ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ปริวาร

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

๑. อนุวิชชกอนุโยค

โจทนากัณฑ์
ว่าด้วยหมวดการโจท
๑. อนุวิชชกอนุโยค
ว่าด้วยข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[๓๖๐] ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ พึงถามโจทก์ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุ รูปนี้นั้น โจทเพราะเรื่องอะไร ท่านโจทด้วยสีลวิบัติ โจทด้วยอาจารวิบัติ หรือโจท ด้วยทิฏฐิวิบัติ ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยสีลวิบัติ โจทด้วย อาจารวิบัติ หรือโจทด้วยทิฏฐิวิบัติ ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์ อย่างนี้ว่า ท่านรู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิวิบัติหรือ ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพเจ้ารู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิวิบัติ ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ก็ สีลวิบัติเป็นไฉน อาจารวิบัติเป็นไฉน ทิฏฐิวิบัติเป็นไฉน ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นี้จัดเป็นสีลวิบัติ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต นี้จัดเป็นอาจารวิบัติ มิจฉาทิฏฐิ อันตคาหิกทิฏฐิ นี้จัดเป็นทิฏฐิวิบัติ ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุ รูปนี้นั้น ท่านโจทด้วยเรื่องที่ได้เห็น ด้วยเรื่องที่ได้ยิน หรือด้วยเรื่องที่นึกสงสัย ถ้าโจทก์นั้นตอบอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่เห็น ด้วยเรื่องที่ได้ยิน หรือ ด้วยเรื่องที่นึกสงสัย ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามโจทก์อย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุ รูปนี้ด้วยเรื่องที่ได้เห็นนั้น ท่านเห็นอะไร เห็นอย่างไร เห็นเมื่อไร เห็นที่ไหน ท่าน เห็นภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก หรือท่านเห็นภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๓}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

๑. อนุวิชชกอนุโยค

ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิตหรือ อนึ่ง ท่านอยู่ที่ไหน และ ภิกษุรูปนี้อยู่ที่ไหน ท่านทำอะไรอยู่ ภิกษุรูปนี้ทำอะไรอยู่ ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพเจ้ามิได้โจทภิกษุรูปนี้ด้วยเรื่องที่ได้เห็น แต่ข้าพเจ้าโจทด้วยเรื่องที่ได้ยิน ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุรูปนี้ ด้วยเรื่องที่ได้ยินนั้น ท่านได้ยินอะไร ได้ยินอย่างไร ได้ยินเมื่อไร ได้ยินที่ไหน ท่านได้ยินว่าภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก หรือท่านได้ยินว่าภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต หรือท่านได้ยินจาก ภิกษุ หรือได้ยินจากภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา ราชมหาอมาตย์ เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ หรือ ถ้าโจทก์ตอบอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้าพเจ้ามิได้โจทภิกษุรูปนี้ด้วยเรื่องที่ได้ยิน แต่ว่าโจทด้วยเรื่องที่นึกสงสัย ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงซักถามอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อที่ท่านโจทภิกษุรูปนี้ ด้วยเรื่องที่นึกสงสัยนั้น ท่านนึกสงสัยอะไร นึกสงสัยอย่างไร นึกสงสัยเมื่อไร นึกสงสัยที่ไหน ท่านนึกสงสัยว่าภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิก หรือท่านนึกสงสัยว่า ภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต หรือท่านได้ยินจากภิกษุแล้วนึกสงสัย หรือได้ยินจากภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา ราชมหาอมาตย์ เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ แล้วนึกสงสัยหรือ
เปรียบเทียบอธิกรณ์
[๓๖๑] เรื่องที่ได้เห็นสมด้วยเรื่องที่ได้เห็น เรื่องที่ได้เห็นเทียบกันได้กับเรื่องที่ได้เห็น แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับ เพราะอาศัยการเห็น บุคคลนั้นถูกสงสัยว่าไม่บริสุทธิ์ พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๔}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

๑. อนุวิชชกอนุโยค

เรื่องที่ได้ยินสมด้วยเรื่องที่ได้ยิน เรื่องที่ได้ยินเทียบกันได้กับเรื่องที่ได้ยิน แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับ เพราะอาศัยการได้ยิน บุคคลนั้นถูกสงสัยว่าไม่บริสุทธิ์ พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้น เรื่องที่ได้ทราบสมด้วยเรื่องที่ได้ทราบ เรื่องที่ได้ทราบเทียบกันได้กับเรื่องที่ได้ทราบ แต่บุคคลนั้นไม่ยอมรับ เพราะอาศัยการได้ทราบ บุคคลนั้นถูกสงสัยว่าไม่บริสุทธิ์ พึงปรับอาบัติตามปฏิญญา พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้นเถิด
ข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์
[๓๖๒] ถาม : การโจทมีอะไรเป็นเบื้องต้น มีอะไรเป็นท่ามกลาง มีอะไรเป็นที่สุด ตอบ : การโจทมีโอกาสเป็นเบื้องต้น มีการทำเป็นท่ามกลาง มีการระงับเป็นที่สุด ถาม : การโจทมีมูลเท่าไร มีวัตถุเท่าไร มีภูมิเท่าไร โจทด้วยอาการเท่าไร ตอบ : การโจทมีมูล ๒ มีวัตถุ ๓ มีภูมิ ๕ โจทด้วยอาการ ๒ อย่าง ถาม : การโจทมีมูล ๒ เป็นไฉน ตอบ : การโจทมีมูล การโจทไม่มีมูล นี้การโจทมีมูล ๒ ถาม : การโจทมีวัตถุ ๓ เป็นไฉน ตอบ : เรื่องที่ได้เห็น เรื่องที่ได้ยิน เรื่องที่นึกสงสัย นี้การโจทมีวัตถุ ๓ ถาม : การโจทมีภูมิ ๕ เป็นไฉน ตอบ : ๑. จักโจทโดยกาลที่สมควร จักไม่โจทโดยกาลไม่ควร ๒. จักโจทด้วยเรื่องจริง จักไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง ๓. จักโจทด้วยคำสุภาพ จักไม่โจทด้วยคำหยาบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๕}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

๒. โจทกาทิปฏิปัตติ

๔. จักโจทด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ จักไม่โจทด้วยเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ๕. จักมีเมตตาจิตโจท จักไม่มุ่งร้ายโจท นี้การโจทมีภูมิ ๕ ถาม : โจทด้วยอาการ ๒ อย่าง เป็นไฉน ตอบ : โจทด้วยกาย โจทด้วยวาจา นี้โจทด้วยอาการ ๒ อย่าง
๒. โจทกาทิปฏิปัตติ
ว่าด้วยข้อปฏิบัติของโจทก์ เป็นต้น
[๓๖๓] โจทก์พึงปฏิบัติอย่างไร จำเลยพึงปฏิบัติอย่างไร สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างไร ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงปฏิบัติอย่างไร ถาม : โจทก์พึงปฏิบัติอย่างไร ตอบ : โจทก์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่าง แล้วจึงโจทผู้อื่น คือ ๑. จักโจทโดยกาลที่สมควร จักไม่โจทโดยกาลไม่ควร ๒. จักโจทด้วยเรื่องจริง จักไม่โจทด้วยเรื่องไม่จริง ๓. จักโจทด้วยคำสุภาพ จักไม่โจทด้วยคำหยาบ ๔. จักโจทด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ จักไม่โจด้วยเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ๕. จักมีเมตตาจิตโจท จักไม่มุ่งร้ายโจท โจทก์พึงปฏิบัติอย่างนี้ ถาม : จำเลยพึงปฏิบัติอย่างไร ตอบ : จำเลยพึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ๑. ในความสัตย์ ๒. ในความไม่ขุ่นเคือง จำเลยพึงปฏิบัติอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๖}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

๒. โจทกาทิปฏิปัตติ

ถาม : สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างไร ตอบ : สงฆ์พึงรู้คำที่เข้าประเด็นและไม่เข้าประเด็น สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างนี้ ถาม : ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ควรปฏิบัติอย่างไร ตอบ : ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงระงับอธิกรณ์นั้น โดยประการที่อธิกรณ์นั้นจะ ระงับโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงปฏิบัติอย่างนี้
ว่าด้วยอุโบสถ เป็นต้น
[๓๖๔] ถาม : อุโบสถเพื่อประโยชน์อะไร ปวารณาเพื่อเหตุอะไร ปริวาสเพื่อประโยชน์อะไร การชักเข้าหาอาบัติเดิมเพื่อเหตุอะไร มานัตเพื่อประโยชน์อะไร อัพภานเพื่อเหตุอะไร ตอบ : อุโบสถเพื่อประโยชน์แก่ความพร้อมเพรียง ปวารณาเพื่อประโยชน์แก่ความหมดจด ปริวาสเพื่อประโยชน์แก่มานัต การชักเข้าหาอาบัติเดิมเพื่อประโยชน์แก่นิคคหะ มานัตเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน อัพภานเพื่อประโยชน์แก่ความหมดจด ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์มีปัญญาทราม โง่เขลา และไม่มีความเคารพในสิกขาบริภาษพระเถระ ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะหลง เป็นผู้ขุดตนกำจัดอินทรีย์แล้ว เพราะกายแตกย่อมเข้านรก ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ไม่พึงเห็นแก่อามิส และไม่พึงเห็นแก่บุคคล ควรเว้นสองอย่างนั้นแล้ว ทำตามที่เป็นธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๗}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

๓. โจทกัสสอัตตฌาปนะ

๓. โจทกัสสอัตตฌาปนะ
ว่าด้วยการเผาตนของภิกษุผู้เป็นโจทก์
โจทก์เป็นผู้มักโกรธ มักถือโกรธ ดุร้าย มักกล่าวบริภาษ ย่อมปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์กระซิบใกล้หูคอยจับผิด ทำให้บกพร่อง เสพทางผิด ย่อมปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์โจทโดยกาลอันไม่ควร โจทด้วยคำไม่จริง โจทด้วยคำหยาบ โจทด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มุ่งร้ายโจทไม่มีเมตตาจิตโจท ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้ธรรมและอธรรม ไม่ฉลาดในธรรมและอธรรม ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้วินัยและมิใช่วินัย ไม่ฉลาดในวินัยและมิใช่วินัย ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระตถาคตภาษิตไว้และมิได้ภาษิตไว้ ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระตถาคตภาษิตไว้และมิได้ภาษิตไว้ ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาและมิได้ทรงประพฤติมา ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาและมิได้ทรงประพฤติมา ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้และมิได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้และมิได้ทรงบัญญัติไว้ ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๘}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์]

หัวข้อประจำกัณฑ์

โจทก์ไม่รู้อาบัติและอนาบัติ ไม่ฉลาดในอาบัติและอนาบัติ ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้อาบัติเบาและอาบัติหนัก ไม่ฉลาดในอาบัติเบาและอาบัติหนัก ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้อาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติไม่มีส่วนหลือ ไม่ฉลาดในอาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติไม่มีส่วนหลือ ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้อาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ ไม่ฉลาดในอาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้คำต้นและคำหลัง ไม่ฉลาดในคำต้นและคำหลัง ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน โจทก์ไม่รู้ทางถ้อยคำอันต่อเนื่องกัน ไม่ฉลาดต่อทางถ้อยคำอันต่อเนื่องกัน ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน แล
โจทนากัณฑ์ จบ
หัวข้อประจำกัณฑ์
การโจท ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เป็นเบื้องต้น มีมูล อุโบสถ คติ เป็นคำสั่งสอนที่คงอยู่ในโจทนากัณฑ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๔๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๕๔๓-๕๔๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=8&siri=97              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=8&A=9565&Z=9694                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1077              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=8&item=1077&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=11264              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=8&item=1077&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=11264                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr13/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-pvr13/en/horner-brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :