ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

นิทเทส
๑. เอกกปุคคลบัญญัติ
[๑] บุคคลผู้เป็นสมยวิมุตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย๑- ทุกกาล ทุกสมัย และอาสวะ ทั้งหลายของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสมยวิมุตตะ [๒] บุคคลผู้เป็นอสมยวิมุตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายทุกกาล ทุกสมัย แต่อาสวะ ทั้งหลายของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอสมยวิมุตตะ แม้พระอริยบุคคลทั้งหมดก็ชื่อว่าผู้เป็นอสมยวิมุตตะในอริยวิโมกข์๒- [๓] บุคคลผู้เป็นกุปปธรรม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูป๓- เป็นอารมณ์หรือมีอรูป๔- เป็นอารมณ์ แต่บุคคลนั้นมิใช่ได้ตามที่ต้องการ มิใช่ได้โดยไม่ยาก มิใช่ได้โดยไม่ลำบาก มิใช่จะเข้า หรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตามกำหนด เวลาที่ต้องการ ข้อที่สมาบัติเหล่านั้นจะพึงเสื่อมเพราะอาศัยความประมาทของบุคคล นั้น นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นกุปปธรรม [๔] บุคคลผู้เป็นอกุปปธรรม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ และบุคคลนั้นเป็นผู้ได้ตามที่ต้องการ ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก จะเข้าหรือ ออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตามกำหนดเวลา ที่ต้องการ ข้อที่สมาบัติเหล่านั้นจะพึงเสื่อมไปเพราะอาศัยความประมาทของบุคคล นั้น นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอกุปปธรรม พระอริยบุคคล แม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าผู้เป็นอกุปปธรรมในอริยวิโมกข์ @เชิงอรรถ : @ กาย ในที่นี้หมายถึงนามกาย (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๓๕) @ อริยวิโมกข์ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตระ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๒/๓๗) @ รูป ในที่นี้หมายถึงรูปนิมิต (อภิ.ปญฺจ.อ. ๓/๓๗) @ อรูป ในที่นี้หมายถึงอรูปนิมิต (อภิ.ปญฺจ.อ. ๓/๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๔๙}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

[๕] บุคคลผู้เป็นปริหานธรรม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ แต่บุคคลนั้นมิใช่ได้ตามที่ต้องการ มิใช่ได้โดยไม่ยาก มิใช่ได้โดยไม่ลำบาก มิใช่ จะเข้าหรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตาม กำหนดเวลาที่ต้องการ ข้อที่บุคคลนั้นจะพึงเสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้นเพราะอาศัย ความประมาท นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นปริหานธรรม [๖] บุคคลผู้เป็นอปริหานธรรม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ และบุคคลนั้นเป็นผู้ได้ตามที่ต้องการ ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก จะเข้าหรือ ออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตามกำหนดเวลา ที่ต้องการ ข้อที่บุคคลนั้นจะพึงเสื่อมจากสมาบัตินั้นเพราะอาศัยความประมาท นั่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอปริหานธรรม พระอริยบุคคลแม้ ทั้งหมดก็ชื่อว่าผู้เป็นอปริหานธรรมในอริยวิโมกข์ [๗] บุคคลผู้เป็นเจตนาภัพพะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ แต่บุคคลนั้นมิใช่จะได้ตามที่ต้องการ มิใช่จะได้โดยไม่ยาก มิใช่จะได้โดยไม่ลำบาก มิใช่จะเข้าหรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ ถ้าตามใส่ใจ๑- ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น ถ้าไม่ ตามใส่ใจ ย่อมเสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นเจตนาภัพพะ [๘] บุคคลผู้เป็นอนุรักขนาภัพพะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ แต่บุคคลนั้นมิใช่จะได้ตามที่ต้องการ มิใช่จะได้โดยไม่ยาก มิใช่จะได้โดยไม่ลำบาก มิใช่จะเข้าสมาบัติหรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ ถ้าตามรักษา ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น ถ้า ไม่ตามรักษา ย่อมเสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอนุรักขนาภัพพะ @เชิงอรรถ : @ ตามใส่ใจในที่นี้หมายถึงเข้าสมาบัติเนืองๆ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๗/๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๐}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

[๙] บุคคลผู้เป็นปุถุชน เป็นไฉน บุคคลใดยังละสังโยชน์ ๓ ไม่ได้และไม่ปฏิบัติเพื่อละสภาวธรรมเหล่านั้น บุคคล นี้เรียกว่า ผู้เป็นปุถุชน [๑๐] บุคคลผู้เป็นโคตรภู เป็นไฉน การก้าวลงสู่อริยธรรมมีในลำดับแห่งสภาวธรรมเหล่าใด บุคคลผู้ประกอบด้วย สภาวธรรมเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโคตรภู [๑๑] บุคคลผู้เป็นภยูปรตะ เป็นไฉน พระเสขะ ๗ จำพวกและปุถุชนผู้มีศีลชื่อว่าผู้เป็นภยูปรตะ พระอรหันต์ชื่อว่า ผู้เป็นอภยูปรตะ [๑๒] บุคคลผู้เป็นอภัพพาคมนะ เป็นไฉน บุคคลผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม๑- เครื่องกั้นคือกิเลส๒- เครื่องกั้นคือ วิบาก๓- เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา ไม่ควรหยั่งลงสู่ นิยาม๔- ที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้เป็นอภัพพาคมนะ [๑๓] บุคคลผู้เป็นภัพพาคมนะ เป็นไฉน บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม เครื่องกั้นคือกิเลส เครื่องกั้นคือ วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา ไม่โง่เขลา ควรหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้อง ในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้เป็นภัพพาคมนะ @เชิงอรรถ : @ กรรม ในที่นี้หมายถึงอนันตริยกรรม ๕ คือ (๑) ฆ่ามารดา (๒) ฆ่าบิดา (๓) ฆ่าพระอรหันต์ (๔) ทำร้าย @พระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต (๕) ทำสงฆ์ให้แตกกัน (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๒/๔๒) @ กิเลสในที่นี้หมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๒/๔๒) @ วิบากในที่นี้หมายถึงอเหตุกปฏิสนธิ ได้แก่ ปฏิสนธิที่ปราศจากกุศลเหตุ ๓ ประการ คือ อโลภะ อโทสะ @และอโมหะ ได้แก่ ปฏิสนธิของสัตว์ดิรัจฉาน และทุกเหตุกปฏิสนธิ หมายถึงปฎิสนธิที่ปราศจากอโมหเหตุ @ได้แก่ ปฏิสนธิของมนุษย์บางจำพวก เช่น พวกที่บอด ใบ้ มาแต่กำเนิด (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๒/๔๒) @ นิยาม ในที่นี้หมายถึงมรรค (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๒/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๑}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

[๑๔] บุคคลผู้เป็นนิยตะ เป็นไฉน บุคคลผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ จำพวก บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ และพระ อริยบุคคล ๘ จำพวกชื่อว่าผู้เป็นนิยตะ บุคคลที่เหลือชื่อว่าผู้เป็นอนิยตะ [๑๕] บุคคลผู้เป็นปฏิปันนกะ เป็นไฉน บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ จำพวก ชื่อว่าผู้เป็นปฏิปันนกะ บุคคลผู้ พร้อมเพรียงด้วยผล ๔ จำพวกชื่อว่าผู้เป็นผเลฐิตะ [๑๖] บุคคลผู้เป็นสมสีสี เป็นไฉน ความสิ้นอาสวะและความสิ้นชีวิตของบุคคลใดไม่ก่อนไม่หลัง บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสมสีสี [๑๗] บุคคลผู้เป็นฐิตกัปปี เป็นไฉน บุคคลนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล และเป็นเวลาที่กัปถูกไฟไหม้ กัปไม่พึงถูกไฟไหม้ตราบเท่าที่บุคคลนี้ยังไม่ทำให้แจ้งโสดาปัตติผล บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นฐิตกัปปี บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรคแม้ทั้งหมดชื่อว่าผู้เป็นฐิตกัปปี [๑๘] บุคคลผู้เป็นอริยะ เป็นไฉน พระอริยบุคคล ๘ จำพวกชื่อว่าผู้เป็นอริยะ บุคคลที่เหลือชื่อว่าผู้เป็นอนริยะ [๑๙] บุคคลผู้เป็นเสขะ เป็นไฉน บุคคลเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ จำพวก บุคคลเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วย ผล ๓ จำพวก ชื่อว่าผู้เป็นเสขะ พระอรหันต์ชื่อว่าผู้เป็นอเสขะ บุคคลที่เหลือชื่อว่า ผู้เป็นเนวเสขานาเสขะ [๒๐] บุคคลผู้เป็นเตวิชชะ เป็นไฉน บุคคลผู้ประกอบด้วยวิชชา ๓ ชื่อว่าผู้เป็นเตวิชชะ [๒๑] บุคคลผู้เป็นฉฬภิญญะ เป็นไฉน บุคคลผู้ประกอบด้วยอภิญญา ๖ ชื่อว่าผู้เป็นฉฬภิญญะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๒}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

[๒๒] บุคคลผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ตรัสรู้สัจจะ ๔ ด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมคือสัจจะ ๔ นั้น และถึงความชำนาญในทศพลญาณ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ [๒๓] บุคคลผู้เป็นปัจเจกพุทธะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ตรัสรู้สัจจะ ๔ ด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน แต่ไม่บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมคือสัจจะ ๔ นั้น และไม่ถึงความชำนาญใน ทศพลญาณ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นปัจเจกพุทธะ [๒๔] บุคคลผู้เป็นอุภโตภาควิมุตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่และอาสวะทั้งหลายของเขา ย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอุภโตภาควิมุตตะ [๒๕] บุคคลผู้เป็นปัญญาวิมุตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่ แต่อาสวะทั้งหลาย ของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นปัญญาวิมุตตะ [๒๖] บุคคลผู้เป็นกายสักขี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่ และอาสวะทั้งหลายของ เขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นกายสักขี [๒๗] บุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่ง สภาวธรรมที่พระตถาคต ประกาศแล้วเป็นอันเขาเห็นชัดแล้วประพฤติดีแล้วด้วยปัญญา และอาสวะบางอย่าง ของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ [๒๘] บุคคลผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่ง สภาวธรรมที่พระตถาคต ประกาศแล้วเป็นอันเขาเห็นชัดแล้วประพฤติดีแล้วด้วยปัญญา และอาสวะบางอย่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๓}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

ของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่ไม่เหมือนผู้ชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ บุคคลนี้ เรียกว่า ผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ [๒๙] บุคคลผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นไฉน ปัญญินทรีย์ของบุคคลใดผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลมีประมาณยิ่ง บุคคลนั้นย่อมเจริญอริยมรรคอันมีปัญญาเป็นตัวนำ มีปัญญาเป็นประธาน บุคคล นี้เรียกว่า ผู้เป็นธัมมานุสารี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลชื่อว่าผู้เป็น ธัมมานุสารี บุคคลผู้ตั้งอยู่ในผลชื่อว่าผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ [๓๐] บุคคลผู้เป็นสัทธานุสารี เป็นไฉน สัทธินทรีย์ของบุคคลใดผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลมีประมาณยิ่ง บุคคลนั้นย่อมเจริญอริยมรรคอันมีศรัทธาเป็นตัวนำ มีศรัทธาเป็นประธาน บุคคล นี้เรียกว่า ผู้เป็นสัทธานุสารี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลชื่อว่าผู้เป็น สัทธานุสารี บุคคลผู้ตั้งอยู่ในผลชื่อว่าผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ [๓๑] บุคคลผู้เป็นสัตตักขัตตุปรมะ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เป็นโสดาบัน ไม่มี ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๑- ในวันข้างหน้า บุคคลนั้นท่องเที่ยวไป ในเทวโลกและมนุษยโลก ๗ ชาติแล้วจึงจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็น สัตตักขัตตุปรมะ [๓๒] บุคคลผู้เป็นโกลังโกละ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เป็นโสดาบัน ไม่มี ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า บุคคลนั้นท่องเที่ยวไป ๒ หรือ ๓ ตระกูลแล้วจึงจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโกลังโกละ [๓๓] บุคคลผู้เป็นเอกพีชี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เป็นโสดาบัน ไม่มี ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า บุคคลนั้นเกิดเป็น มนุษย์ภพเดียวเท่านั้นก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นเอกพีชี @เชิงอรรถ : @ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรคเบื้องสูง ๓ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) @(สารตฺถ.ฏีกา ๑/๒๑/๕๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๔}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

[๓๔] บุคคลผู้เป็นสกทาคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะทำราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบาง เป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะ ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสกทาคามี [๓๕] บุคคลผู้เป็นอนาคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น โอปปาติกะ๑- ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็น ธรรมดา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอนาคามี [๓๖] บุคคลผู้เป็นอันตราปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้นยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูงในลำดับที่เกิดบ้าง ยังไม่ถึง ท่ามกลางประมาณอายุบ้าง บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอันตราปรินิพพายี [๓๗] บุคคลผู้เป็นอุปหัจจปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้นยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง ก้าวล่วงท่ามกลางประมาณ อายุบ้าง ใกล้จะทำกาลกิริยาบ้าง บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอุปหัจจปรินิพพายี [๓๘] บุคคลผู้เป็นอสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้นยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอสังขารปรินิพพายี @เชิงอรรถ : @ โอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตทันทีเมื่อตายก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา @และสัตว์นรกเป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๕}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ

[๓๙] บุคคลผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคล นั้นยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นโดยต้องใช้ความพยายามมากเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี [๔๐] บุคคลผู้เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้นจุติจากอวิหาภพแล้วไปสู่ชั้นอตัปปาภพ จุติจากชั้นอตัปปาภพแล้วไปสู่ชั้น สุทัสสาภพ จุติจากชั้นสุทัสสาภพแล้วไปสู่ชั้นสุทัสสีภพ จุติจากชั้นสุทัสสีภพแล้ว ไปสู่ชั้นอกนิฏฐภพ ยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในชั้นอกนิฏฐภพเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง บุคคลนี้เรียกว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี [๔๑] บุคคลผู้เป็นโสดาบันและบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล เป็นไฉน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๓ ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล บุคคลใดละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโสดาบัน [๔๒] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบางชื่อว่าผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล บุคคลใดทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบาง บุคคล นี้เรียกว่า ผู้เป็นสกทาคามี [๔๓] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละกามราคะและพยาบาทโดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล บุคคลใดละกามราคะและพยาบาทได้โดยไม่เหลือ บุคคล นี้เรียกว่า ผู้เป็นอนาคามี [๔๔] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา โดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล บุคคลใดละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้โดยไม่เหลือ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอรหันต์
เอกกนิทเทส จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๕๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๑๔๙-๑๕๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=36&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=36&A=2734&Z=2939                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=532              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=36&item=532&items=41              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=729              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=36&item=532&items=41              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=729                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.1/en/law



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :