|
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๕. ๑๐. เรื่องพระอุบลวรรณาเถรี [๕๔] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถรีนามว่าอุบลวรรณา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มธุวา มญฺญตี พาโล" เป็นต้น.
พระเถรีตั้งความปรารถนา
ดังได้สดับมา พระเถรีนั้นตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
กระทำบุญทั้งหลาย สิ้นแสนกัลป์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐีในกรุงสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้.
ก็มารดาบิดาได้ตั้งชื่อนางว่า อุบลวรรณา เพราะนางมีผิวพรรณเหมือนกลีบอุบลเขียว.
ต่อมาในกาลที่นางเจริญวัยแล้ว พระราชาและเศรษฐีทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ส่งบรรณาการไปสู่สำนักของเศรษฐีว่า "ขอเศรษฐีจงให้ธิดาแก่เรา"
ชื่อว่าคนผู้ไม่ส่งบรรณาการไป มิได้มี. ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า "เราจักไม่สามารถเอาใจของคนทั้งหมดได้, แต่เราจักทำอุบายสักอย่างหนึ่ง."
เศรษฐีนั้นเรียกธิดามาแล้วกล่าวว่า "แม่ เจ้าจักอาจเพื่อบวชไหม?" คำของบิดาได้เป็นเหมือนน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้งอันเขารดลงบนศีรษะ
เพราะความที่นางมีภพมีในที่สุด เพราะฉะนั้น นางจึงกล่าวกะบิดาว่า "พ่อ ฉันจักบวช." เศรษฐีนั่นทำสักการะเป็นอันมากแก่นางแล้ว นำนางไปสู่สำนักนางภิกษุณี ให้บวชแล้ว.
พระอุบลวรรณาเถรีบรรลุพระอรหัต
เมื่อนางบวชแล้วไม่นาน วาระรักษาลูกดาลในโรงอุโบสถถึงแล้ว นางตามประทีป กวาดโรงอุโบสถ ยืนถือนิมิตแห่งเปลวประทีป แลดูแล้วๆ เล่าๆ ยังฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว
กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาทั้งหลายแล้ว.
โดยสมัยอื่น พระเถรีนั้นเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาแล้ว เข้าไปสู่ป่าอันธวัน. ในกาลนั้น พระศาสดายังไม่ทรงห้ามการอยู่ป่าของพวกนางภิกษุณี.
ครั้งนั้น พวกมนุษย์ทำกระท่อม ตั้งเตียงกั้นม่านไว้ในป่านั้นแก่พระเถรีนั้น. พระเถรีนั้นเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ออกมาแล้ว.
นันทมาณพข่มขืนพระเถรี
ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นบุตรแห่งลุงของพระเถรีนั้น มีจิตปฏิพัทธ์ตั้งแต่กาลแห่งพระเถรียังเป็นคฤหัสถ์
สดับความที่พระเถรีมา จึงไปสู่ป่าอันธวันก่อนแต่พระเถรีมาทีเดียว เข้าไปสู่กระท่อม ซ่อนอยู่ภายใต้เตียง พอเมื่อพระเถรีมาแล้ว เข้าไปสู่กระท่อม ปิดประตู นั่งลงบนเตียง เมื่อความมืดในคลองจักษุยังไม่ทันหาย
เพราะมาจาก (กลาง) แดดในภายนอก, จึงออกมาจากภายใต้เตียง ขึ้นเตียงแล้ว ถูกพระเถรีห้ามอยู่ว่า "คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย, คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย" ข่มขืนกระทำกรรมอันตนปรารถนาแล้วก็หนีไป.
ครั้งนั้น แผ่นดินใหญ่ประดุจว่าไม่อาจจะทรงโทษของเขาไว้ได้ แยกออกเป็น ๒ ส่วนแล้ว. เขาเข้าไปสู่แผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรกแล้ว.
ฝ่ายพระเถรีบอกเนื้อความแก่ภิกษุณีทั้งหลายแล้ว. พวกภิกษุณีแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. พวกภิกษุกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
คนพาลประสพทุกข์เพราะบาปกรรม
พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นพาล เมื่อทำกรรมลามก เป็นผู้ยินดีร่าเริง เป็นประดุจฟูขึ้นๆ ย่อมทำได้ ประดุจบุรุษเคี้ยวกินรสของหวาน มีจำพวกน้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น บางชนิด" ดังนี้แล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑๐. | มธุวา มญฺญตี พาโล | ยาว ปาปํ น ปจฺจติ
| | ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ | อถ (พาโล) ทุกฺขํ นิคจฺฉติ.
| | คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล,
| | ก็เมื่อใด บาปให้ผล, เมื่อนั้น คนพาล ย่อมประสพทุกข์. |
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มธุวา เป็นต้น ความว่า ก็เมื่อคนพาลกระทำบาป คืออกุศลกรรมอยู่ กรรมนั้นย่อมปรากฏดุจน้ำผึ้ง คือดุจน้ำหวาน ได้แก่ประดุจน่าใคร่ น่าชอบใจ, คนพาลนั้นย่อมสำคัญบาปนั้น เหมือนน้ำหวาน ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ยาว คือ ตลอดกาลเพียงใด.
สองบทว่า ปาปํ น ปจฺจติ ความว่า คนพาล ย่อมสำคัญบาปนั้นอย่างนั้น ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผลในทิฏฐธรรม หรือในสัมปรายภพ.
บทว่า ยทา จ ความว่า ก็ในกาลใด เมื่อคนพาลนั้นถูกทำกรรมกรณ์ต่างๆ ในทิฏฐธรรม หรือเสวยทุกข์ใหญ่ในอบายมีนรกเป็นต้นในสัมปรายภพ บาปนั้นชื่อว่าย่อมให้ผล; ในกาลนั้น คนพาลนั้นย่อมเข้าถึง คือประสพ ได้แก่กลับได้ทุกข์.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
พระขีณาสพไม่ยินดีกามสุข
โดยสมัยอื่น มหาชนสนทนากันในธรรมสภาว่า "แม้พระขีณาสพทั้งหลาย ชะรอยจะยังยินดีกามสุข ยังเสพกาม, ทำไมจักไม่ซ่องเสพ,
เพราะพระขีณาสพเหล่านั้นไม่ใช่ไม้ผุ ไม่ใช่จอมปลวก มีเนื้อและสรีระยังสดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แม้พระขีณาสพเหล่านั้น ยังยินดีกามสุข ยังเสพกาม."
พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาด้วยเรื่องอะไรกัน?" เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้"
จึงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายไม่ยินดีกามสุข ไม่เสพกาม, เหมือนอย่างว่า หยาดน้ำตกลงบนใบบัว ย่อมไม่ติด ไม่ตั้งอยู่, ย่อมกลิ้งตกไปทีเดียว และเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติด ไม่ตั้งอยู่ ที่ปลายเหล็กแหลม, ย่อมกลิ้งตกไปแน่แท้ ฉันใด
กามแม้ ๒ อย่าง ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ตั้งอยู่ในจิตของพระขีณาสพ ฉันนั้น. ดังนี้แล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ในพราหมณวรรคว่า๑- :-
เรากล่าวบุคคล ผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่ที่ปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์.
เนื้อความแห่งพระคาถานี้ จักแจ่มแจ้งในพราหมณวรรคนั่นแล.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๖.
ภิกษุณีควรอยู่ในพระนคร
ก็พระศาสดารับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาแล้ว ตรัสว่า
"มหาบพิตร แม้กุลธิดาทั้งหลาย ในพระศาสนานี้ ละหมู่ญาติอันใหญ่และกองแห่งโภคะมาก บวชแล้ว ย่อมอยู่ในป่า เหมือนอย่างกุลบุตรทั้งหลายเหมือนกัน,
คนลามกถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมเบียดเบียนภิกษุณีเหล่านั้นผู้อยู่ในป่า ด้วยสามารถแห่งการดูถูกดูหมิ่นบ้าง ให้ถึงอันตรายแห่งพรหมจรรย์บ้าง เพราะฉะนั้น พระองค์ควรทำที่อยู่ภายในพระนครแก่ภิกษุณีสงฆ์."
พระราชาทรงรับว่า "ดีละ" ดังนี้แล้ว รับสั่งให้สร้างที่อยู่เพื่อภิกษุณีสงฆ์ ที่ข้างหนึ่งแห่งพระนคร.
จำเดิมแต่นั้นมา พวกภิกษุณีย่อมอยู่ในละแวกบ้านเท่านั้น.
เรื่องพระอุบลวรรณาเถรี จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕ อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=434&Z=478 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=2059 The Pali Atthakatha in Roman https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=2059 - -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
|