แม้ฉันใด [๑๕๙] ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้เสมอกัน ทั้งในคนที่เกื้อกูลกันและในคนที่ไม่ได้เกื้อกูลกัน บำเพ็ญเมตตาบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ [๑๖๐] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป [๑๖๑] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นอุเบกขาบารมีเป็นข้อที่ ๑๐ ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า [๑๖๒] ‘ท่านจงยึดอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน ท่านเป็นผู้มีอุเบกขาเที่ยงตรง มั่นคง จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ [๑๖๓] ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉยในสิ่งที่เขาทิ้งลงทั้งสะอาด และไม่สะอาด ทั้ง ๒ อย่าง เว้นความโกรธและความยินดี แม้ฉันใด [๑๖๔] ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงมีใจเที่ยงตรงในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ บำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ [๑๖๕] ธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ มีอยู่ในโลกเพียงเท่านี้ นอกจากนี้ยิ่งกว่านั้นไม่มี ท่านจงตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั้นเถิด’ [๑๖๖] เมื่อเราพิจารณาเห็นธรรมเหล่านี้ พร้อมทั้งกิจและลักษณะอันเป็นภาวะของตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

พื้นพสุธาโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล ก็ไหวด้วยเดชแห่งธรรม [๑๖๗] ปฐพีไหวสะเทือนเลื่อนลั่นเหมือนยนต์หีบอ้อย เมทนีดลหวั่นไหวเหมือนล้อที่หีบน้ำมัน [๑๖๘] บริษัทประมาณเท่าใด มีอยู่ในบริเวณรอบๆ พระพุทธเจ้า บริษัทประมาณเท่านั้น สั่นเทานอนสลบอยู่บนภาคพื้นที่บริเวณนั้น [๑๖๙] หม้อน้ำหลายพันหม้อ หม้อข้าวหลายร้อยหม้อ หม้อใส่กระแจะและหม้อที่ใส่เปรียงในที่นั้น ต่างก็กระทบกันและกัน [๑๗๐] มหาชนหวาดเสียว สะดุ้งกลัว ตื่นตระหนก มีใจหวาดหวั่น ประชุมกัน พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร [๑๗๑] ทูลถามว่า ‘อะไรจักมีแก่ชาวโลก เป็นเหตุดีหรือเหตุร้าย ชาวโลกทั้งปวงถูกเบียดเบียน ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์ได้โปรดบรรเทาภัยที่เบียดเบียนนั้นเถิด’ [๑๗๒] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นพระมหามุนี ทรงแจ้งให้มหาชนได้เข้าใจว่า ‘ในการที่พสุธาไหวครั้งนี้ ท่านทั้งหลายจงเบาใจเถิด อย่าตกใจกลัวเลย [๑๗๓] วันนี้เราพยากรณ์ผู้ใดว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก ผู้นั้นพิจารณาเห็นธรรมที่พระชินเจ้าทรงอบรมสั่งสมมาก่อน [๑๗๔] เมื่อผู้นั้นพิจารณาธรรมซึ่งเป็นพุทธภูมิโดยไม่มีเหลือ เพราะเหตุนั้น ปฐพีโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงไหวแล้ว’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

[๑๗๕] ขณะนั้น มหาชนได้ฟังพระดำรัสแล้ว ก็เกิดความสบายใจขึ้น ทุกคนพากันมาหาเราแล้วอภิวาทอีก [๑๗๖] ครั้งนั้น เรายึดพระพุทธคุณ ทำใจให้มั่นคง นมัสการพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรแล้วลุกจากอาสนะ [๑๗๗] ชน ๒ ฝ่าย คือ เทพถือดอกไม้ทิพย์ หมู่มนุษย์ถือดอกไม้ที่เป็นของมนุษย์ ต่างโปรยปรายดอกไม้ทั้งหลายเพื่อเราผู้ลุกจากอาสนะ [๑๗๘] อนึ่ง เทพและมนุษย์ทั้ง ๒ ฝ่ายเหล่านั้น ต่างก็ประกาศความสวัสดีว่า ‘ท่านปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่หลวง ขอท่านได้ตำแหน่งนั้นตามความปรารถนาเถิด [๑๗๙] เสนียดจัญไรทั้งปวงจงอย่ามี ความโศกและโรคจงอย่ามี อันตรายจงอย่ามีแก่ท่าน ขอให้ท่านได้บรรลุพระโพธิญาณ๑- อันประเสริฐเร็วพลันเถิด [๑๘๐] เมื่อถึงฤดู (ที่ต้นไม้ผลิดอก) หมู่ไม้จำพวกที่มีดอก ก็ผลิดอก ฉันใด ท่านผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่ ขอท่านจงผลิด้วยพระพุทธญาณ๒- ฉันนั้นเหมือนกันเถิด [๑๘๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการมาแล้วฉันใด @เชิงอรรถ : @ โพธิญาณ ในที่นี้ ได้แก่ อรหัตตมรรคญาณ หรือสัพพัญญุตญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๗๙/๑๗๓) @ พุทธญาณ ได้แก่ พุทธญาณ ๑๘ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๘๐/๑๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา

ท่านผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่ ขอท่านจงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ฉันนั้นเหมือนกันเถิด [๑๘๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็ได้ตรัสรู้ที่โพธิมัณฑ์ ฉันใด ท่านผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่ ขอท่านจงตรัสรู้ที่ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระชินเจ้า ฉันนั้นเหมือนกันเถิด [๑๘๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็ทรงประกาศพระธรรมจักรแล้ว ฉันใด ท่านผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่ ขอท่านจงประกาศพระธรรมจักร ฉันนั้นเหมือนกันเถิด [๑๘๔] ดวงจันทร์ในวันเพ็ญเต็มดวงส่องสว่าง ฉันใด ขอท่านผู้มีใจปรารถนาที่เต็มเปี่ยมแล้ว จงรุ่งโรจน์(สว่างไสว)ในหมื่นจักรวาล ฉันนั้นเหมือนกันเถิด [๑๘๕] ดวงอาทิตย์พ้นจากราหูแล้ว ย่อมไพโรจน์แจ่มจ้าด้วยแสงสว่าง ฉันใด ขอท่านจงพ้นจากโลกธรรมแล้ว แจ่มจ้าด้วยสิริ(แห่งพระพุทธเจ้า) ฉันนั้นเหมือนกันเถิด [๑๘๖] แม่น้ำทุกสายไหลไปสู่ทะเลหลวง ฉันใด ขอชาวโลกพร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย จงพากันหลั่งไหลไปในสำนักของท่าน ฉันนั้นเหมือนกันเถิด’ [๑๘๗] ครั้งนั้น สุเมธดาบสนั้น อันทวยเทพและหมู่มนุษย์เหล่านั้น ชมเชย สรรเสริญแล้ว สมาทานธรรม ๑๐ ประการ(บารมี ๑๐) เมื่อจะบำเพ็ญธรรมเหล่านั้นให้บริบูรณ์ จึงเข้าไปยังป่าใหญ่
สุเมธกถา จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. ทีปังกรพุทธวงศ์

๓. พุทธวงศ์
๑. ทีปังกรพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระทีปังกรพุทธเจ้า
[๑] ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นทูลนิมนต์พุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ให้เสวยและฉันแล้ว ได้ถึงพระศาสดาพระนามว่าทีปังกรพระองค์นั้นเป็นสรณะ [๒] พระตถาคตให้คนบางคนตั้งอยู่ในสรณคมน์ ให้คนบางคนตั้งอยู่ในศีล ๕ ให้คนบางคนตั้งอยู่ในศีล ๑๐ [๓] ทรงประทานสามัญผล๑- ๔ อันสูงสุดให้แก่คนบางคน ทรงประทานธรรมที่ไม่มีธรรมอย่างอื่นเสมอเหมือน คือปฏิสัมภิทาให้แก่คนบางคน [๔] พระตถาคตผู้องอาจกว่านรชน ทรงประทานสมาบัติที่ประเสริฐ ๘ ประการ๒- ให้แก่คนบางคน ทรงประทานวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ให้แก่คนบางคน [๕] พระมหามุนีย่อมตรัสสอนหมู่ชนตามลำดับนั้น เพราะเหตุนั้นศาสนาของพระโลกนาถ จึงแผ่ไปอย่างกว้างขวาง [๖] พระศาสดาพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงมีพระหนุใหญ่ และพระวรกายงดงาม ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก ทรงปลดเปลื้องจากทุคติ @เชิงอรรถ : @ สามัญผล ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๑/๒๘๗) @ ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๖๐/๙๖-๙๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. ทีปังกรพุทธวงศ์

[๗] พระมหามุนีทรงเห็นชนที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ได้ แม้ในที่ไกลถึง ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ ก็เสด็จไปเพียงชั่วขณะเดียว ทรงช่วยผู้นั้นให้ตรัสรู้ [๘] ในการบรรลุธรรม(การตรัสรู้ธรรม) ครั้งที่ ๑ พระพุทธเจ้าทรงช่วยเทวดาและมนุษย์ ๑๐๐ โกฏิให้บรรลุธรรม ในการบรรลุธรรมครั้งที่ ๒ พระผู้เป็นที่พึ่ง ทรงช่วยเทวดาและมนุษย์ ๙๐ โกฏิให้บรรลุธรรม [๙] และในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในเทพพิภพ ได้มีเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๑๐] พระศาสดาพระนามว่าทีปังกร ได้มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง สาวกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกันเป็นครั้งที่ ๑ [๑๑] เมื่อพระชินเจ้าประทับอยู่ในสถานที่อันสงัด ที่ยอดภูเขานารทะ พระขีณาสพผู้ปราศจากมลทินประมาณ ๑๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน [๑๒] ในกาลใด พระมหาวีรเจ้าผู้ทรงเป็นพระมหามุนี ทรงปวารณาออกพรรษา พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ที่ยอดเขาสุทัสสนะ สมัยนั้น เราเป็นชฎิลผู้มีตบะแก่กล้า สำเร็จอภิญญา ๕ ๑- เหาะไปในอากาศได้ [๑๓] เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม การบรรลุธรรมครั้งละองค์สององค์นับจำนวนไม่ถ้วน [๑๔] ครั้งนั้น พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าทีปังกร แผ่ไพศาล มีคนรู้มาก เจริญแพร่หลาย สะอาด บริสุทธิ์ @เชิงอรรถ : @ อภิญญา ๕ ได้แก่ อภิญญาที่เป็นโลกิยะ (ขุ.อป.อ. ๒/๖-๗/๒๓๙, ที.สี. (แปล) ๙/๔๗๔-๔๗๘/๒๐๗-๒๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. ทีปังกรพุทธวงศ์

[๑๕] ภิกษุประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ รูป ล้วนได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระผู้มีพระภาคพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลกในกาลทั้งปวง [๑๖] สมัยนั้น ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระเสขะละมนุษยภูมิไป ชนเหล่านั้นย่อมถูกติเตียน [๑๗] ศาสนาแพร่หลาย งดงามด้วยพระอรหันตขีณาสพ ผู้คงที่ ปราศจากมลทิน ในกาลทั้งปวง [๑๘] เมืองชื่อว่ารัมมวดี กษัตริย์พระนามว่าสุเทพ เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสุเมธาเป็นพระชนนี ของพระศาสดาพระนามว่าทีปังกร [๑๙] พระชินเจ้าทรงครองฆราวาสอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี ทรงมีฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูงมากมาย มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง [๒๐] มีนางสนมกำนัล ๓๐๐,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าปทุมา พระราชโอรสพระนามว่าอุสภขันธกุมาร [๒๑] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ๑- ประการ จึงทรงราชพาหนะคือช้างออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๒] ครั้นทรงบำเพ็ญความเพียรเสร็จแล้ว ก็ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณ พระมหามุนีพระนามว่าทีปังกร ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว @เชิงอรรถ : @ นิมิต ๔ ได้แก่ (๑) คนแก่ (๒) คนเจ็บ (๓) คนตาย (๔) บรรพชิต (ที.ม. (แปล) ๑๐/๔๓-๕๓/๒๒-๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. ทีปังกรพุทธวงศ์

[๒๓] พระมหาวีรชินเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร แล้วประทับอยู่ในนันทาราม ประทับนั่งที่โคนต้นซึก ทรงปราบปรามเดียรถีย์ [๒๔] พระสุมังคลเถระและพระติสสเถระเป็นพระอัครสาวก พระสาคตเถระเป็นอุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าทีปังกร [๒๕] พระนันทาเถรีและพระสุนันทาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นเลียบ [๒๖] ตปุสสอุบาสกและภัลลิกอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก สิริมาอุบาสิกาและโสณาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๗] พระมหามุนีพระนามว่าทีปังกร ทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก ทรงงดงามดังต้นพฤกษาประทีป ดังต้นพญาไม้สาละที่มีดอกบานสะพรั่ง พระองค์ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออก ๑๐ โยชน์โดยรอบ [๒๘] พระองค์ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ทรงดำรงอยู่นานเพียงนั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)ได้เป็นจำนวนมาก [๒๙] พระองค์พร้อมทั้งสาวกประกาศพระสัทธรรมให้รุ่งเรือง ช่วยมหาชนให้ข้ามพ้นได้ แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานเหมือนกองไฟที่ลุกโพลงแล้วดับไป [๓๐] พระองค์ทรงมีพระฤทธิ์ มีพระยศ พร้อมทั้งจักรรัตนะที่พระยุคลบาท ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์

[๓๑] พระชินศาสดาพระนามว่าทีปังกรเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ณ นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระชินเจ้าพระองค์นั้น สูง ๓๖ โยชน์ ณ นันทารามนั้น พระสถูปบรรจุบาตร จีวร บริขาร และเครื่องบริโภค ของพระองค์ผู้ศาสดา ที่โคนต้นโพธิ์ในกาลนั้นสูง ๓ โยชน์
ทีปังกรพุทธวงศ์ที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๖๗-๕๙๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=193              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=6874&Z=7263                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=182              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=182&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=3893              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=182&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=3893                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :