ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
ว่าด้วยโพธิกุมารโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสว่า) [๑๒๔] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงรีบร้อนฉวยเอาไม้เท้า หนังเสือ ร่ม รองเท้า ไม้ตะขอ บาตร และผ้าพาด ท่านปรารถนาจะไปยังทิศไหนหนอ (พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๒๕] ตลอด ๑๒ ปีนี้ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตร อาตมภาพไม่ได้รู้จักเสียงสุนัขสีน้ำตาลเห่าคำรามเลย [๑๒๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่ สุนัขตัวนี้นั้น มันแยกเขี้ยวสีขาว เห่าคำรามอย่างร้อนรน เพราะได้ยินพระดำรัสของพระองค์ พร้อมทั้งพระมเหสีผู้สิ้นศรัทธาอาตมภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

(พระราชาตรัสว่า) [๑๒๗] ท่านพราหมณ์ โทษนั้นเป็นความผิด ที่โยมกระทำแล้วจริงตามที่ท่านกล่าว โยมนั้นเลื่อมใสท่านอย่างยิ่ง ขอนิมนต์อยู่เถิด อย่าไปเลย ท่านพราหมณ์ (พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๒๘] เมื่อแรก ข้าวสุกสีขาวล้วน ต่อมาก็กระดำกระด่าง บัดนี้กลายเป็นสีแดงล้วน จึงเป็นกาลสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป [๑๒๙] เมื่อแรก อาสนะอยู่ภายใน ต่อมาอยู่ท่ามกลาง ต่อมาอยู่ภายนอก อาตมภาพขอไปเองก่อนที่จะถูกขับจากเมือง [๑๓๐] บุคคลไม่พึงคบหาคนผู้สิ้นศรัทธาเหมือนบ่อน้ำที่ไม่มีน้ำ ถึงแม้จะพยายามขุดมันขึ้น น้ำก็จะพึงมีกลิ่นโคลนตม [๑๓๑] บุคคลพึงคบหาผู้ที่เลื่อมใสเท่านั้น พึงเว้นคนผู้ไม่เลื่อมใส พึงเข้าไปใกล้คนผู้เลื่อมใส เหมือนคนต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ [๑๓๒] บุคคลพึงคบหาคนที่คบด้วย ไม่พึงคบหาคนที่ไม่คบด้วย บุคคลใดไม่คบหาคนที่คบด้วย บุคคลนั้นชื่อว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ [๑๓๓] ผู้ใดไม่คบหาคนที่คบด้วย ไม่เสวนาคนที่เสวนาด้วย ผู้นั้นแลเป็นคนชั่วช้าที่สุด เหมือนลิงที่อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๓๔] มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกัน เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ คือ ๑. เพราะการคลุกคลีกันพร่ำเพรื่อเกินไป ๒. เพราะการไม่ร่วมสโมสรกัน ๓. เพราะขอในเวลาอันไม่สมควร [๑๓๕] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงไปมาหาสู่กันจนพร่ำเพรื่อ ไม่ควรเหินห่างกันไปจนเนิ่นนาน และพึงขอสิ่งที่ควรขอตามกาลอันสมควร เมื่อเป็นเช่นนี้ มิตรทั้งหลายย่อมจะไม่แหนงหน่ายกัน [๑๓๖] คนผู้เป็นที่รักย่อมกลับกลายไม่เป็นที่รัก เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป อาตมภาพขอถวายพระพรลามหาบพิตรไป ก่อนที่อาตมาจะไม่เป็นที่รักของมหาบพิตร (พระราชาตรัสว่า) [๑๓๗] หากพระคุณเจ้าไม่ยอมรับรู้ การอัญชลีของปริจารชนสัตบุรุษผู้อ้อนวอนอยู่อย่างนี้ และไม่ยอมกระทำตามคำขอร้องของโยม โยมขอวิงวอนพระคุณเจ้าอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้าพึงแวะมาอีก (พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๑๓๘] ขอถวายพระพร มหาราชผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ หากว่าเมื่อเรายังคงเป็นอยู่อย่างนี้ อันตรายจักไม่มีแก่มหาบพิตรหรือแก่อาตมาไซร้ เมื่อวันคืนล่วงไป เราคงจะได้พบกันบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๓๙] หากถ้อยคำของมหาบพิตรเป็นไปตามคติของตน และตามสภาวะที่เป็นจริงไซร้ เพราะไม่มีความประสงค์ สัตว์จึงทำกรรมที่ไม่ควรทำบ้าง ที่ควรทำบ้าง เมื่อกระทำโดยไม่มีความประสงค์ ใครเล่าในโลกนี้ จะแปดเปื้อนบาป [๑๔๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว [๑๔๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น [๑๔๒] ถ้าพระผู้เป็นใหญ่๑- กำหนดชีวิต จัดสรรฤทธิ์ ความหายนะ และกรรมดีกรรมชั่วแก่ชาวโลกทั้งปวงไซร้ คนผู้ทำตามคำสั่งทำบาป พระผู้เป็นใหญ่ย่อมแปดเปื้อนบาปนั้นเอง [๑๔๓] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว [๑๔๔] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น @เชิงอรรถ : @ พระผู้เป็นใหญ่ หมายถึงพระพรหมหรือพระเป็นเจ้าองค์อื่นจัดแจงตรวจตราชีวิตแก่ชาวโลกทั้งหมด @(ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๒/๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๔๕] ถ้าว่าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนกระทำไว้ในชาติปางก่อน เขาย่อมเปลื้องหนี้คือบาปกรรมเก่าที่ตนทำไว้นั้นได้ เมื่อความพ้นหนี้คือบาปกรรมเก่ามีอยู่ ใครเล่าในโลกนี้จะแปดเปื้อนบาป [๑๔๖] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว [๑๔๗] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น [๑๔๘] รูปของสัตว์ย่อมเกิดมีได้ เพราะอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น ก็รูปย่อมเกิดมีได้เพราะมหาภูตรูปใด ก็คล้อยไปตามมหาภูตรูป๑- นั่นเอง [๑๔๙] ชีวะย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ละไปแล้ว ละทิ้งไปแล้ว ย่อมพินาศ โลกนี้ย่อมขาดสูญ ทั้งคนพาลและบัณฑิตก็ขาดสูญ เมื่อโลกขาดสูญอยู่ ใครเล่าในโลกนี้ย่อมแปดเปื้อนบาป @เชิงอรรถ : @ คล้อยไปตามมหาภูตรูป หมายถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) ตาย @ลงในเวลาใด ร่างกายส่วนที่เป็นดินก็กลับกลายเป็นดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับกลายเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นไฟ @ก็กลับกลายเป็นไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับกลายเป็นลมในเวลานั้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๘/๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๕๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว [๑๕๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น [๑๕๒] นักปกครองทั้งหลายที่เป็นคนพาล สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ได้กล่าวไว้ในโลกว่า “บุคคลพึงฆ่ามารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย และบุตรภรรยา ถ้าพึงมีความประสงค์เช่นนั้น” [๑๕๓] บุคคลพึงนั่งหรือนอนใต้ร่มต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่ว [๑๕๔] ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็พึงถอนแม้ทั้งราก อาตมภาพมีความต้องการอาหาร วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว [๑๕๕] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว [๑๕๖] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๕๗] คนผู้มีวาทะว่าไม่มีเหตุ ๑ คนผู้มีวาทะว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก ๑ คนผู้มีวาทะว่าสุขทุกข์เกิดมีเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน ๑ คนผู้มีวาทะว่าโลกนี้ขาดสูญ ๑ คนผู้เป็นนักปกครองที่เป็นพาล ๑ [๑๕๘] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร [๑๕๙] ในปางก่อน หมาป่าตัวหนึ่งปลอมตัวเป็นแพะ ไม่ถูกระแวงสงสัยจึงเข้าไปหาฝูงแพะ ฆ่าทั้งแม่แพะ แพะตัวเมีย และแพะตัวผู้ ทำให้เกิดความสะดุ้งกลัวแล้วจึงไปตามความปรารถนา [๑๖๐] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งก็มีวิธีการอย่างนั้น กระทำการปิดบังตน หลอกลวงมนุษย์ทั้งหลาย บางพวกไม่บริโภคอาหาร บางพวกนอนบนแผ่นดิน บางพวกทำการฉาบทาเถ้าธุลีที่ร่างกาย บางพวกทำความเพียรโดยการเดินกระโหย่ง บางพวกบริโภคอาหารเป็นครั้งคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์ [๑๖๑] สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๖๒] คนเหล่าใดกล่าวว่า ความเพียรไม่มี ๑ ประกาศความไม่มีเหตุ ๑ พรรณนาการกระทำของผู้อื่นและการกระทำของตน ว่าเป็นการสูญเปล่า ๑ [๑๖๓] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร [๑๖๔] ก็ถ้าว่าความเพียรไม่พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่พึงมี พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงช่างไม้ แม้เครื่องยนต์ทั้งหลายก็จะไม่พึงให้สร้าง [๑๖๕] แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วก็มีอยู่ ฉะนั้น พระราชาจึงทรงให้สร้างเครื่องยนต์ และทรงชุบเลี้ยงช่างไม้ไว้ [๑๖๖] หากฝนไม่พึงตก หิมะไม่พึงตกตลอด ๑๐๐ ปี โลกนี้ก็พึงขาดสูญ หมู่สัตว์นี้พึงพินาศไป [๑๖๗] แต่เพราะฝนยังตกอยู่ และหิมะยังโปรยปรายอยู่เนืองๆ ฉะนั้น ข้าวกล้าจึงเผล็ดผล และทำให้พระราชาปกครองแคว้นได้ยั่งยืน [๑๖๘] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๖๙] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้น ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์ [๑๗๐] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง [๑๗๑] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้น ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑- [๑๗๒] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล คนใดปลิดเอาผลดิบ คนนั้นจะไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักพินาศไปด้วย [๑๗๓] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชาพระองค์นั้นจะไม่ทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักพินาศไปด้วย [๑๗๔] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล คนใดปลิดเอาผลสุก คนนั้นจึงจะรู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย @เชิงอรรถ : @ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๘๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)

[๑๗๕] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองแคว้นโดยธรรม พระราชาพระองค์นั้นจึงจะทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย [๑๗๖] ส่วนขัตติยราชพระองค์ใด ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงเป็นผู้คลาดจากโอสถ๑- ทั้งปวง [๑๗๗] ขัตติยราชพระองค์ใดทรงเบียดเบียนชาวนิคม ผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและราชพลี๒- ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาด จากพระคลังสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน [๑๗๘] พระราชาพระองค์ใดทรงเบียดเบียน นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารเป็นอย่างดี ๑ ทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม ๑ มหาอำมาตย์ผู้เลื่องลือ ๑ พระราชาพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากกำลังพล [๑๗๙] พระราชาผู้เป็นกษัตริย์พระองค์ใดผู้ไม่ประพฤติธรรม ทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษีผู้มีความสำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากสวรรค์เช่นนั้นเหมือนกัน [๑๘๐] อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ทรงประหารพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมทรงประสบฐานะอันหยาบช้า และคลาดจากพระโอรสทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ โอสถ หมายถึงรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เป็นต้น ที่เป็นยา รวมถึงเนยใส เนยข้น @ที่เป็นยาด้วย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๖/๗๗) @ โอชะและราชพลี หมายถึงรสที่ได้จากสิ่งของต่างๆ ที่ชาวชนบทถวายพร้อมทั้งการเสียภาษีอากรด้วย @(ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๗/๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]

รวมชาดกที่มีในวรรค

[๑๘๑] พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท ในชาวนิคม และในกำลังพล ไม่พึงทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษี และพึงประพฤติให้สม่ำเสมอ ในพระโอรสและพระชายา [๑๘๒] พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรงปกครองแคว้น ไม่ทรงเกรี้ยวกราดเช่นนั้น ท้าวเธอย่อมทรงทำศัตรูให้หวั่นไหว ประดุจพระอินทร์ผู้เป็นอธิบดีแห่งอสูรฉะนั้นแล
มหาโพธิชาดกที่ ๓ จบ
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๑. นฬินิกาชาดก ๒. อุมมาทันตีชาดก ๓. มหาโพธิชาดก
ปัญญาสนิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๒๔-๓๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=3              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=321&Z=451                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=52              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=52&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=1064              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=52&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=1064                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja528/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :