ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 268อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 269อ่านอรรถกถา 25 / 270อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
จตุตถวรรค เทวทัตตสูตร

               อรรถกถาเทวทัตตสูตร               
               ในเทวทัตตสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ในพระสูตรมีอาทิว่า ตีหิ ภิกฺขเว อสทฺธมฺเมหิ อภิภูโต มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร.
               มีเรื่องพิสดารว่า เมื่อพระเทวทัตตกอเวจีมหานรกแล้ว ภิกษุผู้เป็นพวกของพระเทวทัตและพวกอัญญเดียรดีย์ทั้งหลาย ได้พากันโพนทะนาว่า พระเทวทัตถูกพระสมณโคดมสาปแช่ง จึงถูกแผ่นดินสูบ คนทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว พวกไม่เลื่อมใสในพระศาสนา เกิดความสงสัยขึ้นว่า ข้อนี้จะพึงเป็นเหมือนที่คนทั้งหลายพูดหรือไม่.
               ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพฤติการณ์นั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสปฏิเสธความเข้าใจผิดของคนเหล่านั้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ให้การสาปแช่งแก่ใครๆ เพราะฉะนั้น พระเทวทัตจึงไม่ใช่ถูกเราตถาคตสาปแช่ง พระเทวทัตตกนรกโดยกรรมของตนนั่นแหละ ดังนี้
               จึงตรัสพระสูตรนี้โดยเป็นเหตุเกิดแห่งเรื่องนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสทฺธมฺเมหิ ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ.
               บทว่า อเตกิจฺโฉ ความว่า เยียวยาไม่ได้.
               อธิบายว่า แก้ไขไม่ได้ เพราะการเกิดในอเวจี ไม่มีการแก้ไข เหตุที่พระเทวทัตเป็นผู้ไม่ควรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะให้กลับใจ.
               พระเทวทัต ชื่อว่า ปาปิจฺโฉ เพราะมีความปรารถนาลามกเป็นไปโดยประสงค์จะประกาศคุณความดี (ของตน) ที่ไม่มีอยู่. ภาวะของผู้มีความปรารถนาลามกนั้น ชื่อว่า ปาปิจฺฉตา ถูกความปรารถนาลามกนั้น (ครอบงำแล้ว). พระเทวทัตนั้นเกิดความปรารถนาขึ้นว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้า เราจักปกครองหมู่สงฆ์.
               พระเทวทัตชื่อว่า มีมิตรเลวทราม เพราะมีมิตรเลวทรามคือลามก มีพระโกกาลิกะเป็นต้น. ภาวะของผู้มีมิตรลามกนั้น ชื่อว่า ปาปมิตฺตตา ถูกความเป็นผู้มีมิตรลามกนั้นครอบงำแล้ว.
               บทว่า อุตฺตริกรณีเย ความว่า เมื่อมรรคผลอันเป็นกรณียกิจเบื้องสูง อันบุคคลพึงบรรลุด้วยฌานและอภิญญา อันตนยังไม่ได้บรรลุแล้วมีอยู่. อธิบายว่า ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนั้น ด้วยอาการอย่างนั้น.
               บทว่า โอรมตฺตเกน ความว่า เพียงเล็กน้อย คือเพียงฌานและอภิญญาเท่านั้น.
               บทว่า วิเสสาธิคเมน ความว่า เพราะบรรลุอุตตริมนุสสธรรม.
               บทว่า อนฺตรา แปลว่า ในท่ามกลาง.
               บทว่า โวสานํ อาปาทิ ความว่า ยังไม่เสร็จกิจเลย แต่สำคัญว่า เราเสร็จกิจแล้ว จึงถึงความพินาศจากสมณธรรม.
               ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศโทษในความเป็นปุถุชนโดยพิเศษ ด้วยพระสูตรนี้ว่า ความเป็นปุถุชนของเขาหนักเพราะเหตุที่จะยังสมบัติ มีฌานและอภิญญาเป็นที่สุดให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังละเหตุแห่งทุกข์มีอย่างต่างๆ อันจะนำอนัตถะมาให้มิใช่น้อย การอวดคุณความดีที่ไม่มีอยู่ การคบหาอสัตบุรุษ และการประกอบความเกียจคร้านเนืองๆ ไม่ได้จักได้ประสบโทษที่แก้ไขไม่ได้ ตั้งอยู่ตลอดกัป ในอเวจีมหานรก ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
               ศัพท์ว่า มา เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าปฏิเสธ.
               บทว่า ชาตุ แปลว่า โดยส่วนเดียว.
               บทว่า โกจิ เป็นคำเรียกรวมทั้งหมด.
               บทว่า โลกสฺมึ ได้แก่ ในสัตวโลก ท่านอธิบายไว้ว่า ขอบุคคลไรๆ ในสัตวโลกนี้ อย่าได้มีความปรารถนาลามกโดยส่วนเดียว
               บทว่า ตทิมินาปิ ชานาถ ปาปิจฺฉานํ ยถา คติ ความว่า คติอย่างไร คือความสำเร็จอย่างไร ได้ผลในภายหน้าเช่นใด ของบุคคลผู้มีความปรารถนาลามก เธอทั้งหลายจงรู้คตินั้น แม้ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอ้างพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า ปณฺฑิโตติ สมญฺญาโต ความว่า ที่รู้กันว่าเป็นบัณฑิต เพราะเป็นคนคงแก่เรียน.
               บทว่า ภาวิตตฺโตติ สมฺมโต ความว่า ที่ยกย่องกันว่ามีตนอันอบรมแล้ว ด้วยฌานและอภิญญาทั้งหลาย.
               จริงอย่างนั้น พระเทวทัตนั้น ในชั้นต้นได้เป็นผู้ที่แม้พระธรรมเสนาบดีก็สรรเสริญว่า เป็นโคธิบุตร ผู้มีฤทธิ์มาก เป็นโคธิบุตร ผู้มีอานุภาพมาก.
               บทว่า ชลํว ยสสา อฏฺฐา เทวทตฺโตติ วิสฺสุโต ความว่า ได้มีชื่อระบือ คือปรากฏอย่างนี้ว่า พระเทวทัตเป็นเหมือนรุ่งเรือง เป็นเหมือนเด่นอยู่ ดำรงอยู่แล้วด้วยเกียรติและบริวารของตน.
               ปาฐะว่า เม สุตํ ดังนี้ก็มี อธิบายว่า ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว คือเพียงได้ฟังมาได้แก่การที่พระเทวทัตเป็นบัณฑิตเป็นต้นนั้น เป็นเพียงที่ข้าพเจ้าฟังมาเท่านั้น เพราะพระเทวทัตเป็นอย่างนั้น โดยสองสามวันเท่านั้น.
               บทว่า โส ปมาทมนุจิณฺโณ อาสชฺช นํ ตถาคตํ ความว่า พระเทวทัตนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่รู้ประมาณตน ถึงความประมาท โดยแต่งตั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เสมอกับตนว่า ถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นศากยบุตร แม้เราก็เป็นศากยบุตร ถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นพระสมณะ แม้เราก็เป็นพระสมณะ ถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้มีฤทธิ์ แม้เราก็เป็นผู้มีฤทธิ์ ถึงพระพุทธเจ้าจะมีทิพจักษุ แม้เราก็มีทิพจักษุ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะมีทิพโสต แม้เราก็มีทิพโสต ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะได้เจโตปริยญาณ แม้เราก็ได้เจโตปริยญาณ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะรู้ธรรมที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน แม้เราก็รู้ธรรมเหล่านั้น ดังนี้ กระทบกระทั่ง เบียดเบียนพระตถาคตเจ้า เพราะถูกมารดลใจ (ให้ฮึกเหิม) ว่า บัดนี้ เราจักเป็นพระพุทธเจ้า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปมาทมนุชิโน ดังนี้บ้าง คำนั้นก็มีใจความว่า เมื่อถึงความประมาทตามนัยที่กล่าวแล้ว อาศัยความประมาท เสื่อมคลายจากฌานและอภิญญา พร้อมกับจิตตุปบาทที่วางตนคู่กัน (ตีเสมอ) พระพุทธเจ้าทีเดียว.
               บทว่า อวีจินิรยํ ปตฺโต จตุทฺวารํ ภยานกํ ความว่า ถึงนรกใหญ่ที่ได้นามว่าอเวจี เพราะเปลวไฟ หรือสัตว์ที่เกิดในนรกนั้นมีอยู่เป็นนิรันดร ชื่อว่ามี ๔ ประตูเพราะประกอบด้วยประตูใหญ่ ๔ ประตูในด้านทั้ง ๔ อันน่ากลัวยิ่งนักด้วยสามารถแห่งการถือปฏิสนธิ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย) ก็มหานรกนั้นมี ๔ มุม ๔ ประตู
                         แยกออกเป็นห้องๆ มีกำแพงเหล็กเป็นขอบเขต ครอบด้วยฝา
                         เหล็ก มีพื้นปูด้วยเหล็ก ไฟลุกโชน ประกอบด้วยเปลว แผ่ไป
                         ไกล ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๗๕   องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๗๕
ขุ. เปต. เล่ม ๒๖/ข้อ ๑๒๓   ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๙๒

               บทว่า อทุฏฺฐสฺส ได้แก่ ผู้มีจิตไม่ถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว.
               บทว่า ทุพฺเภ ได้แก่ ทุสเสยฺย (แปลว่า พึงประทุษร้าย).
               บทว่า ตเมว ปาปํ ผุสติ ความว่า ผลชั่ว คือผลของบาปที่ต่ำทราม จะถูกต้องคือถึง ได้แก่ครอบงำคนเลวทราม ผู้ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า เภสฺมา ความว่า ทะเลเป็นเสมือนให้คนกลัว เพราะความกว้างและความลึก. อธิบายว่า ทั้งกว้างทั้งลึก.
               บทว่า วาเทน ได้แก่ ด้วยโทสะ.
               บทว่า วิหึสติ ความว่า เบียดเบียน คือรุกราน.
               บทว่า วาโท ตมฺหิ น รูหติ ความว่า โทสะที่ผู้อื่นปลูกฝังในพระตถาคตเจ้านั้น จะไม่งอกขึ้นคือจะไปตั้งอยู่. อธิบายว่า จะไปให้เกิดความพิการ (ความกระเทือนพระทัย) แก่พระองค์ เหมือนหม้อยาพิษ (หม้อเดียว) จะทำให้เกิดความแปรเปลี่ยนแก่สมุทรหาได้ไม่ฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงว่า พระเทวทัตเป็นผู้ไม่พ้นไปจากทุกข์ ด้วยการทรงแสดงว่า พระเทวทัตผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลามกเป็นต้น ได้เข้าถึงนรกแล้ว ด้วยคาถา ๖ คาถาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเหตุสิ้นทุกข์ ของผู้ประกอบด้วยธรรมที่ตรงกันข้ามกับความปรารถนาลามกนั้น จึงได้ตรัสคาถาสุดท้ายไว้ว่า ตาทิสํ มิตฺตํ เป็นต้น.
               พระคาถาสุดท้ายมีเนื้อความว่า
               ภิกษุเดินตามทาง คือดำเนินตามทางเดินของผู้ใดที่ปฏิบัติชอบแล้ว ได้แก่ปฏิบัติโดยชอบแล้ว จะพึงถึงความสิ้นไป คือความสิ้นสุดแห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น ด้วยการประกอบด้วยคุณความดีมีความปรารถนาน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต คือผู้มีปัญญาควรทำผู้เช่นนั้น คือพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ให้เป็นมิตรของตน คือทำความสนิทสนมกับท่าน และควรคบหาสมาคม คือควรเข้าไปนั่งใกล้ท่านนั่นเอง.
               จบอรรถกถาเทวทัตตสูตรที่ ๑๐               

               เป็นอันว่าในวรรคนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสวิวัฏฏะไว้ในสูตรที่ และที่ และตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะไว้ในสูตรทั้งหลาย นอกจากนี้.
               จบวรรควรรณนาที่ ๔               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. วิตักกสูตร
                         ๒. สักการสูตร
                         ๓. สัททสูตร
                         ๔. จวมานสูตร
                         ๕. โลกสูตร
                         ๖. อสุภสูตร
                         ๗. ธรรมสูตร
                         ๘. อันธการสูตร
                         ๙. มลสูตร
                         ๑๐. เทวทัตตสูตร และอรรถกถา.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต จตุตถวรรค เทวทัตตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 268อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 269อ่านอรรถกถา 25 / 270อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6227&Z=6266
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=6991
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=6991
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :