ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 14อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 25 / 16อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕

หน้าต่างที่ ๑๓ / ๑๕.

               ๑๓. เรื่องสัฏฐิกูฏเปรต [๕๗]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภสัฏฐิกูฏเปรต๑- ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยาวเทว อนตฺถาย" เป็นต้น.
____________________________
๑- เปรตผู้มีศีรษะอันไม้ค้อน ๖ หมื่น ต่อยแล้ว

               พระมหาโมคคัลลานเถระเห็นสัฏฐิกูฏเปรต               
               ความพิสดารว่า พระมหาโมคคัลลานเถระ ลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พร้อมกับพระลักขณเถระ กระทำการยิ้มแย้มในประเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยนัยมีในก่อนนั้นแล ถูกพระเถระถามถึงเหตุแห่งการยิ้มแย้ม จึงกล่าวว่า "ท่านพึงถามผม ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า"
               ในกาลแห่งพระมหาโมคคัลลานเถระเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม นั่งแล้ว ถูกพระเถระถามอีก จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุ ผมได้เห็นเปรตตนหนึ่ง มีอัตภาพประมาณ ๓ คาวุต, ค้อนเหล็ก ๖ หมื่นอันไฟติดลุกโพลงแล้ว ตกไปเบื้องบนแห่งกระหม่อมของเปรตนั้นแล้ว ตั้งขึ้น ทำลายศีรษะ, ศีรษะที่แตกแล้วๆ ย่อมตั้งขึ้นอีก, โดยอัตภาพนี้ อัตภาพเห็นปานนี้ ผมยังไม่เคยเห็น, ผมเห็นอัตภาพนั้น จึงได้กระทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ."
               จริงอยู่ ในเรื่องเปรต พระมหาโมคคัลลานเถระหมายเอาซึ่งเปรตนี้นั่นแหละ
               จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า๑- :-
                         ค้อนเหล็ก ๖ หมื่น บริบูรณ์แล้วโดยประการทั้งปวง
                         ย่อมตกไปบนศีรษะของเจ้า ต่อยกระหม่อมอยู่เสมอ.

____________________________
๑- ขุ. เปต. เล่ม ๒๖/ข้อ ๑๓๖.

               พระศาสดาทรงรับรองว่าเปรตมี               
               พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระเถระแล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สัตว์นี้ แม้เรานั่งอยู่ที่โพธิมัณฑประเทศ ก็เห็นแล้วเหมือนกัน เราไม่บอกก็เพื่ออนุเคราะห์แก่คนเหล่าอื่นว่า ‘ก็แลคนเหล่าใด ไม่พึงเชื่อคำของเรา; ความไม่เชื่อนั้น พึงมีเพื่อกรรมไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเหล่านั้น’, แต่ว่า บัดนี้ เราเป็นพยานของโมคคัลลานะ จึงบอกได้." ภิกษุทั้งหลายฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงทูลถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้น.
               แม้พระศาสดาก็ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า :-

               บุรพกรรมของสัฏฐิกูฏเปรต               
               "ดังได้ยินมา ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี ได้มีบุรุษเปลี้ยคนหนึ่งถึงซึ่งความสำเร็จในศิลปะของบุคคลผู้ดีดก้อนกรวด. บุรุษนั้นนั่ง ณ ภายใต้ต้นไทรย้อยต้นหนึ่ง ใกล้ประตูพระนคร อันพวกเด็กชาวบ้านกล่าวอยู่ว่า "ท่านจงดีดก้อนกรวดไปเจาะใบไทรนั้นแสดงรูปช้างแก่พวกเรา, แสดงรูปม้าแก่พวกเรา" ก็แสดงรูปทั้งหลายอันพวกเด็กปรารถนาแล้วๆ ได้วัตถุมีของเคี้ยวเป็นต้น จากสำนักพวกเด็กเหล่านั้น.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน เสด็จถึงประเทศนั้น. พวกเด็กซ่อนบุรุษเปลี้ยไว้ในระหว่างย่านไทรแล้ว ก็หนีไป. เมื่อพระราชาเสด็จเข้าไปสู่โคนต้นไม้ในเวลาเที่ยงตรง เงาของช่องส่องต้องพระสรีระ. ท้าวเธอทรงดำริว่า "นี้อะไรหนอแล?" ทรงตรวจดูในเบื้องบน ทอดพระเนตรเห็นรูปมีรูปช้างเป็นต้นที่ใบไม้ทั้งหลาย จึงตรัสถามว่า "นี่กรรมของใคร?" ทรงสดับว่า "ของบุรุษเปลี้ย" จึงรับสั่งให้หาบุรุษเปลี้ยนั้นมาแล้ว ตรัสว่า "ปุโรหิตของเรา ปากกล้านัก เมื่อเราพูดแม้นิดหน่อย ก็พูดเสียมากมาย ย่อมเบียดเบียนเรา, ท่านอาจเพื่อดีดมูลแพะประมาณทะนานหนึ่ง เข้าในปากของปุโรหิตนั้นได้หรือ?"
               บุรุษเปลี้ยทูลว่า "อาจ พระเจ้าข้า, ขอพระองค์จงให้คนนำมูลแพะมา แล้วประทับนั่งภายในม่านกับปุโรหิต, ข้าพระองค์จักรู้กรรมที่ควรกระทำในเรื่องนี้."
               พระราชาได้ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้น.
               บุรุษเปลี้ยนอกนี้ ให้กระทำช่องไว้ที่ม่านด้วยปลายแห่งกรรไกร เมื่อปุโรหิตพูดกับด้วยพระราชา พออ้าปาก ก็ดีดมูลแพะไปทีละก้อนๆ. ปุโรหิตกลืนมูลแพะที่เข้าปากแล้วๆ. เมื่อมูลแพะหมด บุรุษเปลี้ยจึงสั่นม่าน.
               พระราชาทรงทราบความที่มูลแพะหมดด้วยสัญญานั้นแล้ว จึงตรัสว่า "ท่านอาจารย์ เราพูดกับท่าน จักไม่อาจจำคำไว้ได้, ท่านแม้กลืนกินมูลแพะประมาณทะนานหนึ่งแล้ว ยังไม่ถึงความเป็นผู้นิ่ง เพราะความที่ท่านมีปากกล้านัก."
               พราหมณ์ถึงความเป็นผู้เก้อ จำเดิมแต่นั้น ไม่อาจเพื่ออ้าปากเจรจากับพระราชาได้. พระราชารับสั่งให้เรียกบุรุษเปลี้ยมาแล้ว ตรัสว่า "เราได้ความสุขเพราะอาศัยท่าน" ทรงพอพระทัย จึงพระราชทานชื่อหมวด ๘ แห่งวัตถุทั้งสิ้นแก่เขา ได้พระราชทานบ้านส่วย ๔ ตำบล ในทิศทั้ง ๔ แห่งเมือง.
               อำมาตย์ผู้พร่ำสอนอรรถและธรรมของพระราชาทราบความนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
                         ชื่อว่าศิลปะ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้.
                         ท่านจงดูเถิด, ด้วยการดีดตามประสาคนเปลี้ย บุรุษเปลี้ยได้
                         บ้านส่วย อันตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔.

               (ก็อำมาตย์นั้น) โดยสมัยนั้น ได้เป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า คือเรานี่เอง.
               ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งเห็นสมบัติอันบุรุษเปลี้ยได้แล้ว จึงคิดว่า "บุรุษชื่อนี้ เป็นคนเปลี้ย อาศัยศิลปะนี้ จึงถึงแล้วซึ่งสมบัติใหญ่, แม้เราศึกษาศิลปะนี้ไว้ก็ควร." เขาเข้าไปหาบุรุษเปลี้ย ไหว้แล้วกล่าวว่า "ท่านอาจารย์ ขอท่านจงให้ศิลปะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด."
               บุรุษเปลี้ยกล่าวว่า "พ่อ เราไม่อาจให้ได้." เขาถูกบุรุษเปลี้ยนั้นห้ามแล้ว คิดว่า "ช่างเถอะ, เราจักยังบุรุษเปลี้ยนั้นให้ยินดี" จึงกระทำกิจมีการนวดมือและเท้าเป็นต้น แก่บุรุษเปลี้ยนั้นอยู่ ให้บุรุษเปลี้ยนั้นยินดีแล้วสิ้นกาลนาน วิงวอนบ่อยๆ แล้ว.
               บุรุษเปลี้ยคิดว่า "คนนี้มีอุปการะแก่เราเหลือเกิน" จึงมิอาจเพื่อห้ามเขาได้ ให้เขาศึกษาศิลปะแล้ว กล่าวว่า "พ่อ ศิลปะของท่านสำเร็จแล้ว, บัดนี้ท่านจักกระทำอะไรเล่า?"
               บุรุษ. ข้าพเจ้าจักไปทดลองศิลปะในภายนอก.
               บุรุษเปลี้ย. ท่านจักทำอย่างไร?
               บุรุษ. ข้าพเจ้าจักดีดแม่โคหรือมนุษย์ให้ตาย.
               บุรุษเปลี้ยกล่าวว่า "พ่อ เมื่อคนฆ่าแม่โค สินไหมมีอยู่ ๑๐๐, เมื่อฆ่ามนุษย์ สินไหมมีอยู่ ๑ พัน, ท่านแม้ทั้งบุตรและภรรยา จักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องสินไหมนั้นได้, ท่านจงอย่าฉิบหายเสียเลย เมื่อท่านประหารบุคคลใด ไม่ต้องเสียสินไหม, ท่านจะตรวจดูใครๆ ผู้หามารดาบิดามิได้เช่นนั้น."
               บุรุษนั้นรับว่า "ดีละ" แล้วเอากรวดใส่พกเที่ยวเลือกดูบุคคลเช่นนั้นอยู่ เห็นแม่โคแล้ว ไม่อาจดีดได้ด้วยคิดว่า "แม่โคนี้มีเจ้าของ" เห็นมนุษย์แล้วไม่อาจดีดได้ ด้วยคิดว่า "คนนี้มีมารดาบิดา."
               ก็โดยสมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุเนตตะ อาศัยพระนคร อยู่ในบรรณศาลา. บุรุษนั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ผู้เข้าไปเพื่อบิณฑบาต ยืนอยู่ที่ระหว่างประตูพระนคร จึงคิดว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้านี้ เป็นผู้ไม่มีมารดาบิดา, เมื่อเราดีดผู้นี้ ไม่ต้องมีสินไหม, เราจักดีดพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ ทดลองศิลปะ" ดังนี้แล้ว จึงดีดก้อนกรวดไป หมายช่องหูเบื้องขวาของพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               ก้อนกรวดเข้าไปโดยช่องหูเบื้องขวา ทะลุออกโดยช่องหูเบื้องซ้าย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว. พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่อาจจะเที่ยวไปเพื่อภิกษาได้ จึงไปสู่บรรณศาลาโดยอากาศ ปรินิพพานแล้ว.
               พวกมนุษย์ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มา คิดว่า "ความไม่ผาสุกอะไรๆ จักมี" จึงไปที่บรรณศาลานั้น เห็นท่านปรินิพพานแล้ว ร้องไห้คร่ำครวญแล้ว. แม้บุรุษนั้น เห็นมหาชนไปอยู่ ไปที่บรรณศาลานั้นแล้ว จำพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ จึงกล่าวว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ เมื่อเข้าไปเพื่อบิณฑบาต พบเราที่ระหว่างประตู, เราเมื่อจะทดลองศิลปะของตน จึงประหารพระปัจเจกพุทธเจ้านี้."
               พวกมนุษย์กล่าวว่า "ได้ยินว่า คนชั่วนี้ประหารพระปัจเจกพุทธเจ้า พวกท่านจงจับๆ" โบยให้บุรุษนั้นถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นเอง. บุรุษนั้นเกิดในอเวจีไหม้แล้ว จนแผ่นดินใหญ่นี้หนาขึ้นโยชน์หนึ่ง บังเกิดเป็นสัฏฐิกูฏเปรต ที่ยอดภูเขาคิชฌกูฏ ด้วยผลกรรมอันเหลือ.

               พระศาสดาตรัสสอนพวกภิกษุ               
               พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพกรรมนี้ของเปรตนั้นแล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ศิลปะหรือความเป็นอิสระ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ชื่อว่าคนพาล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความฉิบหาย, ด้วยว่า คนพาลได้ศิลปะหรือความเป็นอิสระแล้ว ย่อมทำความฉิบหายแก่ตนถ่ายเดียว" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๑๓. ยาวเทว อนตฺถาย    ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ
                         หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ    มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ.
                         ความรู้ย่อมเกิดแก่คนพาล เพียงเพื่อความฉิบหาย
                         เท่านั้น, ความรู้นั้น ยังหัวคิดของเขาให้ตกไป ย่อม
                         ฆ่าส่วนสุกกธรรมของคนพาลเสีย.

               แก้อรรถ               
               ศัพท์ว่า ยาวเทว ในคาถานั้นเป็นนิบาต ในอรรถคือความกำหนดซึ่งแดน. ภาวะคือความรู้ ชื่อว่า ญตฺตํ. บุคคลย่อมรู้ศิลปะแม้ใด, หรือบุคคลดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ใด หรือด้วยความถึงพร้อมด้วยยศใด อันชนย่อมรู้จัก คือปรากฏ ได้แก่เป็นผู้โด่งดัง, คำว่า ญตฺตํ นี้เป็นชื่อแห่งศิลปะ ความเป็นใหญ่และความถึงพร้อมด้วยยศนั้น.
               แท้จริง ศิลปะหรือความเป็นใหญ่เป็นต้น ย่อมเกิดแก่คนพาล เพื่อความฉิบหายถ่ายเดียว คือคนพาลนั้นอาศัยศิลปะเป็นต้นนั้น ย่อมทำความฉิบหายแก่ตนอย่างเดียว.
               บทว่า หนฺติ ได้แก่ ให้พินาศ.
               บทว่า สุกฺกํสํ คือ ส่วนแห่งกุศล. อธิบายว่า ก็ศิลปะหรือความเป็นใหญ่ เมื่อเกิดขึ้นแก่คนพาล ย่อมเกิดขึ้นฆ่าส่วนอันเป็นกุศลอย่างเดียว.
               บทว่า มุทฺธํ นี้ เป็นชื่อว่าของปัญญา.
               บทว่า วิปาตยํ คือ กำจัดอยู่. อธิบายว่า ก็ความรู้นั้น ฆ่าส่วนกุศลของคนพาลนั้น ยังมุทธา กล่าวคือปัญญาให้ตกไป คือขจัดอยู่นั้นแหละ ชื่อว่าฆ่า.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องสัฏฐิกูฏเปรต จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 14อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 25 / 16อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=434&Z=478
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=2059
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=2059
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :