ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๙๑] บุคคลที่หมดความหวัง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม ไม่สะอาด๑- มีสมาจารอัน คนอื่นระลึกด้วยความรังเกียจ มีการงานอันปกปิด มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็น สมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เน่าใน ชุ่ม ด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ เธอได้ฟังมาว่า “ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง เองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เธอย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็จักทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง เองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่หมดความหวัง @เชิงอรรถ : @ ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงมีกายกรรมเป็นต้นไม่สะอาด (อภิ.ปญฺจ.อ. ๙๑/๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๖๗}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ติกปุคคลบัญญัติ

[๙๒] บุคคลที่ยังมีความหวัง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม เธอได้ฟังมาว่า “ภิกษุผู้มีชื่อ อย่างนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็จะทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่ยังมีความหวัง [๙๓] บุคคลที่ปราศจากความหวัง เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เธอได้ฟังมาว่า “ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ เธอย่อมไม่มีความ คิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าความหวังในความหลุดพ้นของบุคคลผู้ยังไม่เคยหลุดพ้นในกาลก่อนนั้นสงบ ระงับแล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่ปราศจากความหวัง [๙๔] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบเหมือนคนไข้ ๓ จำพวก๑- เป็นไฉน คนไข้ ๓ จำพวก คือ ๑. คนไข้บางคนในโลกนี้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะ๒- หรือไม่ได้โภชนะที่ เป็นสัปปายะ ได้ยาที่เป็นสัปปายะหรือไม่ได้ยาที่เป็นสัปปายะ ได้ คนพยาบาลที่เหมาะสมหรือไม่ได้คนพยาบาลที่เหมาะสมย่อมไม่หาย จากอาพาธนั้น ๒. คนไข้บางคนในโลกนี้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะหรือไม่ได้โภชนะที่เป็น สัปปายะ ได้ยาที่เป็นสัปปายะหรือไม่ได้ยาที่เป็นสัปปายะ ได้คน พยาบาลที่เหมาะสมหรือไม่ได้คนพยาบาลที่เหมาะสมย่อมหายจาก อาพาธนั้น @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๒/๑๖๙ @ เป็นสัปปายะ ในที่นี้หมายถึงมีประโยชน์ ก่อให้เกิดความเจริญ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๒/๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๖๘}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

๓. คนไข้บางคนในโลกนี้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะย่อมหายจากอาพาธ เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น ได้ยาที่เป็นสัปปายะย่อมหาย จากอาพาธ เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น ได้คนพยาบาลที่ เหมาะสมย่อมหายจากอาพาธ เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น บรรดาคนไข้ ๓ จำพวกนั้น คนไข้ผู้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะย่อมหายจากอาพาธ นั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้ยาที่เป็นสัปปายะย่อมหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ ย่อมไม่หาย ได้คนพยาบาลที่เหมาะสมย่อมหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่ หายจากอาพาธนั้น เพราะอาศัยคนไข้นี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตอาหาร สำหรับภิกษุไข้ ยาสำหรับภิกษุไข้ คนพยาบาลสำหรับภิกษุไข้ ก็เพราะอาศัยคนไข้นี้ คนไข้แม้อื่นๆ ก็ควรได้รับการพยาบาลด้วย บุคคลเปรียบเหมือนคนไข้ ๓ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน บุคคล ๓ จำพวก เป็นไฉน ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟัง ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมไม่ หยั่งลงสู่นิยาม๑- ที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟัง ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมหยั่ง ลงสู่นิยามที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคต จึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้อง เมื่อไม่ได้เห็นย่อมไม่หยั่งลง ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศ แล้ว จึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคตจึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูก ต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็นย่อมไม่หยั่งลง ได้ฟังธรรมวินัยที่พระ ตถาคตประกาศแล้วจึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ฟังย่อมไม่ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑๒ (เอกกปุคคลบัญญัติ) หน้า ๑๕๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๖๙}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

หยั่งลง เพราะอาศัยบุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตการแสดงธรรม เพราะอาศัยบุคคลนี้ จึงควรแสดงธรรมแก่คนแม้เหล่าอื่น บุคคลเปรียบเหมือนคนไข้ ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก [๙๕] บุคคลผู้เป็นกายสักขี๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่ อนึ่ง อาสวะบางอย่าง ของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นกายสักขี [๙๖] บุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” และสภาวธรรมที่พระตถาคต ประกาศแล้ว เป็นอันเขาเห็นชัดแล้วประพฤติดีแล้วด้วยปัญญา และอาสวะบาง อย่างของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ [๙๗] บุคคลผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ” สภาวธรรมที่ พระตถาคตประกาศแล้วเป็นอันเขาเห็นชัดแล้ว ประพฤติดีแล้วด้วยปัญญา และ อาสวะบางอย่างของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่ไม่เหมือนอาสวะของ บุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ [๙๘] บุคคลผู้พูดภาษาคูถ๒- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดเท็จ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางญาติ อยู่ท่ามกลางทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขานำไปอ้างเป็นพยานซักถาม ว่า “บุรุษผู้เจริญ มาเถิด ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “รู้” หรือรู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” ไม่เห็นก็กล่าวว่า “เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “ไม่เห็น” พูดเท็จ ทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุคือเห็นแก่อามิส เล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาคูถ @เชิงอรรถ : @ กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ และสัทธาวิมุตตะ ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลจนถึงผู้ @ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผล (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑) @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๘/๑๗๗-๑๗๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๐}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

[๙๙] บุคคลผู้พูดภาษาดอกไม้๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลางญาติ อยู่ในท่ามกลางทหาร หรืออยู่ในท่ามกลางราช สำนัก ถูกเขานำไปอ้างเป็นพยานซักถามว่า “บุรุษผู้เจริญ มาเถิด ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” หรือรู้ก็กล่าวว่า “รู้” ไม่เห็นก็ กล่าวว่า “ไม่เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “เห็น” ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาดอกไม้ [๑๐๐] บุคคลผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ เป็นวาจาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง [๑๐๑] บุคคลผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า๒- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าว เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ เปรียบเหมือนแผลเก่าถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมหลั่งน้ำ หนองออกมากขึ้นชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มัก โกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคืองและไม่พอใจ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี จิตเหมือนแผลเก่า [๑๐๒] บุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ๒- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” เปรียบเหมือนคนตาดีพึงเห็นรูป ในขณะที่ฟ้าแลบในเวลากลางคืนที่มืดมิดชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉัน นั้นเหมือนกัน รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๘/๑๗๘ @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๕/๑๗๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๑}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

[๑๐๓] บุคคลผู้มีจิตเหมือนเพชร๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เปรียบเหมือนแก้วมณีหรือ หินบางชนิดที่เพชรจะทำลายไม่ได้ย่อมไม่มีชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น เหมือนกันทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนเพชร [๑๐๔] บุคคลตาบอด เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีนัยน์ตา๒- เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำ โภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน และเขาไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและ อกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบ ด้วยธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้เรียกว่า บุคคลตาบอด [๑๐๕] บุคคลตาเดียว๓- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีนัยน์ตาเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน แต่เขาไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรม ที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่าย ดำและธรรมฝ่ายขาว นี้เรียกว่า บุคคลตาเดียว [๑๐๖] บุคคลสองตา๓- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้มีนัยน์ตาเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน และเขามีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรม ที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่าย ดำและธรรมฝ่ายขาว นี้เรียกว่า บุคคลสองตา @เชิงอรรถ : @ จิตเหมือนเพชร ในที่นี้หมายถึงจิตที่มีความแข็งแกร่งสามารถกำจัดมูลรากแห่งกิเลสทั้งหลายได้ @(องฺ.ติก.อ. ๒/๒๕/๑๐๓) ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๕/๑๗๔ @ นัยน์ตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๙/๑๐๗) @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๙/๑๗๘-๑๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๒}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

[๑๐๗] บุคคลผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำ๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์๒- พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้น ไม่ได้ แม้ลุกจากที่นั้นแล้วก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำที่เขาเทน้ำลงไป น้ำย่อมไหลราดไป ไม่ขังอยู่ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่าม กลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง และ ที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้ แม้ลุกจากที่นั้นแล้วก็ยังจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แห่งกถานั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำ [๑๐๘] บุคคลผู้มีปัญญาเหมือนชายพก เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถา นั้นได้ แต่ลุกจากที่นั้นแล้วจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้ เปรียบ เหมือนบุรุษเก็บของเคี้ยวต่างๆ คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทราไว้ที่ชายพก บุรุษ นั้นเมื่อลุกจากที่นั้นพึงทำเรี่ยราดเพราะเผลอสติชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษทั้งหลาย ภิกษุ ทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๐/๑๘๐-๑๘๑ @ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งรวมอยู่ในไตรสิกขาคือศีล สมาธิ และปัญญาอันเป็น @ความประพฤติประเสริฐ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๐/๑๐๘-๑๐๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๓}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

แก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งกถานั้นได้ แต่ลุกจากที่ นั้นแล้วก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี ปัญญาเหมือนชายพก [๑๐๙] บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวาง๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และ มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถา นั้นได้ แม้ลุกจากที่นั้นก็ยังจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นได้ เปรียบ เหมือนหม้อหงายที่เขาเทน้ำลงไป น้ำย่อมขังอยู่ ไม่ไหลราดไปชื่อแม้ฉันใด บุคคล บางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถา นั้นได้ แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้วก็ยังจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปัญญากว้างขวาง [๑๑๐] บุคคลผู้ยังมีกามราคะและภวราคะ เป็นไฉน บุคคลผู้เป็นโสดาบันและสกทาคามี บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้ยังมีกามราคะ และภวราคะ [๑๑๑] บุคคลผู้ไม่มีกามราคะ แต่ยังมีภวราคะ เป็นไฉน บุคคลผู้เป็นอนาคามี บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีกามราคะ แต่ยังมีภวราคะ [๑๑๒] บุคคลผู้ไม่มีทั้งกามราคะและภวราคะ เป็นไฉน บุคคลผู้เป็นอรหันต์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีกามราคะแต่ยังมีภวราคะ [๑๑๓] บุคคลผู้เปรียบเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน๒- เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๐/๑๘๑-๑๘๒ @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๓๓/๓๘๑-๓๘๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๔}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเป็นประจำและความโกรธของเขานั้นก็หมักหมม อยู่นาน รอยขีดบนแผ่นหินย่อมไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมติดอยู่นาน ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน โกรธเป็นประจำ และความ โกรธของเขานั้นก็หมักหมมอยู่นาน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เปรียบเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน [๑๑๔] บุคคลผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเป็นประจำ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่หมักหมม อยู่นาน รอยขีดที่แผ่นดินย่อมลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ไม่ปรากฏอยู่นานชื่อแม้ ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน โกรธเป็นประจำ แต่ความโกรธ ของเขานั้นไม่หมักหมมอยู่นาน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน [๑๑๕] บุคคลผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่น่าพอใจก็ยังคงสมานไมตรีกลมเกลียวอยู่ ปรองดองกันอยู่ รอยขีดที่น้ำย่อมขาดหายไปเร็ว ไม่ปรากฏอยู่นานชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนใน โลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบ แม้ จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่น่าพอใจก็ยังคงสมานไมตรีกลมเกลียวอยู่ ปรองดองกันอยู่ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ [๑๑๖] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวก๒- เป็นไฉน ผ้าเปลือกไม้ ๓ ชนิด คือ ๑. ผ้าเปลือกไม้ใหม่ มีสีไม่สวย สัมผัสหยาบทั้งราคาก็ถูก ๒. ผ้าเปลือกไม้ปานกลางมีสีไม่สวย สัมผัสหยาบ ทั้งราคาก็ถูก ๓. ผ้าเปลือกไม้เก่า มีสีไม่สวย สัมผัสหยาบ ทั้งราคาก็ถูก @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๓๓/๓๘๒ @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๐๐/๓๓๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๕}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

คนทั้งหลายย่อมทำผ้าเปลือกไม้แม้เก่าให้เป็นผ้าเช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งมันที่ กองหยากเยื่อ บุคคลเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้ง หลายอย่างนี้เหมือนกัน ภิกษุเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวก เป็นไฉน ๑. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นนวกะ๑- เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม นี้เป็นเหตุให้ ภิกษุนั้นเป็นผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้มีสีที่ไม่ สวยนั้น ส่วนบุคคลเหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การ คบหาเป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่คน เหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีการติดต่อก่อให้เกิดทุกข์ ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีสัมผัสหยาบนั้น ก็ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของคนเหล่าใด ทาน ของบุคคลเหล่านั้น ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุ นั้นมีค่าน้อย ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีราคาถูก ๒. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ๒- ฯลฯ แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระ๓- แต่เป็นผู้ทุศีล มี ธรรมอันเลวทราม นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีผิวพรรณเศร้าหมอง ผู้นี้เปรียบ เหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีสีไม่สวยนั้น ส่วนบุคคลเหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การคบหาเป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่บุคคลเหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมี การติดต่อก่อให้เกิดทุกข์ ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีสัมผัสหยาบนั้น @เชิงอรรถ : @ ผู้เป็นนวกะ ในที่นี้หมายถึงพระใหม่มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่ยังนับว่ายังใหม่ถึงแม้จะมีอายุ ๖๐ ปี @แต่มีพรรษาไม่ครบ ๕ ก็ยังนับว่าเป็นผู้ใหม่ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๑๖/๗๗) @ ผู้เป็นมัชฌิมะ ในที่นี้หมายถึงพระระดับปานกลาง มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่ยังนับว่าพระ @ปูนกลางคือมีพรรษาตั้งแต่ ๕ จนถึง ๙ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๑๖/๗๗) @ ผู้เป็นพระเถระ ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่คือมีพรรษา @ตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไปและรู้ปาติโมกข์ เป็นต้น (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๑๖/๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๖}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

ก็ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของ บุคคลเหล่าใด ทานของบุคคลเหล่านั้นไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีค่าน้อย ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีราคาถูก ๓. หากภิกษุผู้เป็นเถระเห็นปานนี้กล่าวในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะ กล่าวกับเธออย่างนี้ว่า “จะมีประโยชน์อะไรด้วยคำที่คนพาล ไม่ฉลาด กล่าวออกไป แม้ตัวท่านก็เข้าใจคำที่ควรกล่าว” เธอโกรธ ไม่พอใจ เปล่งวาจาที่เป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตรตน เหมือนผ้าเปลือกไม้ที่เขาทิ้งที่กอง หยากเยื่อ บุคคลเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย [๑๑๗] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวก๑- เป็นไฉน ผ้าแคว้นกาสี ๓ ชนิด คือ ๑. ผ้าแคว้นกาสีที่ยังใหม่ มีสีสวย สัมผัสสบาย และมีราคาแพง ๒. ผ้าแคว้นกาสีแม้กลางเก่ากลางใหม่ มีสีสวย สัมผัสสบาย และมีราคาแพง ๓. ผ้าแคว้นกาสีแม้จะเก่า แต่ก็มีสีสวย สัมผัสสบาย และมีราคาแพง คนทั้งหลายย่อมทำผ้าแคว้นกาสีแม้เก่าให้เป็นผ้าห่อแก้วหรือเอาใส่ไว้ในผอบ ของหอม บุคคลเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้ง หลายอย่างนี้เหมือนกัน ภิกษุ ๓ จำพวก เป็นไฉน ๑. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นนวกะ มีศีล มีธรรมอันงาม นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมี ผิวพรรณงาม ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มีสีสวยนั้น ส่วนบุคคล เหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การคบหาเป็นต้นนั้นย่อม เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บุคคลเหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้ ภิกษุนั้นมีการติดต่อก่อให้เกิดสุข ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มี @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๐๐/๓๓๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๗}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

สัมผัสสบายนั้น ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารของบุคคลเหล่าใด ทานของบุคคลเหล่านั้นย่อมมีผลมาก มี อานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีค่ามาก ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้น กาสีที่มีราคาแพง ๒. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ ผู้เป็นเถระ มีศีล มีธรรมอันงาม นี้ เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีผิวพรรณงาม ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มีสีสวย นั้น ส่วนบุคคลเหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การคบหา เป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บุคคลเหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีการติดต่อก่อให้เกิดสุข ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้น กาสีที่มีสัมผัสสบายนั้น ก็ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของบุคคลเหล่าใด ทานของบุคคลเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีค่ามาก ผู้นี้ เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มีราคาแพง ๓. ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระเห็นปานนี้กล่าวในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะ กล่าวกับเธออย่างนี้ว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงสงบเถิด ภิกษุที่เป็นพระ เถระจะกล่าวธรรมและวินัย ถ้อยคำนั้นของพระเถระควรทรงจำไว้ในหทัย เหมือนผ้าแคว้นกาสีที่ควรเก็บไว้ในผอบของหอมฉะนั้น บุคคลเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย [๑๑๘] บุคคลผู้ประมาณได้ง่าย๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ประมาณได้ง่าย [๑๑๙] บุคคลผู้ประมาณได้ยาก๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่เป็นคนปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ประมาณได้ยาก @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๑๖/๓๕๘-๓๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๘}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

[๑๒๐] บุคคลผู้ประมาณไม่ได้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ประมาณไม่ได้ [๑๒๑] บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนต่ำทรามกว่าตนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ เว้นไว้แต่ความเอ็นดู และ ความอนุเคราะห์ [๑๒๒] บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเสมอตนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการสนทนาเกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา จักมีแก่เราทั้งหลายผู้ถึงความเสมอกันในด้านศีล สมาธิ ปัญญา การสนทนาของเราทั้งหลายนั้นจักเป็นความสำราญและจักดำเนินไปได้ เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ [๑๒๓] บุคคลที่ควรสักการะ เคารพแล้วจึงเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้๑- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เหนือกว่าตนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา บุคคล เช่นนี้ควรสักการะ เคารพแล้วจึงเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลเช่นนี้คิดว่า “เราจักได้บำเพ็ญศีลขันธ์ (กองศีล) สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ) ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา) ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ” เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้ควรสักการะ เคารพแล้วจึงเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้ [๑๒๔] บุคคลที่ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๒- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม ไม่สะอาด มีความ ประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานอันปกปิด ไมใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าป็นสมณะ @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๖/๑๗๔-๑๗๕ @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๗/๑๗๕-๑๗๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๗๙}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี๑- เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือน หยากเยื่อ บุคคลเช่นนี้ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อ นั้นเพราะเหตุไร เพราะคนทั่วไปแม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้ แต่กิตติศัพท์อัน ชั่วของเขาย่อมกระฉ่อนไปว่า คนคบมิตรชั่ว คบสหายชั่ว คบเพื่อนชั่ว เปรียบ เหมือนงูที่เปื้อนคูถถึงจะไม่กัดใครๆ ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เขาเปื้อนได้ฉันใด คน ทั่วไปก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้ แต่กิตติศัพท์อันชั่วของ เขาก็กระฉ่อนไปว่า คนคบมิตรชั่ว คบสหายชั่ว คบเพื่อนชั่ว เพราะฉะนั้น บุคคล เช่นนี้จึงควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ [๑๒๕] บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๒- เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่ากล่าว เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ เปรียบเหมือนแผลเก่าถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมหลั่งน้ำ หนองออกมากยิ่งขึ้นแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมัก โกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมปะทุเกินประมาณ แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วย ความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ เปรียบเหมือนหลุมคูถถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงขึ้น แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วย ความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด @เชิงอรรถ : @ ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี ในที่นี้หมายถึงตนเองไม่มีศีล หมดสภาพความเป็นภิกษุ @แต่ยังเรียกตนเองว่าเป็นภิกษุแล้วร่วมอยู่ร่วมฉันกับภิกษุอื่นผู้มีศีลใช้สิทธิถือเอาลาภที่เกิดขึ้นในสงฆ์ @(องฺ.ติก.อ. ๒/๑๓/๘๖) @ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๗/๑๗๖-๑๗๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๘๐}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ บุคคลเช่นนี้ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลบางคนคิดว่า “บุคคลเช่นนี้จะพึงด่าเราบ้าง บริภาษเราบ้าง ทำเราให้ฉิบหายบ้าง” เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ [๑๒๖] บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลเช่นนี้ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลทั่วไปแม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้ แต่กิตติศัพท์อันงามของเขาก็ขจรไปว่า “คนคบมิตรดี คบสหายดี คบเพื่อนดี” เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ [๑๒๗] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้พอประมาณในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน บุคคลผู้เป็นโสดาบันและสกทาคามี บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้ บริบูรณ์ในศีล ทำให้พอประมาณในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา [๑๒๘] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้ พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน บุคคลผู้เป็นอนาคามี บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้ บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา [๑๒๙] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้ บริบูรณ์ในปัญญา เป็นไฉน บุคคลผู้เป็นอรหันต์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้ บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา [๑๓๐] ในบทมาติกานั้น บุคคลผู้เป็นศาสดา ๓ จำพวก เป็นไฉน ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป ไม่บัญญัติ การละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกามและบัญญัติการละรูป แต่ ไม่บัญญัติการละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกาม บัญญัติการละรูป และบัญญัติการละเวทนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๘๑}

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ

บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป ไม่บัญญติการละเวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นศาสดาผู้ได้รูปาวจรสมาบัติ บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกามและบัญญัติการละรูป แต่ไม่ บัญญัติการละเวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นศาสดาผู้ได้อรูปสมาบัติ บรรดา ศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกาม บัญญัติการละรูป และบัญญัติการละ เวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บุคคลผู้เป็น ศาสดา ๓ จำพวกเหล่านี้ [๑๓๑] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้เป็นศาสดา ๓ จำพวกแม้อื่นอีก เป็นไฉน ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดย ความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดย ความเป็นของยั่งยืน ส่วนศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความ เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้า โดยความ เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และศาสดาบางคนในโลกนี้ไม่บัญญัติอัตตา ในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และไม่บัญญัติอัตตาใน ภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของมีจริง โดย ความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดย ความเป็นของยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าเที่ยง บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาผู้ที่บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่าเป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าขาดสูญ ศาสดาผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของ ยั่งยืน และไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของ ยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บุคคลผู้เป็น ศาสดา ๓ จำพวกแม้อื่นอีก
ติกนิทเทส จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า : ๑๘๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๑๖๗-๑๘๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=36&siri=29              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=36&A=3225&Z=3658                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=599              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=36&item=599&items=20              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1461              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=36&item=599&items=20              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1461                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.3/en/law



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :