ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สารณียวรรค ๖. นกุลปิตุสูตร

๖. นกุลปิตุสูตร
ว่าด้วยนกุลปิตาคหบดี
[๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ สมัยนั้น นกุลปิตาคหบดีมีความเจ็บไข้ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น นกุลมาตาคหปตานีได้กล่าวเตือนนกุลปิตาคหบดีว่า คหบดี ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใย๑- เลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมี ความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน ๑. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา- คหปตานีจักไม่สามารถเลี้ยงทารก และครองเรือนอยู่ได้’ ท่านไม่ ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันเป็นคนฉลาดปั่นฝ้าย ทำขนสัตว์ เมื่อท่านตายไปแล้ว ดิฉันสามารถเลี้ยงดูทารก และครองเรือนอยู่ได้ เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะ การตายของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ ทรงติเตียน ๒. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา- คหปตานีจักได้ชายอื่นเป็นสามี’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ ทั้งท่าน และดิฉันย่อมรู้ว่าได้อยู่ร่วมกันประพฤติเคร่งครัดต่อระเบียบประเพณี ของผู้ครองเรือนตลอด ๑๖ ปี เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้ง ที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน ๓. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา- คหปตานีจักไม่ต้องการเห็นพระผู้มีพระภาค ไม่ต้องการเห็นภิกษุสงฆ์’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะดิฉันต้องการเห็นพระผู้มีพระภาค อย่างยิ่ง ต้องการเห็นภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่า @เชิงอรรถ : @ ความห่วงใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๓๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สารณียวรรค ๖. นกุลปิตุสูตร

ได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความ ห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน ๔. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘เมื่อเราตายไปแล้ว นกุลมาตา- คหปตานีจักไม่ทำศีลให้บริบูรณ์’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะ สาวิกาทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้าขาว บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ มีจำนวนเท่าใด ดิฉันก็เป็น คนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดพึงมีความสงสัยหรือ เคลือบแคลง ผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าผู้กำลังประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน นคร สุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะแล้วทูลถามเถิด เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่า ได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความ ห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน ๕. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘นกุลมาตาคหปตานีจักไม่ได้ ความสงบใจในภายใน’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะสาวิกา ทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่ม ผ้าขาว ได้ความสงบใจในภายใน มีจำนวนเท่าใด ดิฉันก็เป็นคน หนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใดมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง ผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลัง ประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน นครสุงสุมารคีระ แคว้น ภัคคะ แล้วทูลถามเถิด เพราะฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมี ความห่วงใยเลย เพราะการตายของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน ๖. ท่านมีความห่วงใยอย่างนี้หรือว่า ‘นกุลมาตาคหปตานียังไม่ถึงการ หยั่งลง ยังไม่ถึงที่พึ่ง ยังไม่ถึงความเบาใจ ยังไม่ข้ามพ้นความ สงสัย ยังไม่ปราศจากความเคลือบแคลง ยังไม่ถึงความแกล้วกล้า ยังไม่ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๑- ในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ใน ศาสนาของพระศาสดา’ ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนี้ เพราะสาวิกา @เชิงอรรถ : @ ความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงอาศัยผู้อื่นสนับสนุน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๓๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สารณียวรรค ๖. นกุลปิตุสูตร

ทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่ม ผ้าขาว ถึงการหยั่งลง ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจากความมี ผู้อื่นเป็นปัจจัย ในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาสนาของพระศาสดามี จำนวนเท่าใด ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น ก็ผู้ใด พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง ผู้นั้นจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ ภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬา- มิคทายวัน นครสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะแล้วทูลถามเถิด เพราะ ฉะนั้นแล ท่านอย่าได้ตายทั้งที่ยังมีความห่วงใยเลย เพราะการตาย ของผู้ที่ยังมีความห่วงใย เป็นทุกข์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงติเตียน ครั้งนั้น เมื่อนกุลมาตาคหปตานีกล่าวเตือนนกุลปิตาคหบดีด้วยคำเตือนนี้ ความเจ็บไข้นั้นได้สงบระงับโดยพลัน ท่านนกุลปิตาคหบดีได้หายจากความเจ็บไข้นั้น และนกุลปิตาคหบดีละความเจ็บไข้นั้น ละได้โดยอาการอย่างนั้น ครั้งนั้นแล นกุลปิตาคหบดี พอหายจากความเจ็บไข้เท่านั้น ยังฟื้นจากไข้ ไม่นาน ก็ถือไม้เท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับนกุลปิตาคหบดี ดังนี้ว่า “คหบดี เป็นลาภของท่านหนอ ท่านได้ดีแล้วหนอ ที่นกุลมาตาคหปตานี เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์กล่าวตักเตือนพร่ำสอนท่าน คหบดี สาวิกาทั้งหลาย ของเราที่ยังเป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ทำศีลให้บริบูรณ์ มีจำนวนเท่าใด นกุลมาตา- คหปตานีก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น คหบดี สาวิกาทั้งหลายของเราที่ยัง เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ได้ความสงบใจในภายใน มีจำนวนเท่าใด นกุลมาตา- คหปตานี ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น คหบดี สาวิกาทั้งหลายของเราที่ยัง เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว ถึงการหยั่งลง ถึงที่พึ่ง ถึงความเบาใจ ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัยใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาสนาของศาสดา มีจำนวนเท่าใด นกุลมาตาคหปตานีก็เป็นคน หนึ่งในจำนวนสาวิกาเหล่านั้น คหบดี เป็นลาภของท่านหนอ ท่านได้ดีแล้วหนอ ที่นกุลมาตาคหปตานีเป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ กล่าวตักเตือนพร่ำสอนท่าน”
นกุลปิตุสูตรที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๓๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๓๖-๔๓๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=267              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=7009&Z=7080                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=287              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=287&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2367              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=287&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2367                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i282-e.php#sutta6 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an06/an06.016.than.html https://suttacentral.net/an6.16/en/sujato https://suttacentral.net/an6.16/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :