ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 242อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 255อ่านอรรถกถา 35 / 274อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ปัจจยาการวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ว่าด้วยนิเทศผัสสะ (บาลีข้อ ๒๖๑)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยต่อไป.
                                   ว่าโดยย่อ ผัสสะมี ๖ อย่างเท่านั้น มี
                         จักขุสัมผัสเป็นต้น ว่าโดยพิสดาร ผัสสะ
                         เหล่านั้นก็มี ๓๒ อย่าง เหมือนวิญญาณ.
               จริงอยู่ ว่าโดยย่อ ผัสสะ ๖ อย่างเท่านั้น มีคำอาทิว่า จกฺขุสมฺผสฺโส (จักขุสัมผัส) ดังนี้มาแล้วในบาลี. แต่โดยพิสดาร ผัสสะแม้ทั้งหมดมี ๓๒ อย่าง เหมือนวิญญาณตามที่กล่าว เพราะสังขารเป็นปัจจัยอย่างนี้ คือผัสสะทั้งหลายมีจักขุสัมผัสสะเป็นต้น ที่เป็นกุศลวิบาก ๕ ที่เป็นอกุศลวิบาก ๕ เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็น ๑๐ ผัสสะที่เหลือ ๒๒ ได้แก่ ผัสสะที่สัมปยุตด้วยวิปากวิญญาณที่เป็นโลกีย์ ๒๒ แล.

               ว่าด้วยสฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ               
               ก็ในสฬายตนะเป็นปัจจัย แก่ผัสสะทั้ง ๓๒ นั้น
                                   บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอายตนะ
                         ภายในมีจักขวายตนะเป็นต้นกับอายตนะที่ ๖
                         พร้อมกับอายตนะแม้ภายนอก ๖ ว่าชื่อว่า
                         สฬายตนะ.
               ในพระบาลีว่า ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย นั้น มีอธิบายว่า บัณฑิตเหล่าใดย่อมแสดงปัจจัยและปัจจยุปบัน (ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย) อันเนื่องด้วยสันตติหนึ่งเท่านั้นว่า นี้เป็นกถาแสดงความเป็นไปแห่งอุปาทินนกสังขาร ดังนี้ก่อน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมปรารถนาอายตนะภายในมีจักขวายตนะเป็นต้นกับอายตนะที่ ๖ ว่า ชื่อว่าสฬายตนะ เพราะการทำสรูเปกเสสนัยโดยเอกเทศว่า อายตนะที่ ๖ ในอรูปภพ และอายตนะ ๖ โดยรวมทั้งหมดในที่อื่นเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ โดยทำนองแห่งพระบาลีว่า ผัสสะเกิดเพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัย ดังนี้.
               จริงอยู่ อายตนะนั้น ในเพราะทำบทเหล่านี้ให้เป็นเอกเสสมาสว่าอายตนะที่ ๖ นั้นด้วย สฬายตนะด้วย ย่อมถึงอันนับว่าสฬายตนะ ดังนี้ ส่วนบัณฑิตเหล่าใดย่อมแสดงปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เกิดแต่ปัจจัย) เป็นธรรมนับเนื่องด้วยสันตติเดียว แต่ปัจจัยมีสันดานต่างกันก็มี บัณฑิตเหล่านั้นเมื่อแสดงอายตนะทั้งหมดที่เป็นปัจจัยแก่ผัสสะนั้น ก็กำหนดเอาแม้อายตนะภายนอก ย่อมปรารถนาอายตนะภายในนั้นแหละกับอายตนะที่ ๖ กับรูปายตนะเป็นต้น แม้เป็นอายตนะภายนอกว่า ชื่อว่าสฬายตนะ เพราะอายตนะภายนอกแม้นั้น ย่อมถึงการนับว่าสฬายตนะเหมือนกัน ในเพราะ ท่านทำเอกเสสสมาสแห่งบทเหล่านี้ว่า อายตนะที่ ๖ ด้วย สฬายตนะด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ ดังนี้.
               ในข้อนี้ หากมีผู้ถามว่า ผัสสะหนึ่งย่อมไม่เกิดแต่อายตนะทั้งหมด แม้ผัสสะทั้งหมดก็ย่อมไม่เกิดแต่อายตนะหนึ่ง ก็ผัสสะนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นหนึ่งเท่านั้น ด้วยพระดำรัสว่า สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส (ผัสสะเกิด เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย) ดังนี้ เพราะเหตุไร.
               ในปัญหากรรมนี้ มีวิสัชนาดังนี้ ข้อนี้เป็นความจริง ผัสสะหนึ่ง ย่อมไม่เกิดแต่อายตนะทั้งหมด หรือผัสสะทั้งหมดย่อมไม่เกิดแต่อายตนะหนึ่ง ก็แต่ว่า ผัสสะหนึ่งย่อมเกิดแต่อายตนะหลายอย่าง เช่นจักขุสัมผัสเกิดแต่จักขวายตนะ แต่รูปายตนะ แต่มนายตนะกล่าวคือจักขุวิญญาณ และแต่ธรรมายตนะที่สัมปยุตกันที่เหลือ ฉันใด ในผัสสะทั้งปวงก็ฉันนั้น พึงประกอบตามสมควร ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ
                                   ผัสสะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้คงที่
                         จึงทรงแสดงว่า ผัสสะหนึ่ง มีอายตนะเป็น
                         อเนก (หลายอย่าง) เป็นแดนเกิด โดยนิเทศ
                         เป็นเอกวจนะในข้อว่า ผสฺโส สฬายตน-
                         ปจฺจยา นี้.
               คำว่า นิเทศเป็นเอกวจนะ นั้น ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้คงที่ทรงแสดงว่า ผัสสะหนึ่งย่อมเกิดแต่อายตนะหลายอย่างดังนี้ โดยนิเทศเป็นเอกวจนะนี้ว่า สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย. ส่วนในอายตนะทั้งหลาย (ตรัสว่า)
                                   อายตนะภายใน ๕ เป็นปัจจัย ๖ อย่าง
                         ต่อจากนั้น อายตนะหนึ่ง (มนายตนะ) เป็น
                         ปัจจัย ๙ อย่าง และพึงชี้แจงอายตนะภาย
                         นอกทั้งหลาย ในความเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนี้
                         ตามที่เกิดขึ้น.
               ในคาถานั้น มีอธิบายดังนี้ อายตนะภายในมีจักขวายตนะเป็นต้นเป็นปัจจัย ๖ อย่างแก่ผัสสะ ๕ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งนิสสยปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย อินทริยปัจจัย วิปปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย แก่ผัสสะ ๕ อย่างอันต่างโดยผัสสะ ๕ มีจักขุสัมผัสเป็นต้น. เบื้องหน้าแต่นั้น อายตนะหนึ่ง คือมนายตนะที่เป็นวิบากเป็นปัจจัย ๙ อย่าง แก่มโนสัมผัสที่เป็นวิบาก โดยประเภทอเนก ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย แต่พึงอธิบายอายตนะภายนอก ๖ ในความเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนี้ตามที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า บรรดาอายตนะภายนอกทั้งหลาย รูปายตนะเป็นปัจจัยแก่จักขุสัมผัส ด้วยอำนาจแห่งอารัมมณปัจจัย ปุเรชาตปัจจัย อัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย สัททายตนะเป็นต้นก็เป็นปัจจัยแก่โสตสัมผัสเป็นต้นเหมือนอย่างนั้น แต่ว่า อายตนะภายนอกเหล่านั้น และธรรมายตนะเป็นปัจจัยแก่มโนสัมผัสโดยประการนั้น และโดยเพียงเป็นอารัมมณปัจจัยเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้แล.
               นิเทศผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศเวทนา (บาลีข้อ ๒๖๒)               
               พึงทราบวินิจฉัยนิเทศเวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ต่อไป
                                   ว่าโดยทวาร พระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ตรัสเวทนาไว้ ๖ อย่างเท่านั้น มีเวทนาเกิด
                         แต่จักขุสัมผัสเป็นต้น โดยประเภท เวทนา
                         เหล่านั้น ตรัสไว้ ๘๙ อย่าง.
               จริงอยู่ ว่าโดยทวาร เวทนา ๖ อย่างเท่านั้น มีเวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัสเป็นต้นเหล่านี้ ตรัสไว้ในพระบาลีโดยนัยมีอาทิว่า จกฺขุสมฺผสฺสชา เวทนา (เวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัส) ดังนี้ แต่โดยประเภท เวทนาเหล่านั้น พึงทราบว่า มี ๘๙ เพราะสัมปยุตด้วยจิต ๘๙ ดวงแล.
                                   ก็บรรดาเวทนา ๘๙ ประเภทเหล่านี้
                         ตรัสเวทนาที่ประกอบด้วยวิบากจิต ๓๒ ดวง
                         เท่านั้นว่าทรงประสงค์เอาในข้อว่า ผสฺส-
                         ปจฺจยา เวทนา นี้.
                                   ผัสสะเป็นปัจจัย ๘ อย่างแก่เวทนา ๕
                         ในปัญจทวารนั้น เป็นปัจจัยอย่างเดียวแก่
                         เวทนาที่เหลือ แม้ในมโนทวาร ผัสสะนั้นก็
                         เป็นปัจจัยเหมือนอย่างนั้น.
               จริงอยู่ ในปัญจทวารนั้น ผัสสะเกิดแต่จักขุสัมผัสเป็นต้นเป็นปัจจัย ๘ อย่าง แก่เวทนา ๕ ที่มีจักขุประสาทเป็นต้นเป็นวัตถุที่เกิด ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย ก็ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเป็นปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย แก่กามาวจรวิบากเวทนาที่เหลือ ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะและตทารัมมณะในทวารแต่ละทวาร.
               ข้อว่า แม้ในมโนทวาร ผัสสะนั้นก็เป็นปัจจัยเหมือนอย่างนั้น ความว่า ผัสสะนั้น คือสหชาตมโนสัมผัส เป็นปัจจัย ๘ อย่างเหมือนกันนั่นแหละ แก่กามาวจรวิบากเวทนาที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งตทารมณ์แม้ในมโนทวาร และเป็นปัจจัยแม้แก่วิบากเวทนาในภูมิ ๓ ที่เป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิภวังค์และจุติ.
               อนึ่ง มโนสัมผัสที่สัมปยุตด้วยอาวัชชนะ เป็นปัจจัยอย่างเดียวด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย ในมโนทวาร แก่กามาวจรเวทนาซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจตทารัมมณะในมโนทวารนั้น ฉะนี้แล.
               นิเทศเวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศตัณหา (บาลีข้อ ๒๖๓)               
               พึงทราบวินิจฉัยนิเทศตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ต่อไป.
                                   ตัณหา ๖ อย่าง พระองค์ทรงแสดง
                                   ไว้ในนิเทศนี้ โดยความต่างแห่งรูปตัณหา
                                   เป็นต้น ในตัณหา ๖ เหล่านั้น แต่ละตัณหา
                                   ตรัสไว้ ๓ อย่าง โดยอาการที่เป็นไป.
               ก็ในนิเทศตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัยนี้ มีอธิบายว่า ตัณหา ๖ อย่างเหล่านี้พระองค์ทรงแสดงแล้ว คือ ประกาศแล้ว ตรัสแล้วด้วยอำนาจแห่งชื่อโดยอารมณ์ว่า รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ดังนี้ เหมือนบุตรที่เขาประกาศชื่อตามบิดาว่า เสฏฺฐิปุตฺโต (บุตรเศรษฐี) พฺราหฺมณปุตฺโต (บุตรพราหมณ์) ฉะนั้น. บรรดาตัณหา ๖ เหล่านั้น พึงทราบอรรถแห่งคำโดยนัยนี้ว่า รูเป ตณฺหา รูปตณฺหา ตัณหาในรูป ชื่อว่ารูปตัณหา ดังนี้.

               ว่าด้วยตัณหา ๑๘ อย่าง               
               ก็แล บรรดาตัณหาเหล่านั้น ตัณหาแต่ละอย่าง ตรัสไว้ ๓ อย่างนี้ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตามอาการที่เป็นไป. จริงอยู่ ในกาลใดรูปตัณหานั้นแหละยินดีรูปารมณ์ที่มาสู่คลองจักษุด้วยอำนาจความยินดีในกามเป็นไป ในกาลนั้นชื่อว่ากามตัณหา ในกาลใดรูปตัณหาเป็นไปพร้อมกับทิฏฐิที่เป็นไปว่า รูปารมณ์นั้นนั่นแหละเที่ยง ยั่งยืน ดังนี้ ในกาลนั้นชื่อว่าภวตัณหาเพราะราคะเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ตรัสเรียกว่าภวตัณหา แต่ในกาลใด รูปตัณหานั้นเป็นพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิที่เป็นไปว่า รูปารมณ์นั้นนั่นแหละขาดสูญ ย่อมพินาศ ดังนี้ ในกาลนั้นชื่อว่าวิภวตัณหา เพราะราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ ตรัสเรียกว่าวิภวตัณหา. แม้ในสัททตัณหาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตัณหาเหล่านี้จึงรวมเป็น ๑๘.
               ตัณหาเหล่านั้นในรูปภายในเป็นต้นมี ๑๘ อย่าง ในภายนอกมี ๑๘ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงเป็นตัณหา ๓๖ อย่าง ตัณหาเหล่านั้นเป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ รวม ตัณหา ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ตัณหา ๑๐๘ เหล่านั้น เมื่อย่อลง พึงทราบว่าเป็น ตัณหา ๖ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น หรือเป็นตัณหา ๓ เท่านั้น ด้วยอำนาจกามตัณหาเป็นต้น.
               ก็เพราะสัตว์เหล่านี้ยินดีเวทนาอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจอารมณ์มีรูปเป็นต้น จึงทำสักการะใหญ่แก่จิตรกร (ช่างเขียน) คนธรรพ์ (นักดนตรี) ผู้ปรุงแต่งด้วยของหอม พ่อครัว ช่างทอและแพทย์ผู้ทำวิธีต่างๆ ให้เกิดความยินดีเป็นต้น อันให้ซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น ด้วยยึดเวทนาว่าเป็นของเรา เหมือนบุคคลผู้รักใคร่บุตรด้วยความยึดถือบุตรว่าเป็นของเรา กระทำสักการะใหญ่แก่นางนม ฉะนั้น ตัณหาเหล่านี้แม้ทั้งหมด พึงทราบว่า เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัยแล.

               ว่าด้วยสุขเวทนาที่เป็นวิบากเป็นปัจจัย               
                                   แต่เพราะในนิเทศว่า เวทนาปจฺจยา
                         ตณฺหา นี้ ทรงประสงค์เอาสุขเวทนาที่เป็น
                         วิบากอย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้น เวทนานี้จึง
                         เป็นปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้นแก่ตัณหา.
               คำว่า เป็นปัจจัยอย่างเดียว คือเป็นปัจจัยด้วยอุปนิสสยปัจจัย.

               ว่าด้วยเวทนา ๓ เป็นปัจจัย               
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะว่า
                                   คนมีทุกข์ ย่อมปรารถนาสุข คนมี
                         สุข ก็ย่อมปรารถนาสุขแม้ยิ่งขึ้นไป ส่วน
                         อุเบกขาตรัสว่า สุขนั่นแหละ เพราะเป็น
                         ธรรมสงบ.
                                   ฉะนั้น เวทนาแม้ทั้ง ๓ จึงเป็นปัจจัย
                         แก่ตัณหา พระมหาฤาษี จึงตรัสว่า ตัณหา
                         เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย.
                                   อนึ่ง เพราะเว้นอนุสัยเสียแล้ว
                         ตัณหาย่อมไม่เกิด เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
                         ฉะนั้น ตัณหานั้นจึงไม่มีแก่พราหมณ์ผู้จบ
                         พรหมจรรย์แล.
               นิเทศตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศอุปาทาน (บาลีข้อ ๒๖๔)               
               พึงทราบวินิจฉัยนิเทศอุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัยต่อไป.
                                   บัณฑิตพึงชี้แจงอุปาทาน ๔ เหล่านั้น
                         โดยการจำแนกโดยอรรถ โดยย่อและพิสดาร
                         แห่งธรรม และโดยลำดับ.
               จริงอยู่ ในพระบาลี ทรงยกอุปาทาน ๔ เหล่านี้ขึ้น ด้วยพระดำรัสที่ตรัสว่า คำว่า อุปาทาน ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน.

               ว่าด้วยการจำแนกโดยอรรถ               
               การจำแนกโดยอรรถแห่งอุปาทาน ๔ เหล่านั้น ดังนี้.
               ธรรมที่ชื่อว่ากามุปาทาน เพราะอรรถว่ายึดมั่นกาม กล่าวคือวัตถุกาม.
               อนึ่ง กามนั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากามุปาทาน.
               คำว่า อุปาทาน ได้แก่ การยึดมั่น เพราะอุปศัพท์ในคำว่า อุปาทาน นี้ มีอรรถว่ามั่น เหมือนในศัพท์มีคำว่า อุปายาส (ความคับแค้นใจ) อุปกัฏฐะ (เวลาใกล้เข้ามาแล้ว) เป็นต้น.
               อนึ่ง ทิฏฐินั้นด้วยเป็นอุปาทานด้วย จึงชื่อว่าทิฏฐุปาทาน. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เพราะอรรถว่ายึดมั่นทิฏฐิ เพราะทิฏฐิหลังย่อมยึดมั่นทิฏฐิแรก เหมือนในประโยคมีอาทิว่า "อัตตาและโลกเที่ยง" เป็นต้น.
               อนึ่ง ที่ชื่อว่าสีลัพพตุปาทาน เพราะอรรถว่ายึดมั่นศีลและพรต. ศีลและพรตนั้นด้วย เป็นอุปาทานด้วย ดังนี้ก็ชื่อว่าสีลัพพตุปาทาน เพราะโคศีล (ปรกติของโค) โควัตร (การปฏิบัติของโค) เป็นต้น เป็นตัวอุปาทานเองทีเดียว เพราะยึดมั่นว่า "ความบริสุทธิ์มีด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้.
               อนึ่ง ที่ชื่อว่าวาทะ เพราะเป็นเหตุกล่าวของคนทั้งหลาย ที่ชื่อว่าอุปาทาน เพราะเหตุยึดมั่นของคนทั้งหลาย.
               ถามว่า ย่อมกล่าวอะไร หรือยึดมั่นอะไร?
               ตอบว่า กล่าวอัตตา ยึดมั่นอัตตา คือการยึดมั่นวาทะของตน ชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน.
               อีกอย่างหนึ่ง อัตตาก็เป็นเพียงกล่าวถึงตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน เพราะอรรถว่าเป็นเหตุยึดมั่นของคนทั้งหลาย นี้เป็นการจำแนกโดยอรรถแห่งอุปาทาน ๔ เหล่านั้นก่อน.

               ว่าด้วยความย่อและพิสดารแห่งธรรม               
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในความย่อและพิสดารแห่งธรรม ต่อไป.
               กามุปาทานก่อน ว่าโดยย่อ ตรัสว่า ความยึดมั่นด้วยตัณหา เพราะบาลีมาแล้วว่า บรรดาอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทานเป็นไฉน ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย อันใด นี้เรียกว่ากามุปาทาน๑- ดังนี้ ตัณหาหลังเกิดขึ้นมั่นคงด้วยอุปนิสสยปัจจัย เพราะตัณหาแรกนั่นเอง ชื่อว่าความยึดมั่นด้วยตัณหา.
____________________________
๑- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๘๑/หน้า ๓๐๖.

               มติของอาจารย์บางพวก               
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า "ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ชื่อว่าตัณหา เหมือนโจรเหยียดมือไปเพื่อขโมยของในที่มืด การรับอารมณ์ที่มาถึงแล้ว ชื่อว่าอุปาทาน เหมือนโจรนั้นแหละจับภัณฑะไว้ ก็ธรรม (คือตัณหาอุปาทาน) เหล่านั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อความมักน้อยและความสันโดษ. อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ยังเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์เพราะต้องแสวงหา และรักษา" ดังนี้ ก็อุปาทาน ๓ ที่เหลือโดยย่อก็เป็นเพียงทิฏฐิเท่านั้น.
               แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร ความยึดมั่นด้วยตัณหาทั้ง ๑๐๘ ประเภทตามที่กล่าวไว้ในอารมณ์มีรูปเป็นต้นในก่อน ชื่อว่ากามุปาทาน.
               มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า บรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านั้น ทิฏฐุปาทานเป็นไฉน? ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ที่ทำให้แจ้ง ซึ่งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้คนอื่นรู้ได้ ไม่มีในโลก ดังนี้ ทิฏฐิ ฯลฯ การถือโดยวิปลาส เห็นปานนี้ อันใด นี้เรียกว่าทิฏฐุปาทาน๑- ดังนี้.
               อนึ่ง การยึดมั่นว่าความบริสุทธิ์มีด้วยศีลและพรต ชื่อว่าสีลัพพตุปาทาน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า บรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านั้น สีลัพพตุปาทาน เป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ การถือโดยวิปลาส โดยลักษณะนี้ว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลและพรตเห็นปานนี้ อันใด นี้เรียกว่าสีลัพพตุปาทาน ดังนี้.
               สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน เหมือนอย่างที่ตรัสว่า บรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านั้น อัตตวาทุปาทาน เป็นไฉน? ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไร้การศึกษา ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ การถือโดยวิปลาส นี้เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ดังนี้. นี้เป็นความย่อและความพิสดารแห่งธรรมในอธิการนี้.
____________________________
๑- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๘๒/หน้า ๓๐๖.

               ว่าโดยลำดับ               
               ก็ในข้อว่า โดยลำดับ นี้ ลำดับมี ๓ อย่าง คือ
                         อุปฺปตฺติกฺกโม ลำดับแห่งการเกิด
                         ปหานกฺกโม ลำดับแห่งการละ และ
                         เทสนากฺกโม ลำดับแห่งเทศนา.
               บรรดาลำดับทั้ง ๓ นั้น ลำดับแห่งการเกิดขึ้นของกิเลสทั้งหลาย ไม่ตรัสไว้โดยนิปปริยาย (โดยตรง) เพราะไม่มีคำว่า อุปาทานนี้เกิดขึ้นก่อนในสังสารมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว แต่ก็ตรัสไว้โดยปริยาย (โดยอ้อม) ว่า เป็นความยึดมั่นในสัสสตะและอุจเฉทะซึ่งมีความยึดถืออัตตาเป็นใหญ่ ในภพหนึ่งโดยมาก ต่อจากนั้น เมื่อยึดถือว่า "อัตตานี้เที่ยง" ดังนี้ จึงเกิดสีลัพพตุปาทาน เพื่อความปฏิบัติอันบริสุทธิ์แห่งอัตตา เมื่อยึดถือว่า "อัตตาย่อมขาดสูญ" ดังนี้ ก็จะเกิดกามุปาทานแก่บุคคลผู้ไม่มีความอาลัยในโลกอื่น เพราะฉะนั้น อัตตวาทุปาทานจึงเกิดขึ้นก่อน ต่อจากนั้นก็เกิดทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทานและกามุปาทาน ดังนี้ นี้เป็นลำดับแห่งความเกิดขึ้นของอุปาทานเหล่านั้นในภพหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในข้อว่า ลำดับแห่งการละนี้ ทิฏฐุปาทานเป็นต้นอันบุคคลย่อมละก่อน เพราะเป็นกิเลสอันโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ ภายหลังจึงละกามุปาทาน เพราะเป็นกิเลสอันอรหัตมรรคพึงประหาณ นี้ลำดับการละอุปาทานเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็บรรดาอุปาทาน ๔ เหล่านี้ ทรงแสดงกามุปาทานก่อน เพราะเป็นกิเลสมีอารมณ์มาก และเพราะกิเลสปรากฏแล้ว.
               จริงอยู่ กามุปาทานนั้น ชื่อว่ามีอารมณ์มาก เพราะประกอบด้วย (โลภมูล) จิต ๘ ดวง อุปาทานนอกจากนี้มีอารมณ์น้อย เพราะประกอบด้วย (โลภมูลที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ) จิต ๔ ดวง.
               อนึ่ง กามุปาทานปรากฏแก่หมู่สัตว์ เพราะความอาลัยและยินดีโดยมาก อุปาทานนอกนี้ไม่เป็นเช่นนั้น. อีกอย่างหนึ่ง กามุปาทานเป็นของมีมากแก่บุคคลผู้ถือมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เพื่อบรรลุวัตถุกามทั้งหลาย สัสสตทิฏฐิหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงทิฏฐุปาทานในลำดับต่อจากกามุปาทานนั้น ทิฏฐุปาทานนั้น เมื่อจำแนกก็เป็น ๒ อย่าง ด้วยสามารถแห่งสีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทาน. ในอุปาทาน ๒ นั้นทรงแสดงสีลัพพตุปาทานมีอารมณ์อันหยาบก่อน เพราะบุคคลแม้เห็นกิริยาของโคหรือกิริยาของสุนัขแล้วก็รู้ได้ แล้วทรงแสดงอัตตวาทุปาทานในที่สุด เพราะเป็นธรรมมีอารมณ์ละเอียด.
               นี้ลำดับแห่งเทศนาของอุปาทานทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

               ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน               
               ก็บรรดาอุปาทานเหล่านี้ ตัณหาเป็น
                         ปัจจัยอย่างเดียวแก่อุปาทานแรก ตัณหาแม้-
                         นั้นเป็นปัจจัย ๗ อย่างบ้าง ๘ อย่างบ้าง แก่
                         อุปาทาน ๓ ที่เหลือ.
               ก็ในอุปาทาน ๔ ที่ทรงแสดงไว้ในนิเทศนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ กามตัณหาย่อมเป็นปัจจัยอย่างเดียว ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย แก่กามุปาทานแรก เพราะเกิดในอารมณ์ทั้งหลายที่พอใจด้วยตัณหา แต่ตัณหานั้นย่อมเป็นปัจจัย ๗ อย่าง ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตต ปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัยและเหตุปัจจัย หรือเป็นปัจจัย ๘ อย่าง พร้อมด้วยอุปนิสสยปัจจัยแก่อุปาทาน ๓ ที่เหลือ. อนึ่ง เมื่อใด ตัณหานั้นเป็นปัจจัยด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย เมื่อนั้นตัณหานั้นย่อมเกิดพร้อมกันทีเดียว.
               นิเทศอุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศแห่งภพ (บาลีข้อ ๒๖๕)               
               ในนิเทศแห่งภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
                                   พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ โดยธรรม
                                   โดยทบทวนบทที่มีประโยชน์ โดยการแยก
                                   ภพและรวมภพ และโดยอุปาทานใดเป็น
                                   ปัจจัยแก่ภพใด.
               ในพระบาลีนั้น พึงทราบวินิจฉัยว่า ที่ชื่อว่าภพ เพราะอรรถว่ามี.
               บทว่า ทุวิเธน (ภพ ๒) มีอธิบายว่า กำหนดโดยอาการ ๒ อย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทุวิเธน เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในปฐมาวิภัตติ. อธิบายว่า เท่ากับ ทุวิโธ แปลว่า ๒ อย่าง.
               บทว่า อตฺถิ แปลว่า มีอยู่พร้อม.
               ภพคือกรรม ชื่อว่ากรรมภพ. ภพคือความเกิดขึ้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ. ในกรรมภพและอุปปัตติภพนี้ ความเกิดขึ้น ชื่อว่าภพ เพราะอรรถว่าย่อมมี. ส่วนกรรม พึงทราบว่า ชื่อว่าภพ โดยโวหารว่า เป็นผล เพราะกรรมเป็นเหตุของภพ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นสุข เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข.
               คำว่า ตตฺถ กตโม กมฺมภโว (ในภพ ๒ นั้น กรรมภพเป็นไฉน) ความว่า บรรดาภพทั้ง ๒ นั้น กรรมภพที่ตรัสแล้วนั้นเป็นไฉน. ปุญญาภิสังขารเป็นต้น มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า สพฺพํ (ทั้งปวง) ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ.
               กรรมที่ชื่อว่า ภวคามี เพราะอรรถว่าย่อมไป คือย่อมให้สัตว์ถึงภพ ด้วยบทว่ากรรมเป็นเหตุให้ถึงภพนี้ ท่านปฏิเสธโลกุตระ เพราะกถานี้ เป็นวัฏฏกถา (กถาที่แสดงถึงวัฏฏะ) ก็โลกุตระนั้นท่านกล่าวว่า เป็นธรรมอาศัยวิวัฏฏะ.
               ที่ชื่อว่ากรรม เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งที่เขาทำ. บรรดากามภพเป็นต้น ภพกล่าวคือกาม ชื่อว่ากามภพ. ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้. ที่ชื่อว่าสัญญาภพ เพราะอรรถว่าเป็นภพของเหล่าสัตว์ผู้มีสัญญา หรือสัญญามีอยู่ในภพนี้. ที่ชื่อว่าอสัญญาภพ โดยปริยายที่ต่างกัน. ที่ชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญาภพ ด้วยอรรถว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีสัญญาหยาบ และเพราะมีสัญญาละเอียดในภพนี้. ภพที่เกลื่อนกล่นด้วยรูปขันธ์อย่างเดียว ชื่อว่าเอกโวการภพ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโวการภพ เพราะอรรถว่าภพนี้มีขันธ์เดียว. ในจตุโวการภพและปัญจโวการภพก็นัยนี้.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ อุปฺปตฺติภโว (นี้เรียกว่าอุปปัตติภพ) ได้แก่ ภพนี้ทั้ง ๙ อย่าง ตรัสเรียกชื่อว่าอุปปัตติภพแล. พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถในอธิการนี้อย่างนี้ก่อน.
               ส่วนข้อวินิจฉัยโดยธรรม ก็ในนิเทศนี้ ว่าโดยธรรม ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ๑๓ ดวง. อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ๑๒ ดวง. อาเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ๔ ดวง.
               ด้วยบทว่า สพฺพมฺปิ ภวคามิกมฺมํ (กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพทั้งหมด) นี้ ทรงสงเคราะห์ธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดที่สัมปยุตด้วยเจตนา หรือธรรมที่เป็นอาจยคามี กล่าวคือกรรมเข้าด้วย. อธิบายว่า ทรงสงเคราะห์อุปาทินนขันธ์ ๕ ที่เป็นกามภพ รูปภพก็เหมือนกัน ขันธ์ ๔ ที่เป็นอรูปภพขันธ์ ๔ และ ๕ ที่เป็นสัญญาภพ อุปาทินนขันธ์หนึ่งที่เป็นอสัญญาภพ ขันธ์ ๔ ที่เป็นเนวสัญญานาสัญญาภพ ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ ที่เป็นเอกโวการภพเป็นต้น ด้วยอุปาทินนขันธ์ทั้งหลายแล.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยธรรมในนิเทศนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า โดยทบทวนบทที่มีประโยชน์ นี้ ความว่า ปุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นเองตรัสไว้ในนิเทศแห่งสังขาร คือกรรมเหมือนในนิเทศแห่งภพนั่นแหละ แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ปุญญาภิสังขารเป็นต้นซึ่งเกิดก่อนตรัสไว้ เพราะความเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในอธิการนี้ ด้วยอดีตกรรม ปุญญาภิสังขารเป็นต้นเหล่านี้ ตรัสไว้เพราะความเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิต่อไป ด้วยอำนาจกรรมในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การตรัสย้ำจึงชื่อว่ามีประโยชน์ทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง ในเบื้องต้น ตรัสเจตนาเท่านั้นว่าเป็นสังขาร โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ในอภิสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน? กุศลเจตนา กามาวจร ดังนี้ แต่ในนิเทศแห่งภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยนี้ ธรรมแม้สัมปยุตด้วยเจตนา ก็ตรัสว่า สังขาร เพราะพระบาลีว่า สพฺพมฺปิ ภวคามิกมฺมํ (กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพทั้งหมด) ดังนี้.
               อนึ่ง ในตอนต้น ตรัสว่า กรรมเฉพาะที่มีวิญญาณเป็นปัจจัยเท่านั้นว่าเป็นสังขาร ในบัดนี้ แม้กรรมที่มีวิญญาณเป็นปัจจัย อันให้เกิดขึ้นในอสัญญาภพ ก็ตรัสว่า สังขาร ก็การพูดมากจะมีประโยชน์อะไร เพราะธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล คือปุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นเอง ตรัสไว้ในข้อว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้ อนึ่ง ตรัสธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต เพราะความที่แม้อุปปัตติภพก็ทรงสงเคราะห์ในบทว่า อุปาทานปจฺจยา ภโว (ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย) นี้ ฉะนั้น การตรัสซ้ำนี้จึงชื่อว่ามีประโยชน์โดยประการทั้งปวงแล.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยทบทวนบทที่มีประโยชน์ในอธิการนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า โดยการแยกออกและรวมกันได้ คือ โดยการแยกและการรวมแห่งภพเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย. จริงอยู่ กรรมที่สัตว์กระทำให้เกิดขึ้นในกามภพเพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยนั้น ชื่อว่ากรรมภพ. ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแต่กรรมนั้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ. ในรูปและอรูปภพก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ด้วยประการฉะนี้ กามภพมีกามุปาทานเป็นปัจจัยจึงมี ๒ อย่าง สัญญาภพและปัญจโวการภพรวมอยู่ภายในกามภพนั้นแหละ รูปภพมีกามุปาทานเป็นปัจจัยก็มี ๒ อย่าง สัญญาภพ อสัญญาภพ เอกโวการภพ ปัญจโวการภพ รวมอยู่ภายในรูปภพนั้นแหละ อรูปภพมีกามุปาทานก็มี ๒ อย่าง สัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ จตุโวการภพรวมอยู่ภายในอรูปภพเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภพที่มีกามุปาทานเป็นปัจจัยจึงมี ๖ ภพ พร้อมกับภพทั้งหลายที่ผนวกเข้าด้วยกัน. ก็ภพ ๖ ที่มีกามุปาทานเป็นปัจจัยพร้อมทั้งภพทั้งหลายที่ผนวกเข้าด้วยกันฉันใด แม้ภพทั้งหลายที่มีอุปาทาน (๓) ที่เหลือเป็นปัจจัยก็ฉันนั้น ภพทั้งหลายจึงเป็น ๒๔ พร้อมกับภพที่ผนวกเข้าด้วยกัน โดยการแยกออกเพราะอุปาทาน (๔) เป็นปัจจัยอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนโดยการรวมกัน มีอธิบายว่า รวมกรรมภพและอุปปัตติภพ พร้อมกับภพที่ผนวกเข้าด้วยกันเกิดเพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยเป็นกามภพหนึ่ง รูปภพและอรูปภพก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็น ๓ ภพ แม้ภพที่มีอุปาทาน ๓ ที่เหลือก็เหมือนกัน จึงเป็น ๑๒ พร้อมกับภพที่ผนวกเข้าด้วยกันโดยสงเคราะห์ (คือรวมกัน) เพราะอุปาทาน (๔) เป็นปัจจัยอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ว่าโดยไม่ต่างกัน กรรมที่ให้สัตว์เข้าถึงกามภพเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในกามภพนั้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ. ในรูปภพและอรูปภพก็เหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็น ๖ ภพ โดยการสงเคราะห์ (การรวมกัน) อีกปริยายหนึ่งคือกามภพ ๒ รูปภพ ๒ อรูปภพ ๒ พร้อมกับภพที่ผนวกเข้าด้วยกันมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย.
               อีกอย่างหนึ่ง จัดเป็น ๓ ภพ ด้วยอำนาจกามภพเป็นต้นพร้อมกับภพที่ผนวกเข้าด้วยกันโดยไม่แยกกรรมภพและอุปปัตติภพออกจากกัน และจัดเป็น ๒ ภพ ด้วยอำนาจกรรมภพและอุปปัตติภพ โดยไม่แยกกามภพเป็นต้น และจัดเป็นภพ ๑ ด้วยอำนาจแห่งภพว่า ภพที่เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย โดยไม่อาศัยแยกกรรมและอุปปัตติ. พึงทราบวินิจฉัยในอธิการนี้ แม้โดยการแยกและรวมกันแห่งภพมีอุปาทานเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า โดยอุปาทานใดเป็นปัจจัยแก่ภพใด อธิบายว่า ก็ในนิเทศนี้ พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยอุปาทานใดเป็นปัจจัยแก่ภพใดนั้น ก็ในนิเทศนี้อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพใด อย่างไร?
               คืออุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นปัจจัยแก่ภพใดภพหนึ่งได้ทั้งนั้น เพราะปุถุชนเปรียบเหมือนคนบ้า ปุถุชนนั้นมิได้พิจารณาว่า "สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร" ดังนี้ ปรารถนาภพอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยอำนาจอุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คำที่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า "รูปภพและอรูปภพย่อมไม่มีเพราะสีลัพพตุปาทาน" นั้น บัณฑิตไม่ควรถือเอา แต่คำว่า "ภพทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอุปาทานทั้งหมด" ดังนี้ ควรถือเอา. อย่างไร?
               คือคนบางคนในโลกนี้คิดว่า ขึ้นชื่อว่ากามเหล่านี้เป็นของสำเร็จแล้วในตระกูลกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นในมนุษยโลก และในเทวโลกกามาพจร ๖ ชั้น" ดังนี้ ด้วยสามารถที่ได้ฟังมาหรือโดยทำนองที่เห็นมา ถูกลวงโดยให้เสพอสัทธรรมเป็นต้น เพื่อบรรลุกามเหล่านั้น จึงสำคัญอยู่ว่า "กามทั้งหลายย่อมสำเร็จด้วยกรรมนี้" ดังนี้ จึงกระทำแม้กายทุจริตเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งอุปาทานคือกาม บุคคลนั้นจึงเกิดขึ้นในอบายเพราะบริบูรณ์ด้วยทุจริต. ก็เมื่อปรารถนากามทั้งหลายที่ตนเห็นแล้ว หรือเมื่อจะรักษากามที่ได้มาแล้ว ย่อมทำกายทุจริตเป็นต้น ด้วยอำนาจกามุปาทาน บุคคลนั้นย่อมเกิดในอบายเพราะความสมบูรณ์ด้วยทุจริต. กรรมที่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นเกิดในอบายนั้น ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ที่เกิดขึ้นแต่กรรมนั้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ ส่วนสัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมเข้าในกรรมภพและอุปปัตติภพนั้นนั่นแหละ.
               ส่วนอีกคนหนึ่งมีความรู้อันการฟังพระสัทธรรมเป็นต้นพอกพูนแล้ว สำคัญอยู่ว่า "กามทั้งหลายย่อมสำเร็จด้วยกรรมนี้" ดังนี้ จึงทำกายสุจริตเป็นต้น ด้วยอำนาจกามุปาทาน บุคคลนั้นย่อมเกิดขึ้นในสวรรค์ทั้งหลายหรือในมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความบริบูรณ์ด้วยสุจริต. กรรมที่เป็นเหตุให้เขาเกิดในสุคติมีเทวดาเป็นต้นนั้น ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแต่กรรม ชื่อว่าอุปปัตติภพ ก็สัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในกรรมภพและอุปปัตติภพนั้นเหมือนกัน กามุปาทานเป็นปัจจัยแก่กามภพพร้อมทั้งประเภท พร้อมทั้งภพที่ผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้.
               อีกคนหนึ่งฟังมาหรือคิดเอาเองว่า ในรูปภพและอรูปภพ กามทั้งหลายสำเร็จดีกว่ากามภพนั้น จึงยังรูปและอรูปสมาบัติให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจกามุปาทานแล้วบังเกิดขึ้นในโลกแห่งรูปพรหมหรืออรูปพรหมด้วยกำลังแห่งสมาบัติ. ในการเกิดขึ้นในรูปพรหมหรืออรูปพรหมนั้น กรรมที่เป็นเหตุให้บุคคลนั้นเกิด ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแต่กรรม ชื่อว่าอุปปัตติภพ ส่วนสัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ภายในรูปภพหรืออรูปภพนั้น. กามุปาทานเป็นปัจจัยแม้แก่รูปภพและอรูปภพ พร้อมทั้งประเภท พร้อมทั้งภพที่ผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้.
               อีกบุคคลหนึ่งอาศัยอุจเฉททิฏฐิว่า "ชื่อว่าอัตตานี้ ขาดสูญแล้วในภพอันเป็นสมบัติของกามาพจร หรือว่าบรรดารูปภพหรืออรูปภพ ภพใดภพหนึ่งย่อมขาดสูญโดยแท้" ดังนี้ จึงทำกรรมอันเข้าถึงภพนั้น. กรรมนั้นของบุคคลนั้น ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายอันเกิดแต่กรรม ชื่อว่าอุปปัตติภพ ส่วนภพมีสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ภายในกรรมภพและอุปปัตติภพนั้นนั่นแหละ ทิฏฐุปาทานเป็นปัจจัยแก่กามภพ รูปภพ และอรูปภพทั้ง ๓ พร้อมทั้งประเภท พร้อมทั้งภพที่ผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้.
               อีกบุคคลหนึ่งกำหนดเอาว่า "ชื่อว่าอัตตานี้ ย่อมมีความสุข ปราศจากความเร่าร้อนในภพอันเป็นสมบัติในกามาพจร หรือบรรดารูปภพและอรูปภพ ภพใดภพหนึ่ง" จึงทำกรรมอันเข้าถึงภพนั้น ด้วยอัตตวาทุปาทาน. กรรมนั้นของบุคคลนั้น ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแต่กรรมภพนั้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ ส่วนสัญญาภพเป็นต้น ก็รวมอยู่ในกรรมภพและและอุปปัตติภพนั้นนั่นแหละ อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ๓ พร้อมทั้งประเภท พร้อมทั้งภพที่ผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้.
               อีกบุคคลหนึ่งมีความเห็นว่า "ชื่อว่าศีลและพรตนี้ ย่อมถึงความสุขอันบริบูรณ์แก่บุคคลผู้บำเพ็ญ ในภพอันเป็นสมบัติของกามาพจร หรือบรรดารูปภพ หรืออรูปภพ ภพใดภพหนึ่ง" ดังนี้ จึงทำกรรมอันเข้าถึงภพนั้นด้วยอำนาจสีลัพพตุปาทาน. กรรมนั้นของบุคคลนั้น ชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแต่กรรมภพนั้น ชื่อว่าอุปปัตติภพ ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ภายในกรรมภพและอุปปัตติภพนั้นแหละ. สีลัพพตุปาทาน ย่อมเป็นปัจจัยแก่ภพ ๓ พร้อมทั้งประเภท พร้อมทั้งภพที่ผนวกเข้าด้วยกัน ดังนี้แล. พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยอุปาทานใด เป็นปัจจัยแก่ภพใด ในนิเทศนี้นั้นด้วยประการฉะนี้.
               หากมีผู้สงสัย ถามว่า "ก็ในนิเทศนี้ อุปาทานอะไร เป็นปัจจัยอย่างไรแก่ภพไหน" ดังนี้ไซร้.
               ตอบว่า
                                   ปัญหากรรมนั้น พึงทราบว่า อุปาทาน
                         เป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่รูปภพ และอรูปภพ
                         อุปาทานนั้น เป็นปัจจัยแก่กามภพ แม้ด้วย
                         ปัจจัยมีสหชาตะเป็นต้น.
               จริงอยู่ ก็อุปาทานทั้ง ๔ นี้ เป็นปัจจัยแก่รูปภพ อรูปภพ และอุปปัตติภพที่เป็นกุศลกรรมในกรรมภพอันนับเนื่องด้วยกามภพ ด้วยอุปนิสสยปัจจัยอย่างเดียว. อุปาทาน ๔ นั้นเป็นปัจจัยแก่อกุศลกรรมภพที่สัมปยุตด้วยตนในกามภพโดยสหชาตปัจจัยเป็นต้น คือสหชาตปัจจัย อัญญมัญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัยและเหตุปัจจัย แต่เป็นปัจจัยแก่ภพที่เป็นวิปปยุตกัน ด้วยอุปนิสสยปัจจัยเดียวเท่านั้นแล.
               นิเทศแห่งภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศแห่งชาติ (บาลีข้อ ๒๖๖)               
               พึงทราบวินิจฉัยปัจจยาการมีชาติเป็นต้น ในนิเทศแห่งชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัยเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวไว้ในสัจจวิภังค์นั่นแหละ. แต่คำว่าภพในที่นี้ ทรงประสงค์เอากรรมภพเท่านั้น เพราะกรรมภพนั้นเป็นปัจจัยแก่ชาติ อุปปัตติภพหาเป็นปัจจัยแก่ชาติไม่ ก็แลกรรมภพนั้น เป็นปัจจัย ๒ อย่างเท่านั้น ด้วยอำนาจกรรมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย.
               หากมี ผู้ถามว่า ข้อนี้ จะพึงรู้ได้อย่างไรว่า ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ.
               ตอบว่า รู้ได้ เพราะแสดงความต่างกันแห่งภาวะมีความเลวและประณีตเป็นต้น ในเหตุแม้สักว่าเป็นปัจจัยภายนอก.
               จริงอยู่ เมื่อปัจจัยภายนอกมีบิดามารดา น้ำสุกกะ ประจำเดือนและอาหารเป็นต้น ของสัตว์ผู้แม้ฝาแฝดแม้ในอัตภาพที่เหมือนกันมีอยู่ ก็ยังปรากฏต่างกันด้วยภาวะมีความเลวและประณีตเป็นต้น ก็ความต่างกันโดยเป็นหีนะและประณีตนั้น มิใช่ไม่มีเหตุ เพราะสภาวะทั้งปวงไม่มีอยู่ในกาลทั้งปวงแก่พวกสัตว์ทั้งหมด และทั้งมิใช่เหตุอื่นนอกจากกรรมภพ เพราะไม่มีเหตุอื่นในสันดานอันมีในภายในของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแต่กรรมภพนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้นจึงมีกรรมภพเป็นเหตุโดยแท้ แท้จริง กรรมก็เป็นเหตุที่แปลกกันในความเลวและประณีตเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปณีตตาย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวและประณีต ดังนี้ เพราะฉะนั้น ข้อนี้พึงทราบได้ว่าภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ.
               อนึ่ง เมื่อชาติไม่มี ขึ้นชื่อว่าชรามรณะก็หามีไม่ และธรรมมีความโศกเป็นต้นก็หามีไม่ แต่เมื่อชาติมี ชรามรณะและธรรมมีความโศกเป็นต้นอันเกี่ยวเนื่องด้วยชรามรณะ ของคนพาลผู้ถูกทุกขธรรม คือชรามรณะถูกต้องแล้ว หรือไม่เนื่องด้วยชรามรณะของคนพาลผู้อันทุกขธรรมนั้นๆ ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ชาตินี้เป็นปัจจัยแก่ชรามรณะและแก่ธรรมมีความโศกเป็นต้นแล. ก็ชาตินั้นเป็นปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น โดยเงื่อนแห่งอุปนิสสยปัจจัย ดังนี้แล.
               นิเทศแห่งชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัยเป็นต้น จบ.               

               อธิบายภวจักร ๑๒ (บาลีข้อ ๒๗๓)               
               พึงทราบอรรถแห่งบทมีอาทิว่า เอวเมตสฺส (ความเกิดขึ้น ... นี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้นั้น) โดยนัยที่กล่าวแล้วในอุทเทสวาร.
               บทว่า สงฺคติ (ความไปร่วม) เป็นต้น๑- เป็นคำไวพจน์ของบทว่า สมุทโย (ความเกิดขึ้น) ทั้งหมด.
____________________________
๑- สงฺคติ สมาคโม สโมธานํ ปาตุภาโว แปลว่า ความไปร่วม ความมาร่วม ความประชุม ความปรากฏ.

               ก็เพราะในปัจจยาการวิภังค์นี้ ธรรมมีโสกะเป็นต้น ตรัสไว้สุดท้าย ฉะนั้น อวิชชานั้นใดที่ตรัสในเบื้องต้นแห่งภวจักรนี้ อย่างนี้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา (สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) ดังนี้ อวิชชานั้นสำเร็จแล้วแต่ธรรมมีโสกะเป็นต้น.
               ภวจักรนี้มีเบื้องต้น มิได้ปรากฏ เว้นจากผู้สร้างและผู้เสวย ว่างเปล่าจากความว่างเปล่า ๑๒ อย่าง บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นไปร่วมกัน ดังนี้.
               หากมีผู้สงสัย ถามว่า ก็ในภวจักรนี้ อวิชชาสำเร็จแต่ธรรมมีโสกะเป็นต้น อย่างไร? ภวจักรนี้มีเบื้องต้นมิได้ปรากฏอย่างไร? เว้นจากผู้สร้างและผู้เสวยอย่างไร? ว่างเปล่าจากความว่างเปล่า ๑๒ อย่าง อย่างไร?
               ก็คำตอบในที่นี้ คือโสกะ ทุกขะ โทมนัสและอุปายาสไม่พรากไปจากอวิชชา และขึ้นชื่อว่าปริเทวะ (ความคร่ำครวญรำพัน) ย่อมมีแก่คนหลง เพราะฉะนั้น เมื่อโสกะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสและปริเทวะเหล่านั้นสำเร็จแล้ว อวิชชาก็เป็นอันสำเร็จแล้วโดยแท้.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็คำที่ตรัสไว้ว่า "เพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด" ดังนี้ และข้อว่า ธรรมมีโสกะเป็นต้นนี้ ย่อมมีเพราะอาสวะเกิด ข้อนี้เป็นอย่างไร? คือ โสกะ ในเพราะการพลัดพรากจากวัตถุกาม ย่อมมีเพราะกามาสวะเกิดเท่านั้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         ตสฺส เจ กามยมานสฺส  ฉนฺทชาตสฺส ชนฺตุโน
                         เต กามา ปริหายนฺติ   สลฺลวิทฺโธว รุปฺปติ
                                        ถ้าเมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ เกิด
                         ความอยากได้แล้ว กามเหล่านั้น ย่อมเสื่อม
                         ไปไซร้ สัตว์นั้น ย่อมซบเซา เหมือนถูกศร
                         แทง ฉะนั้น.๒-
____________________________
๒- ขุ. สุตฺต. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๐๘/หน้า ๔๘๔.

               และเหมือนอย่างที่ตรัสว่า กามโต ชายติ โสโก (ความโศกย่อมเกิดแต่กาม) ก็ความโศกเป็นต้นเหล่านี้แม้ทั้งหมด ย่อมเกิดแต่ทิฏฐาสาวะ เหมือนอย่างที่ตรัสว่า เมื่อเขายึดถืออยู่ว่า เราเป็นรูป รูปเป็นของเรา ดังนี้ ย่อมเกิดโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เพราะความที่รูปนั้นแปรเปลี่ยนไป.๓-
               อนึ่ง ธรรมมีโสกะเป็นต้นย่อมเกิด แม้เพราะภวาสวะเกิด เหมือนทิฏฐาสวะเกิด เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเทวดาที่มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข ดำรงอยู่กาลนานในวิมานสูง แม้เทวดาเหล่านั้น ได้สดับพระธรรมเทศนาของตถาคตแล้ว โดยมากพากันถึงความกลัว ความสะดุ้ง ความสลดใจ ดังนี้๔- เหมือนพวกเทวดาเห็นบุพนิมิต ๕ พากันสะดุ้งเพราะกลัวแต่ความตาย ฉะนั้น.
               อนึ่ง ธรรมมีโสกะเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแม้เพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชา เหมือนภวาสวะเกิดขึ้นฉะนั้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นแลย่อมเสวยทุกข์โทมนัส (เพราะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว) ๓ อย่าง ในทิฏฐธรรม๕- ดังนี้ เพราะธรรม (มีโสกะเป็นต้น) เหล่านี้ ย่อมมีเพราะอาสวะเกิด ฉะนั้น ธรรมเหล่านี้เมื่อสำเร็จจึงยังอาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งอวิชชาให้สำเร็จ และเมื่ออาสวะทั้งหลายสำเร็จแล้ว แม้อวิชชาก็เป็นอันสำเร็จทีเดียว เพราะเมื่อมีปัจจัยจึงมีได้แล.
               ในที่นี้พึงทราบว่า อวิชชาสำเร็จแล้วด้วยธรรมมีโสกะเป็นต้นอย่างนี้ก่อน.
____________________________
๓- สํ. ขนฺธวาร. เล่ม ๑๗/ข้อ ๔/หน้า ๔.
๔- สํ. ขนฺธวาร. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๕๖/หน้า ๑๐๔.
๕- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๖๘/หน้า๓๑๑

               ก็เพราะเมื่ออวิชชาสำเร็จแล้ว เพราะเมื่อปัจจัยมีจึงมีอย่างนี้ ความสืบต่อกันไปแห่งเหตุและผลอย่างนี้ว่า "สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย เป็นต้นมิได้มีสิ้นสุด ฉะนั้น ภวจักรมีองค์ ๑๒ ที่เป็นไปด้วยอำนาจความเกี่ยวเนื่องกันแห่งเหตุและผลนั้น จึงสำเร็จว่ามีเบื้องต้นมิได้ปรากฏ.
               หากมีผู้สงสัยถามว่า เมื่อมีเบื้องต้นมิได้ปรากฏเช่นนี้ การกล่าวคำว่า อวิชชาเป็นธรรมข้อต้นนี้ว่า "เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย" ดังนี้ ก็ผิดไป มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ข้อนี้ มิใช่การกล่าวอวิชชาเป็นเพียงธรรมเบื้องต้น แต่ข้อนี้เป็นการกล่าวธรรมที่เป็นประธาน.
               จริงอยู่ อวิชชาเป็นประธานแห่งวัฏฏะ ๓#- เพราะว่า ด้วยการยึดถืออวิชชา กิเลสวัฏฏะที่เหลือ และกรรมวัฏฏะเป็นต้นย่อมผูกพันคนพาลไว้ เหมือนการจับศีรษะงู สรีระงูที่เหลือก็จะพันแขนอยู่ แต่เมื่อตัดอวิชชาขาดแล้วย่อมหลุดพ้นจากวัฏฏะเหล่านั้น เหมือนบุคคลตัดศีรษะงูแล้วก็จะพ้นจากการถูกพันแขน ฉะนั้น เหมือนอย่างที่ตรัสว่า "เพราะสำรอกอวิชชาโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ" ดังนี้เป็นต้น. เมื่อบุคคลยึดธรรมใด ความผูกพันย่อมมีและเมื่อปล่อยธรรมใด ความหลุดพ้นย่อมมี การกล่าวนี้เป็นการกล่าวธรรมที่เป็นประธาน (คืออวิชชา) นั้น มิใช่การกล่าวธรรมสักว่าเป็นเบื้องต้น พึงทราบภวจักรนี้ว่า "มีเบื้องต้นมิได้ปรากฏ" ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
#- คือ กิเลสวัฏ กรรมวัฏและวิปากวัฏ.

               ภวจักรนี้นั้น เพราะเหตุทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่ธรรมมีสังขารเป็นต้น ฉะนั้น จึงเว้นจากผู้สร้างสังสารนอกจากอวิชชาเป็นต้นนั้น เช่นพรหมเป็นต้นที่เขาคาดคะเนเอาอย่างนี้ว่า "พรหม มหาพรหมเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้จัดสรร" ดังนี้ หรือว่า เว้นจากอัตตาผู้เสวยสุขและทุกข์ที่เขาสมมติกันอย่างนี้ว่า "ก็อัตตาของเรานี้แลเป็นผู้กล่าวเป็นผู้เสวย" บัณฑิตพึงทราบว่า "เว้นจากผู้สร้างและผู้เสวย" ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะในภวจักรนี้ อวิชชาชื่อว่าว่างจากความยั่งยืน เพราะเป็นธรรมเกิดขึ้นและมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา ชื่อว่าว่างจากความงาม เพราะเป็นธรรมเศร้าหมองและเพราะประกอบด้วยสังกิเลส ชื่อว่าว่างจากความสุข เพราะถูกความเกิดและความเสื่อมบีบคั้น ชื่อว่าว่างจากอัตภาพผู้ครองอำนาจ เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย. องค์ทั้งหลายแม้มีสังขารเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               อีกนัยหนึ่ง เพราะอวิชชาไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ของอัตตา ไม่ใช่มีในอัตตา ไม่ใช่มีอัตตา องค์ทั้งหลายแม้มีสังขารเป็นต้นก็เหมือนกัน ฉะนั้น พึงทราบว่า ภวจักรนี้ว่างเปล่าโดยความว่าง ๑๒ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               ก็ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว พึงทราบอีกว่า
                                   ภวจักรนั้น มีอวิชชา และตัณหา
                         เป็นมูล มีกาล ๓ มีอดีตกาลเป็นต้น ในกาล
                         เหล่านั้น โดยสังเขปได้องค์ ๒ (อวิชชาและ
                         สังขาร) องค์ ๘ (มีวิญญาณเป็นต้น) และ
                         องค์ ๒ (ชาติและชรามรณะ) เท่านั้น.
               อธิบายว่า ธรรม ๒ คือ อวิชชาและตัณหา พึงทราบว่าเป็นมูลแห่งภวจักรนี้นั้นแล. ภวจักรนี้นั้นจึงมี ๒ อย่าง คือ อวิชชาเป็นมูลมีเวทนาเป็นที่สุดเพราะนำมาแต่ส่วนเบื้องต้น ตัณหาเป็นมูลมีชรามรณะเป็นที่สุดเพราะสืบต่อในส่วนเบื้องปลาย บรรดาภวจักรทั้ง ๒ นั้น ภวจักรแรก ตรัสด้วยอำนาจแห่งบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต ภวจักรหลัง ตรัสด้วยอำนาจบุคคลผู้มีตัณหาจริต. เพราะว่า บุคคลทั้งหลายผู้มีทิฏฐิจริต อวิชชาเป็นตัวนำไปสู่สังสาร แต่บุคคลผู้มีตัณหาจริต ตัณหาเป็นตัวนำไปสู่สังสาร.
               อีกนัยหนึ่ง ภวจักรแรกตรัสไว้เพื่อถอนอุจเฉททิฏฐิ เพราะทรงประกาศการไม่ตัดขาดแห่งเหตุทั้งหลายของความเกิดขึ้นแห่งผล ภวจักรที่ ๒ ตรัสเพื่อถอนสัสสตทิฏฐิ เพราะทรงประกาศชรามรณะของพวกสัตว์ที่เกิดขึ้น.
               อีกนัยหนึ่ง ภวจักรแรกตรัสด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ เพราะทรงแสดงความเป็นไปโดยลำดับ (อายตนะที่เกิด) ภวจักรหลัง ตรัสด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เป็นโอปปาติกะ เพราะทรงแสดงความเกิดขึ้นพร้อมกัน (แห่งอายตนะ).

               อธิบายกาล ๓               
               อนึ่ง กาลของภวจักรนั้นมี ๓ คืออดีต ปัจจุบันและอนาคต ในกาลเหล่านั้น ว่าด้วยอำนาจกาลที่มาในพระบาลีโดยสรุป พึงทราบว่า มีองค์ ๒ คืออวิชชาและสังขาร เป็นอดีตกาล. องค์ ๘ มีวิญญาณเป็นต้นมีภพเป็นที่สุด๑- เป็นปัจจุบันกาล. และองค์ ๒ คือชาติและชรามรณะ เป็นอนาคตกาล.
____________________________
๑- อรรถกถาว่า ภวาสวานิ. แต่ฉบับ ม. ว่า ภวาวสานานิ.

               และพึงทราบอีกว่า

               อธิบายสนธิ ๓               
                                   ก็ภวจักรนี้มีสนธิ ๓ คือ เหตุผลสนธิ ๑#-
                         ผลเหตุสนธิ ๑ เหตุปุพพกผลสนธิ ๑ และมี
                         สังคหะ ๔ ประเภท คือ อาการ ๒๐ มีวัฏฏะ ๓
                         ย่อมหมุนไปไม่มีกำหนด ดังนี้.
____________________________
#- เหตุผลสนธิอันแรก ได้แก่สังขารเป็นเหตุอดีตต่อกับวิญญาณซึ่งเป็นผลในปัจจุบัน ผลเหตุสนธิที่ ๒ ได้แก่เวทนาซึ่งเป็นปัจจุบันผลต่อกับตัณหาในปัจจุบันเหตุ และเหตุผลสนธิสุดท้าย ได้แก่ภพเป็นปัจจุบันเหตุต่อกับชาติอันเป็นอนาคตผล.

               บรรดาภวจักรเหล่านั้น ในระหว่างสังขารทั้งหลายและปฏิสนธิวิญญาณเป็นสนธิหนึ่ง ชื่อว่าเหตุผลสนธิ. ในระหว่างเวทนาและตัณหา เป็นสนธิหนึ่ง ชื่อว่าผลเหตุสนธิ. ในระหว่างภพและชาติ เป็นสนธิหนึ่ง ชื่อว่าเหตุปุพพกผลสนธิ. เพราะฉะนั้น ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มีสนธิ ๓ คือ เหตุผลสนธิ ๑ ผลเหตุสนธิ ๑ และเหตุปุพพกผลสนธิ ๑ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               อธิบายสังคหะ ๔#-               
               อนึ่ง ภวจักรนี้ มีสังหคะ ๔ ซึ่งกำหนดถือเอาภวจักรตั้งแต่เบื้องต้น (คืออวิชชา) และที่สุด (คือชรามรณะ) แห่งสนธิทั้งหลาย.
               ข้อนี้เป็นอย่างไร?
               คือ อวิชชาและสังขาร เป็นสังคหะที่ ๑. วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนา เป็นสังคหะที่ ๒. ตัณหา อุปาทาน และภพ เป็นสังคหะที่ ๓. ชาติชรามรณะ เป็นสังคหะที่ ๔.
               พึงทราบว่า ภวจักรนี้มีสังคหะ ๔ ประเภทด้วยประการฉะนี้.
____________________________
#- คำว่า สังคหะ ๔ ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเรียกว่า สังเขป ๔.

               อธิบายอาการ ๒๐               
               อนึ่ง พึงทราบว่า ภวจักรมีอาการ ๒๐ ด้วยอาการ ๒๐ เหล่านี้ คือ
                         ในอดีตมีเหตุ ๕ ในปัจจุบันมีผล ๕
                         ในปัจจุบันมีเหตุ ๕ ในอนาคตมีผล ๕.
               บรรดาภวจักรเหล่านั้น คำว่า ในอดีตมีเหตุ ๕ ความว่า องค์ ๒ เหล่านี้คืออวิชชาและสังขาร ตรัสไว้ก่อนทีเดียว แต่เพราะบุคคลผู้โง่เขลา ย่อมสะดุ้ง บุคคลผู้สะดุ้งย่อมยึดมั่น ภพจึงเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยแก่บุคคลนั้น ฉะนั้น จึงทรงถือเอาแม้ตัณหา อุปาทานและภพด้วย เพราะเหตุนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกล่าวว่า โมหะคืออวิชชา กรรมที่ประกอบคือสังขาร ความใคร่คือตัณหา การเข้าถึงคืออุปาทาน เจตนาคือภพ ธรรมทั้ง ๕ เหล่านี้ในกรรมภพก่อน เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในภพนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ในกรรมภพก่อน ได้แก่ กรรมภพที่เกิดก่อน คือกรรมภพที่ทำไว้ในอดีตชาติ. คำว่า โมหะคืออวิชชา อธิบายว่า โมหะ (ความหลง) ในสัจจะมีทุกข์เป็นต้น ในกาลนั้น อันใด สัตว์นั้นหลงแล้วย่อมทำกรรมด้วยโมหะใด นั้นเป็นอวิชชา. คำว่า กรรมที่ประกอบคือสังขาร ได้แก่ เจตนาแรกของบุคคลผู้ทำกรรมนั้น เหมือนการยังจิตให้เกิดขึ้นด้วยอันคิดว่า "เราจักถวายทาน" แล้วจัดแจงอยู่ซึ่งอุปกรณ์แห่งการให้ทานหนึ่งเดือนบ้าง หนึ่งปีบ้าง ก็เจตนาของบุคคลที่ยังทักษิณาให้ตั้งขึ้นในมือของปฏิคาหกทั้งหลาย ท่านเรียกว่า ภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง เจตนาในชวนะ ๖ ซึ่งมีอาวัชชนะเดียวกัน ชื่อว่าอายุหนสังขาร (กรรมที่ประกอบคือสังขาร) เจตนาดวงที่ ๗ ชื่อว่าภพ.
               อนึ่ง เจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อภพ ธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนานั้น ชื่อว่าอายุหนสังขาร.
               คำว่า ความใคร่คือตัณหา ความว่า ความใคร่ คือความปรารถนาในอุปปัตติภพซึ่งเป็นผลของบุคคลผู้ทำกรรมอยู่นั้น ชื่อว่าตัณหา.
               คำว่า ความเข้าถึงคืออุปาทาน ความว่า การเข้าถึง การยึด การถือ ที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า "เราทำกรรมนี้ให้เป็นปัจจัยแก่ภพแล้ว จักเสพกามในฐานะชื่อโน้น จักขาดสูญ" ดังนี้อันใด นี้ชื่อว่าอุปาทาน.
               คำว่า เจตนาคือภพ ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปในที่สุดแห่งกรรมที่ประกอบ ชื่อว่าภพ พึงทราบเนื้อความนี้ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า ในปัจจุบันมีผล ๕ ได้แก่ ภวจักรมีวิญญาณเป็นต้นมีเวทนาเป็นที่สุดมาในพระบาลีนั้นแหละ เหมือนอย่างที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวว่า ในอุปปัตติภพนี้ ปฏิสนธิคือวิญญาณ ๑ ความก้าวลงคือนามรูป ๑ ประสาทคืออายตนะ ๑ ความถูกต้องคือผัสสะ ๑ ความเสวยอารมณ์คือเวทนา ๑ ธรรมทั้ง ๕ เหล่านี้มีในในอุปปัตติภพนี้ เพราะกรรมที่ทำไว้แล้วในกาลก่อนเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้. ในธรรม ๕ นั้น คำว่า ปฏิสนธิคือวิญญาณ ที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปฏิสนธิ เพราะความเกิดขึ้นด้วยอำนาจความสืบต่อในภพอื่น ดังนี้อันใด นั้นชื่อว่าวิญญาณ.
               คำว่า การก้าวลงคือนามรูป ความว่า การหยั่งลงในครรภ์ของรูปธรรมและอรูปธรรมเป็นเหมือนมาแล้วเข้าไปอันใด นี้เรียกว่านามรูป. คำว่า ประสาทคืออายตนะ นี้ กล่าวไว้ด้วยอำนาจอายตนะ ๕ มีจักขวายตนะเป็นต้น. คำว่า การถูกต้องคือผัสสะ ได้แก่ การถูกต้องแล้วหรือกำลังถูกต้องซึ่งอารมณ์อันใด นี้เรียกว่าผัสสะ. คำว่า ความเสวยอารมณ์ คือเวทนา ได้แก่การเสวยวิบากซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ หรือผัสสะที่มีสฬายตนะเป็นปัจจัยอันใด นั้นเรียกว่าเวทนา
               พึงทราบเนื้อความนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า ในปัจจุบันมีเหตุ ๕ ได้แก่ เหตุทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นมาแล้วในพระบาลีนั้นแหละ คือ ตัณหา อุปาทานและภพ ก็เมื่อถือเอาภพแล้ว ก็เป็นอันถือสังขารอันเป็นบุพภาคแห่งภพนั้น หรือธรรมอันสัมปยุตด้วยภพนั้นเหมือนกัน และด้วยการถือเอาตัณหาและอุปาทาน ก็เป็นอันถือเอาอวิชชาอันสัมปยุตด้วยตัณหาและอุปาทานนั้น หรือว่าเป็นเหตุให้คนผู้หลงทำกรรมนั้น เพราะฉะนั้น องค์แห่งภวจักรนั้น จึงเป็น ๕ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกล่าวว่า เพราะความที่อายตนะทั้งหลายในโลกนี้แก่หง่อมแล้ว โมหะคืออวิชชา กรรมที่ประกอบคือสังขาร ความใคร่คือตัณหา การเข้าถึงคืออุปาทาน เจตนาคือภพ ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ดังกล่าวนี้ในภพนี้เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิญญาณในอนาคต ดังนี้. ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะความที่อายตนะทั้งหลายในโลกนี้แก่หง่อมแล้ว นั้นแสดงบุคคลผู้หลงใหลในเวลาทำกรรมของสัตว์ผู้มีอายตนะหง่อมแล้ว.
               คำที่เหลือมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               คำว่า ในอนาคตมีผล ๕ ได้แก่ ผล ๕ มีวิญญาณเป็นต้น.
               ผล ๕ มีวิญญาณเป็นต้นนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ด้วยศัพท์ว่าชาติ ส่วนชรามรณะก็เป็นชรามรณะของผล ๕ มีวิญญาณเป็นต้นเหล่านั้นแหละ ด้วยเหตุนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกล่าวว่า ในอนาคต ปฏิสนธิคือวิญญาณ ความก้าวลงคือนามรูป ประสาทคืออายตนะ การถูกต้องคือผัสสะ การเสวยอารมณ์คือเวทนา ธรรมทั้ง ๕ เหล่านี้ ดังกล่าวนี้มีในอุปปัตติภพในอนาคต เพราะกรรมที่ทำไว้แล้วในภพนี้เป็นปัจจัย ดังนี้.
               ภวจักรนี้มีอาการ ๒๐ ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาภวจักรมีอาการ ๒๐ เหล่านั้น ในภพก่อนมีองค์ประกอบ คือกรรม (ที่เป็นเหตุ) ๕ อย่าง ในปัจจุบันมีธรรมที่เป็นวิบาก ๕ อย่าง ในปัจจุบันมีองค์ประกอบคือกรรม ๕ อย่าง ในอนาคตมีธรรมที่เป็นวิบาก ๕ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นธรรมที่เป็นกรรม ๑๐ อย่าง เป็นวิบาก ๑๐ อย่าง ด้วยอาการที่กล่าว กรรมในฐานะทั้งสองจึงชื่อว่ากรรม วิบากในฐานะทั้งสองชื่อว่าวิบาก ภวจักรแม้ทั้งหมดนี้เป็นทั้งกรรมเป็นทั้งวิบากของกรรม หมุนไปโดยปัจจยาการด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง กรรมในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่ากรรมสังเขป (ย่อกรรม) วิบากในฐานะทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่าวิปากสังเขป (ย่อวิบาก) เพราะฉะนั้น ภวจักรทั้งหมดนี้ จึงเป็นทั้งกรรมวัฏและวิปากวัฏ.
               อนึ่ง กรรมในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่ากรรมภพ วิบากในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่าวิปากภพ เพราะฉะนั้น ภวจักรทั้งหมดนี้จึงเป็นทั้งกรรมภพและวิปากภพ. กรรมในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่ากรรมปวัตตะ วิบากในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่าวิปากปวัตตะ เพราะฉะนั้น ภวจักรทั้งหมดนี้จึงเป็นทั้งกรรมปวัตตะและวิปากปวัตตะ.
               อนึ่ง กรรมในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่ากรรมสันตติ วิปากในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่าวิปากสันตติ เพราะฉะนั้น ภวจักรทั้งหมดนี้จึงเป็นทั้งกรรมสันตติและวิปากสันตติ.
               อนึ่ง กรรมในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่ากิริยา วิบากในฐานะทั้ง ๒ ชื่อว่าผลของกิริยา เพราะฉะนั้น ภวจักรทั้งหมดนี้จึงเป็นทั้งกิริยาและผลของกิริยา ด้วยประการฉะนี้.
                                   ภวจักรนี้ เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ประกอบ
                         ด้วยเหตุ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง มีความหวั่นไหว
                         เปลี่ยนแปลง ไม่ยั่งยืน ธรรมทั้งหลาย ย่อม
                         เกิดแต่ธรรมทั้งหลาย โดยความเป็นเหตุ
                         เพราะในธรรมเหล่านี้หาตัวตน และคนอื่น
                         มิได้.
                         -----------------------------------------------------
                                   ธมฺมา ธมฺเม สญฺชเนนฺติ เหตุสมฺภารปจฺจยา
                         เหตูนญฺจ นิโรธาย ธมฺโม พุทฺเธน เทสิโต
                                   ธรรมทั้งหลาย ย่อมยังธรรมทั้งหลาย
                         ให้เกิดขึ้นเอง เพราะปัจจัยคือเหตุเป็นองค์
                         ประกอบ ก็พระธรรมอันพระพุทธเจ้าทรง
                         แสดงไว้ เพื่อความดับซึ่งเหตุทั้งหลาย.
                                   ธรรมและอธรรม ย่อมยังธรรมและ
                         อธรรม ให้เกิดขึ้นเอง เพราะปัจจัยคือเหตุ
                         เป็นองค์ประกอบ ก็พระธรรมอันพระพุทธ-
                         เจ้า ทรงแสดงไว้ เพื่อความดับซึ่งเหตุ
                         ทั้งหลาย.
                         -----------------------------------------------------

                                   เมื่อเหตุทั้งหลายดับแล้ว วัฏฏะก็ขาด
                         ไม่หมุนเวียน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ใน
                         พระธรรมวินัยนี้ ย่อมมีเพื่อทำซึ่งที่สุดแห่ง
                         ทุกข์ ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เมื่อค้นหา
                         ความเป็นสัตว์ไม่ได้ ความขาดสูญและความ
                         ยั่งยืน ก็ย่อมไม่มี.

               ก็ในคำว่า วัฏฏะ ๓ ย่อมหมุนไปไม่มีกำหนด นี้อธิบายว่า ภวจักรนี้มีวัฏฏะ ๓ ด้วยวัฏฏะ ๓ เหล่านี้ คือ "สังขารและภพ เป็นกรรมวัฏ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลสวัฏ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนา เป็นวิปากวัฏ" พึงทราบว่า ย่อมหมุนไป โดยการหมุนไป รอบบ่อยๆ ชื่อว่าไม่มีกำหนดเพราะมีปัจจัยไม่ขาดสายตลอดเวลาที่กิเลสวัฏยังไม่ขาดทีเดียว.
               ภวจักรนี้ เมื่อหมุนอย่างนี้
                                   พึงทราบ โดยความเป็นสัจจะ และ
                         เป็นแดนเกิดแห่งสัจจะ ๑ โดยกิจ ๑ โดยการ
                         ห้าม ๑ โดยการอุปมา ๑ โดยประเภทแห่งความ
                         ลึกซึ้ง ๑ โดยประเภทแห่งนัย ๑ ตามควร.
                         พึงทราบโดยความเป็นสัจจะและเป็นแดนเกิด
               ในคาถานั้น เพราะคำที่ตรัสไว้ในสัจจวิภังค์ว่า "กุศลและอกุศลกรรม เป็นสมุทยสัจจะ โดยไม่แปลกกัน" ดังนี้ ฉะนั้น คำว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนี้ ได้แก่ สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชา จัดเป็นสัจจะที่ ๒ มีสัจจะที่ ๒ เป็นแดนเกิด. วิญญาณเกิดแต่สังขารทั้งหลาย จัดเป็นสัจจะที่ ๑ มีสัจจะที่ ๒ เป็นแดนเกิด. นามรูปเป็นต้นมีวิปากเวทนาเป็นที่สุด เกิดเพราะวิญญาณเป็นต้น จัดเป็นสัจจะที่ ๑ มีสัจจะที่ ๑ เป็นแดนเกิด. ตัณหาเกิดแต่เวทนา จัดเป็นสัจจะที่ ๒ มีสัจจะที่ ๑ เป็นแดนเกิด. อุปาทานเกิดแต่ตัณหา จัดเป็นสัจจะที่ ๒ มีสัจจะที่ ๒ เป็นแดนเกิด. ภพเกิดแต่อุปาทาน จัดเป็นสัจจะทั้ง ๒ คือที่ ๑ และที่ ๒ เกิดแต่สัจจะที่ ๒ เป็นแดนเกิด. ชาติเกิดแต่ภพ จัดเป็นสัจจะที่ ๑ เกิดแต่สัจจะที่ ๒. ชรามรณะเกิดแต่ชาติ จัดเป็นสัจจะที่ ๑ มีสัจจะที่ ๑ เป็นแดนเกิด. ภวจักรนี้ พึงทราบโดยเป็นสัจจะและเป็นแดนเกิดตามควร ดังพรรณนามาฉะนี้ก่อน.

               พึงทราบภวจักรโดยกิจ               
               อนึ่ง เพราะในภวจักรนี้ อวิชชาย่อมยังเหล่าสัตว์ให้หลงใหลในวัตถุทั้งหลาย และย่อมเป็นปัจจัย เพราะความปรากฏแห่งสังขารทั้งหลาย. อนึ่ง สังขารทั้งหลายย่อมปรุงแต่งสังขตธรรม และย่อมเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ. แม้วิญญาณก็ย่อมรู้ชัดซึ่งวัตถุ และย่อมเป็นปัจจัยแก่นามรูป. แม้นามรูปก็อุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน และย่อมเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ. แม้สฬายตนะก็ย่อมเป็นไปในวิสัยของตน และย่อมเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ. แม้ผัสสะก็ถูกต้องซึ่งอารมณ์ และย่อมเป็นปัจจัยแก่เวทนา. แม้เวทนาก็เสวยซึ่งรสอารมณ์ และย่อมเป็นปัจจัยแก่ตัณหา. แม้ตัณหาก็กำหนัดในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด และย่อมเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน. แม้อุปาทานก็ยึดถือธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ และย่อมเป็นปัจจัยแก่ภพ. แม้ภพก็สับสนไปในคติต่างๆ และย่อมเป็นปัจจัยแก่ชาติ. แม้ชาติก็ยังขันธ์ทั้งหลายให้เกิด เพราะขันธ์เหล่านั้นเป็นไปด้วยภาวะคือความเกิดโดยเฉพาะ และย่อมเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ. แม้ชรามรณะก็ตั้งอยู่เฉพาะซึ่งความแก่และความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย และย่อมเป็นปัจจัยแก่ความปรากฏในภพอื่น เพราะความที่ขันธ์ทั้งหลายเป็นที่รองรับความโศกเป็นต้น ฉะนั้น ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบแม้โดยกิจอันเป็นไป ๒ อย่าง ในบททั้งปวงตามสมควร.

               พึงทราบภวจักรโดยการห้าม               
               อนึ่ง เพราะในภวจักรนี้ คำว่า "สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย" ดังนี้ เป็นการห้ามความเห็นว่ามีผู้สร้าง. คำว่า วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย นี้เป็นการห้ามความเห็นว่าอัตตาเคลื่อนจากที่ (หนึ่งไปที่หนึ่ง) ได้. คำว่า นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นี้ เป็นการห้ามความสำคัญว่าเป็นก้อน เพราะเห็นการแตกไปแห่งวัตถุที่กำหนดกันว่ามีอัตตา. ในคำว่า สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ดังนี้เป็นต้น เป็นการห้ามความเห็นมีอาทิอย่างนี้ว่า อัตตาย่อมเห็น ฯลฯ ย่อมรู้ ย่อมถูกต้อง ย่อมเสวย ย่อมยึด ย่อมถือมั่น ย่อมมี ย่อมเกิด ย่อมแก่ ย่อมตาย" ดังนี้ ฉะนั้น พึงทราบภวจักรแม้นี้โดยการห้ามความเห็นผิดตามควรเถิด.

               พึงทราบภวจักรโดยการอุปมา               
               ก็เพราะในภวจักรนี้ อวิชชาเปรียบเหมือนคนบอด เพราะไม่เห็นธรรมทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งสภาวลักษณะและสามัญลักษณะ สังขารทั้งหลายที่เกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการลื่นถลาของคนบอด. วิญญาณที่เกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการล้มของคนบอดผู้ลื่นถลา. นามรูปที่เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนความปรากฏแผลฝีของคนบอดที่ล้มแล้ว. สฬายตนะที่เกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนต่อมที่แตกของหัวฝี. ผัสสะที่เกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการกระทบกับหัวฝี.
               เวทนาที่เกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนความไม่สบาย (ทุกข์) เพราะการกระทบ. ตัณหาที่เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนผู้ต้องการบำบัดทุกข์. อุปาทานที่เกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการถือเอาเภสัชที่เป็นอสัปปายะมาโดยปรารถนาจะบำบัดโรค. ภพที่เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการพอกยาอสัปปายะที่ตนเก็บมา. ชาติที่เกิดเพราะภพเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการปรากฏเป็นฝีกลาย ด้วยการพอกยาที่เป็นอสัปปายะ. ชรามรณะที่เกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย เปรียบเหมือนการแตกแห่งฝีเพราะฝีกลาย.
               ก็หรือว่า เพราะในภวจักรนี้ อวิชชาย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย โดยภาวะที่ไม่ปฏิบัติ และภาวะที่ปฏิบัติผิด ดุจผ้าปิดดวงตา ก็คนพาลถูกอวิชชาครอบงำแล้วย่อมผูกตนไว้ด้วยสังขารทั้งหลาย อันให้เกิดในภพใหม่ ดุจตัวไหมรัดตัวไว้โดยส่วนแห่งรังไหม. วิญญาณที่กำหนดไว้ด้วยสังขารย่อมได้ที่อาศัยในคติทั้งหลาย ดุจพระราชกุมารผู้อันปริณายกประคองแล้ว ย่อมได้เสวยราชสมบัติ. วิญญาณย่อมยังนามรูปมีประการอเนกให้บังเกิดในปฏิสนธิ เพราะกำหนดนิมิตแห่งการอุบัติ ดุจนายมายากรยังมายากลให้เกิด. สฬายตนะอาศัยนามรูปแล้วย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ดุจกอไม้ป่าอาศัยในภูมิภาคอันดี. ผัสสะย่อมเกิดเพราะการกระทบแห่งอายตนะ ดุจไฟเกิดเพราะการสีกันแห่งไม้สีไฟ.
               เวทนาย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้กระทบด้วยผัสสะ ดุจความร้อนของบุคคลผู้ถูกต้องไฟ. ตัณหาย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เสวยอารมณ์อยู่ ดุจความกระหายของผู้ดื่มน้ำเค็มเพิ่มขึ้น บุคคลผู้กระหายแล้วย่อมทำความปรารถนาในภพทั้งหลาย ดุจบุคคลกระหายในการดื่มน้ำ. การทำความอยากนั้นเป็นอุปาทานของเขา ย่อมยึดถือภพด้วยอุปาทาน ดุจปลาติดเบ็ด ด้วยความโลภในเหยื่อ. เมื่อภพมี ชาติก็ย่อมมี ดุจเมื่อเมล็ดพืชมี หน่อก็ต้องมี. บุคคลเกิดแล้วย่อมเข้าถึงชรามรณะแน่นอน ดุจต้นไม้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องล้มไป ฉะนั้น ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบด้วยการอุปมาทั้งหลายตามควร ด้วยประการฉะนี้.

               พึงทราบภวจักรโดยประเภทแห่งความลึกซึ้ง               
               ก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความลึกซึ้งโดยอรรถบ้าง โดยธรรมบ้าง โดยเทศนาบ้าง โดยการแทงตลอดบ้าง จึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง" ดังนี้๑- ฉะนั้น ภวจักรแม้นี้ บัณฑิตพึงทราบโดยประเภทแห่งความลึกซึ้งตามควร.
____________________________
๑- สํ. นิทาน. เล่มที่ ๑๖/ข้อ ๒๒๕/หน้า ๑๑๑.

               ในความลึกซึ้งโดยอรรถเป็นต้นเหล่านั้น เพราะชรามรณะจะไม่มีมาแต่ชาติ (ความเกิด) ก็หาไม่ และเว้นชาติเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดจากสิ่งอื่น และย่อมปรากฏเพราะชาติแน่แท้ เพราะฉะนั้น อรรถว่าเกิดและปรากฏ เพราะชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะจึงชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะอรรถปรากฏขึ้นเพราะชาติเป็นปัจจัยอันสัตว์ตรัสรู้ได้โดยยาก ด้วยประการฉะนี้. อรรถว่าเกิดและปรากฏเพราะภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย ก็ชื่อว่าลึกซึ้ง ฉะนั้น ภวจักรนี้ชื่อว่าลึกซึ้งโดยอรรถ.
               นี้เป็นความลึกซึ้งโดยอรรถในภวจักรนี้ก่อน.
               ก็ผลอันเกิดแต่เหตุ ตรัสเรียกว่า อรรถ เหมือนอย่างที่ตรัสว่า "ญาณ (ความรู้) ในผลของเหตุ ชื่อว่า อรรถปฏิสัมภิทา" เป็นต้น.
               อนึ่ง เพราะอวิชชามีกิริยาที่ตั้งลงอันใด โดยอาการใด จึงเป็นปัจจัยแก่สังขารเหล่านั้นๆ อรรถว่าเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายของอวิชชา เพราะกิริยาและอาการนั้นอันสัตว์ตรัสรู้ได้ยาก จึงชื่อว่าลึกซึ้ง อรรถว่าเป็นปัจจัยแก่วิญญาณของสังขารทั้งหลาย ฯลฯ อรรถว่าเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะของชาติ ก็ชื่อว่าลึกซึ้งเหมือนกัน ฉะนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกซึ้งโดยธรรม.
               นี้เป็นความลึกซึ้งโดยธรรมในภวจักรนี้.
               ก็คำว่า ธรรม นี้เป็นชื่อของเหตุ เหมือนอย่างที่ตรัสว่า "ญาณ (ความรู้) ในเหตุ ชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา" เป็นต้น. อนึ่ง เพราะแม้เทศนาซึ่งภวจักรนั้นชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะพระองค์ทรงให้เป็นไปโดยเหตุนั้นๆ โดยประการนั้นๆ ญาณอื่นๆ นอกจากสัพพัญญุตญาณแล้วย่อมไม่ได้ความมั่นคงในเทศนานั้น เพราะภวจักรนี้ในพระสูตรบางแห่งทรงแสดงโดยอนุโลม บางแห่งทรงแสดงโดยปฏิโลม บางแห่งทรงแสดงทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม บางแห่งก็ทรงแสดงโดยอนุโลมบ้าง โดยปฏิโลมบ้างตั้งแต่ท่ามกลางไป บางแห่งก็ทรงแสดงเป็นสนธิ ๓ และสังเขป ๔ บางแห่งทรงแสดงสนธิ ๒ และสังเขป ๓ บางแห่งทรงแสดงสนธิ ๑ และสังเขป ๒ ฉะนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกซึ้งโดยเทศนา.
               นี้เป็นความลึกซึ้งโดยเทศนา ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะในภวจักรนี้ สภาวะแห่งธรรมมีอวิชชาเป็นต้นอันใด ธรรมมีอวิชชาเป็นต้นย่อมเป็นธรรมอันบุคคลแทงตลอดโดยลักษณะของตน ด้วยการแทงตลอดอันใด สภาวะนั้นชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะหยั่งลงได้โดยยาก ฉะนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกซึ้งโดยการแทงตลอด.
               เพราะในภวจักรนี้ อรรถแห่งอวิชชาเป็นอัญญาณ (ความไม่รู้) เป็นอทรรศนะ (ความไม่เห็น) และการไม่แทงตลอดสัจจะซึ่งเป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งสังขารทั้งหลายว่าเป็นสภาพปรุงแต่ง การประกอบกรรม เป็นไปกับราคะและปราศจากราคะ เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งวิญญาณว่าเป็นสุญญตะ (ว่างเปล่า) ไม่ขวนขวาย ไม่เคลื่อนไปและปรากฏเป็นปฏิสนธิ เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งนามรูปว่าเป็นสภาพเกิดพร้อมกัน แยกกันได้ แยกกันไม่ได้ น้อมไปและแปรผัน เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งสฬายตนะว่าเป็นอธิบดี (เป็นใหญ่ยิ่ง) เป็นโลก เป็นทวาร เป็นเขตและเป็นอารมณ์ เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งผัสสะว่าเป็นการถูก การกระทบ การประจวบ และการประชุม เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งเวทนาว่าเป็นการเสวยรสอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ ความวางเฉยและเสวยอารมณ์อันไม่มีชีวะ เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งตัณหาว่าเป็นความเพลิดเพลิน ความปรารถนาความเพลิดเพลินนั้น เป็นของให้เต็มได้ยาก ดังสายลำธาร แม่น้ำ ตัณหาคือทะเล เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งอุปาทานว่าเป็นความยึด ความถือ ความยึดมั่น ความลูบคลำก้าวล่วงได้โดยยาก เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งภพว่าเป็นการซัดไปในกำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาสเพราะการปรุงแต่งแห่งการทำกรรม เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งชาติว่าเป็นความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิดและความปรากฏ เป็นอรรถลึกซึ้ง. อรรถแห่งชรามรณะว่าเป็นความสิ้น ความเสื่อม ความแตกและความแปรปรวน เป็นอรรถลึกซึ้ง.
               นี้เป็นความลึกซึ้งโดยการแทงตลอดในภวจักรนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               พึงทราบภวจักรโดยประเภทแห่งนัย               
               อนึ่ง ในภวจักรนี้ มีอรรถนัย (นัยแห่งอรรถ) ๔ คือ
                         เอกัตตนัย นัยที่มีอรรถอย่างเดียวกัน
                         นานัตตนัย นัยที่มีอรรถต่างกัน
                         อัพยาปารนัย นัยที่ไม่มีการขวนขวาย
                         เอวังธัมมตานัย นัยที่มีอย่างนี้เป็นธรรมดา.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบภวจักรนี้ แม้โดยความต่างนัยตามควร.
               บรรดานัยทั้ง ๔ นั้น ความไม่ขาดแห่งสันดาน (ความสืบต่อ) เหมือนความที่เมล็ดพืชเกิดเป็นต้นไม้ โดยความมีหน่อเป็นต้น อย่างนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขารทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าเอกัตตนัย.
               เมื่อพระโยคาวจรเห็นภวจักรโดยชอบ ย่อมละอุจเฉททิฏฐิได้ เพราะหยั่งรู้ความไม่ขาดไปแห่งความสืบต่ออันเป็นไปอยู่ด้วยความเกี่ยวข้องกันทั้งเหตุและผล เมื่อเห็นผิดย่อมยึดถือสัสสตทิฏฐิ โดยยึดเป็นอันเดียวกันแห่งความไม่ขาดตอนแห่งความสืบต่อ ซึ่งกำลังเป็นไป ด้วยความพันกันซึ่งเหตุและผล.
               ส่วนความกำหนดลักษณะภวจักรมีอวิชชาเป็นต้น ตามภาวะของตน ชื่อว่านานัตตนัย เมื่อพระโยคาวจรเห็นภวจักรโดยชอบ ย่อมละสัสสตทิฏฐิได้ เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งสภาวะใหม่ๆ เมื่อเห็นผิดย่อมยึดถืออุจเฉททิฏฐิ เพราะยึดถือความต่างกันแห่งความสืบต่อที่แตกไป ซึ่งตกไปในสันดานเดียวกันนั่นเอง.
               ความที่อวิชชาไม่มีความขวนขวายว่า สังขารทั้งหลายอันเราพึงให้เกิดขึ้น หรือความที่สังขารทั้งหลายไม่มีความขวนขวายว่า วิญญาณอันพวกเราพึงให้เกิดขึ้น ดังนี้ เป็นต้นด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าอัพยาปารนัย. เมื่อพระโยคาวจรเห็นอยู่โดยชอบ ย่อมละอัตตทิฏฐิ เพราะหยั่งเห็นความไม่มีผู้สร้าง เมื่อเห็นผิดย่อมยึดถืออกิริยทิฏฐิ เพราะความไม่ยึดถือความที่เหตุอันสำเร็จโดยกำหนดสภาวะแห่งอวิชชาเป็นต้น ในเพราะไม่มีความขวนขวายแม้นั้น.
               อนึ่ง ความเกิดขึ้นแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้น ด้วยเหตุทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ไม่ใช่ธรรมเหล่าอื่น เหมือนความที่นมส้มเป็นต้นเกิดแต่นมสดเป็นต้น ดังนี้ นี้ชื่อว่าเอวังธัมมตานัย. เมื่อพระโยคีเห็นโดยชอบย่อมละอเหตุกทิฏฐิและอกิริยทิฏฐิได้ เพราะหยั่งรู้ผลโดยสมควรแก่ปัจจัย เมื่อเห็นผิด ย่อมยึดถืออเหตุกทิฏฐิและนิยตวาทะ (ความเห็นว่าเที่ยง) เพราะไม่ยึดถือความเป็นไปแห่งผลอันควรแก่ปัจจัย ไม่ยึดถือความเกิดของสภาพอะไรๆ แต่ที่ไหนๆ เลย เพราะฉะนั้น ภวจักรนี้ บัณฑิต
                                   พึงทราบโดยความเป็นสัจจะและเป็น
                         แดนเกิดแห่งสัจจะ ๑ โดยกิจ ๑ โดยการห้าม
                         ๑ โดยอุปมา ๑ โดยประเภทอันลึกซึ้ง ๑
                         โดยประเภทแห่งนัย ๑ ตามควรด้วยประการ
                         ฉะนี้.
               จริงอยู่ ภวจักรนี้ ชื่อว่าหยั่งไม่ถึง เพราะลึกซึ้ง ชื่อว่าก้าวล่วงได้ยาก เพราะต้องศึกษาเอาโดยนัยต่างๆ ใครๆ ยังไม่ทำลายภวจักร (ความหมุนไปแห่งภพ) อันย่ำยีอยู่เป็นนิตย์ดุจอสนิบาต ด้วยดาบคือญาณอันลับดีแล้ว บนหินคือสมาธิอันประเสริฐแล้วจะผ่านพ้นภัยคือสังสารไม่ได้ ย่อมไม่มีแม้ในระหว่างแห่งความฝัน ข้อนี้สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นผู้ยุ่งเหมือนเส้นด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมกระจุกเส้นด้าย เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ย่อมไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สังสาร ดังนี้๑- เพราะฉะนั้น บัณฑิตในโลกนี้ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ตนหรือแก่ชนเหล่าอื่น พึงละกิจที่เหลือแล้ว
                                   พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ประกอบความ
                         เพียรเนืองๆ ก็จะพึงได้ความหยั่งลงใน
                         ประเภทแห่งปัจจยาการอันลึกซึ้งนี้ได้แล.
____________________________
๑- สํ. นิทาน. เล่มที่ ๑๖/ข้อ ๒๒๕/หน้า ๑๑๑.

               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ปัจจยาการวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 242อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 255อ่านอรรถกถา 35 / 274อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=3732&Z=3845
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=3266
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=3266
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :