ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ

๔. โภชนวรรค
๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันปรัมปรโภชนะ
เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน
[๒๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พวกชาวบ้านจัดลำดับวาระถวายภัตตาหารอย่าง ประณีตไว้ใน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น ชายกรรมกรยากจนคนหนึ่งได้มีความคิดดังนี้ว่า ทานนี้ไม่ใช่เป็นของต่ำต้อย๑- เพราะพวกชาวบ้านเหล่านี้ได้ช่วยกันจัดภัตตาหารโดย เคารพ เอาเถิด แม้ตัวเราก็พึงจัดภัตตาหารบ้าง ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปหานายจ้างชื่อกิรปติกะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับนายกิรปติกะดังนี้ว่า “นายท่าน กระผมต้องการจัดภัตตาหาร ถวายภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ท่านกรุณาให้ค่าจ้างแก่กระผมด้วย” นายกิรปติกะมีศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้วจึงได้ให้ค่าจ้างแก่เขามากกว่าปกติ ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ชายกรรมกรผู้ ยากจนคนนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอ พระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อฉันใน วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก ท่านจงทราบ” ชายกรรมกรผู้ยากจนกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ถึงภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก ก็ไม่เป็นไร ข้าพระพุทธเจ้าจัดเตรียมผลพุทราไว้มากมาย น้ำพุทรามีเพียงพอ” @เชิงอรรถ : @ อีกนัยหนึ่ง ศาสนานี้หรือการถวายทานพระสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนี้ มิใช่เรื่องต่ำต้อย @คือมิใช่เรื่องเล็กน้อยเลวทราม (วิ.อ. ๒/๒๒๑/๓๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นชายกรรมกรผู้ยากจนทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกขึ้น จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป ภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า ชายกรรมกรผู้ยากจนนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระ พุทธเจ้าเป็นประมุขเพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ น้ำพุทรามีเพียงพอ ภิกษุเหล่านั้น ได้เที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันแต่เช้าตรู่ทีเดียว พวกชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ชายกรรมกรผู้ยากจนนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระ พุทธเจ้าเป็นประมุข พวกชาวบ้านเหล่านั้นจึงได้นำขาทนียโภชนียาหารจำนวนมาก ไปให้ชายกรรมกรผู้ยากจน ครั้งนั้นแล ตลอดราตรีนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนได้จัดเตรียมขาทนีย โภชนียาหารอย่างประณีต ให้คนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ได้เวลาแล้ว พระพุทธ เจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จไป ถึงที่อยู่ของชายกรรมกรผู้ยากจน ครั้นถึงแล้วได้ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ ทีนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนถวายภัตตาหารภิกษุทั้งหลายที่หอฉัน ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวอย่างนี้ว่า “อุบาสก จงถวายแต่น้อยเถิด อุบาสก จงถวาย แต่น้อยเถิด” ชายกรรมกรผู้ยากจนกล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พวกพระคุณเจ้าอย่า เข้าใจว่าผู้นี้เป็นกรรมกรยากจน แล้วรับแต่น้อยๆ เลย กระผมได้จัดเตรียมขาทนีย โภชนียาหารไว้อย่างเพียงพอ พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับให้พอแก่ความ ต้องการเถิด” ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พวกอาตมาขอรับแต่น้อย ไม่ใช่เพราะเหตุนั้น แต่ พวกอาตมาได้เที่ยวบิณฑบาตฉันมาแต่เช้าแล้วต่างหาก ดังนั้น พวกอาตมาจึงขอ รับแต่น้อยๆ” ลำดับนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พระคุณเจ้าทั้งหลายที่เรานิมนต์ไว้แล้ว จึงได้ไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า เราไม่ สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินชายกรรมกรผู้ยากจนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา ภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วจึงไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุ เหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่ง แล้วไปฉันอีกในที่อีกแห่งหนึ่ง จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงรับ นิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะ๑- สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๒๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ภิกษุอีกรูปหนึ่งนำบิณฑบาตไปถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุรูปที่เป็นไข้นั้นดังนี้ว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด ขอรับ” ภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “ไม่ล่ะขอรับ กระผมมีภัตตาหารที่หวังว่าจะได้” @เชิงอรรถ : @ ฉันปรัมปรโภชนะ คือภิกษุรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของทายกรายหนึ่งแล้ว ไปฉันภัตตาหารของทายกราย @อื่นก่อนแล้วกลับมาฉันรายแรกภายหลัง โดยมิได้ยกนิมนต์รายแรกให้ภิกษุรูปอื่น (กงฺขา.อ. ๒๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ทายกนำบิณฑบาตมาถวายภิกษุเป็นไข้รูปนั้น ในเวลาสาย ภิกษุเป็นไข้รูป นั้นฉันไม่ได้ตามที่คิดไว้ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง ทราบ
ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันปรัมปรโภชนะได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ
ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๒๓] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว จะให้ครองจีวร ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉัน ปรัมปรโภชนะ” ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัย ที่ถวายจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๒๔] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันปรัมปรโภชนะ” จึงไม่รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำ จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๒๕] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัย ในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้
[๒๒๖] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตร และจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะเสด็จเข้าไปตระกูลหนึ่ง ครั้นถึงแล้วได้ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น พวกชาวบ้านได้ถวายโภชนาหารแด่พระผู้มีพระภาคและท่านพระ อานนท์ ท่านพระอานนท์มีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับประเคน พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “รับเถิด อานนท์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ามี ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงวิกัปไว้แล้วรับ”๑- ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะ ได้แล้วฉันปรัมปรโภชนะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ อย่างนี้
คำวิกัปอาหาร
กระผมถวายภัตตาหารที่กระผมหวังว่าจะได้แก่ภิกษุชื่อนี้๒-
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๒๗] ที่ชื่อว่า ปรัมปรโภชนะ คือ ภิกษุที่ทายกนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ งดเว้นโภชนะนั้น ไปฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง อื่นจากที่ตนรับนิมนต์ไว้ อย่างนี้ชื่อว่าปรัมปรโภชนะ คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ นั่ง ณ อาสนะแห่งเดียว ไม่อาจจะฉันให้พอแก่ ความต้องการได้ ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้ พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ ถวายจีวร พึงฉันได้ @เชิงอรรถ : @ วิกัปภัตตาหาร คือยกภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ก่อนให้ภิกษุรูปอื่น @ ในคัมภีร์บริวารและคัมภีร์ฎีกานับการวิกัปภัตตาหารเป็นพระอนุบัญญัติ (วิ.ป. ๘/๘๖/๓๔, @สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๒๖/๗๐, วิมติ. ฏีกา ๒/๒๒๑/๓๘, กงฺขา. ฏีกา ๔๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร

ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำจีวร พึงฉันได้ ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๒๘] ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๒๙] ๑. ภิกษุฉันในสมัย ๒. ภิกษุวิกัปแล้วฉัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร

๓. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน ๔. ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ ๕. ภิกษุที่ชาวตำบลทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในตำบลนั้น ๖. ภิกษุที่สมาคมทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในสมาคมนั้น ๗. ภิกษุรับนิมนต์แต่บอกว่าจะรับภิกษา ๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์ ๙. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก ๑๐. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์ ๑๑. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ ๑๒. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท ๑๓. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕ ๑๔. ภิกษุวิกลจริต ๑๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปรัมปรโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๗๙-๓๘๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=69              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10444&Z=10589                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=486              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=486&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8279              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=486&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8279                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc33/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :