ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ

๓. ปัตตวรรค
๓. เภสัชชสิกขาบท
ว่าด้วยเภสัช
เรื่องพระปิลินทวัจฉะ
[๖๑๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะประสงค์จะทำ ที่เร้นจึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความสะอาดเงื้อมเขาในกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระเจ้า พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับ นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “พระคุณเจ้าให้ภิกษุ ทั้งหลายทำอะไร” “ขอถวายพระพร อาตมภาพประสงค์จะทำที่เร้นจึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความ สะอาดเงื้อมเขา” “พระคุณเจ้าต้องการคนวัดบ้างไหม” “ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มีคนวัด” “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าพึงทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วบอกโยมด้วย” ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลสนองพระดำรัสว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพจะทำ อย่างนั้น” สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้ชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา จากนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐซึ่งท่าน พระปิลินทวัจฉะได้ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงอภิวาทพระเถระ ทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๓๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ

ทรงอนุญาตให้มีคนทำงานวัด
[๖๑๙] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งทูตไปยังสำนักพระผู้มีพระภาค ให้ กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะ ทรงถวายคนวัด ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ ทั้งหลายว่า “เราอนุญาตให้มีคนวัด” แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้ทรงอภิวาทท่านพระ ปิลินทวัจฉะแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับ นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระ ภาคทรงอนุญาตให้มีคนวัดแล้วหรือ” “ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว” “ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้า” ท้าวเธอทรงให้สัญญาที่จะถวายคนวัดแก่พระเถระแต่ทรงลืม เมื่อเวลาผ่านไป นานทรงระลึกได้ ตรัสถามมหาอมาตย์ผู้สนองราชกิจคนหนึ่งว่า “เราถวายคนวัด ที่ให้สัญญาไว้แก่พระคุณเจ้าแล้วหรือ” มหาอมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ ยังไม่ได้ถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้าเลย” “ผ่านมากี่วันแล้ว” มหาอมาตย์นับราตรีแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ผ่านมา ๕๐๐ ราตรี” พระเจ้า พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น จงถวายคนวัด ๕๐๐ คน แก่พระคุณ เจ้า” มหาอมาตย์รับพระราชโองการแล้วจัดคนวัดไปถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ จำนวน ๕๐๐ คน ตั้งหมู่บ้านขึ้น มาต่างหากมีชื่อเรียกว่าอารามิกคามบ้าง ปิลินทวัจฉคามบ้าง [๖๒๐] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นพระประจำตระกูลในหมู่บ้านนั้น เช้าวันหนึ่ง ท่านทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านปิลินทวัจฉะ สมัยนั้น ในหมู่บ้านนั้นกำลังมีมหรสพ พวกเด็กหญิงแต่งกายประดับดอกไม้เล่นอยู่ พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับในหมู่บ้านปิลินทวัจฉะ มาถึง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ

เรือนคนวัดคนหนึ่ง ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ขณะนั้น ธิดาของสตรี คนวัดเห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้จึงร้องไห้ ขอว่า “พ่อแม่โปรดให้ ดอกไม้ โปรดให้เครื่องประดับแก่หนู” พระเถระถามสตรีนั้นว่า “เด็กคนนี้อยากได้ อะไร” นางตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เด็กคนนี้เห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้จึง ร้องไห้ ขอพวงดอกไม้และเครื่องประดับว่า ‘พ่อแม่โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่อง ประดับแก่หนู’ เราคนจนจะได้ดอกไม้และเครื่องประดับมาจากไหนกัน” ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงหยิบเสวียนหญ้า๑- อันหนึ่งส่งให้พลางกล่าวว่า “ท่านจง สวมเสวียนหญ้าอันนี้ที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น” หญิงคนวัดหยิบเสวียนหญ้าสวมที่ศีรษะ เด็กหญิง เสวียนหญ้ากลายเป็นพวงดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี พวกชาวบ้านกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า “ขอเดชะ ที่เรือนคนวัดโน้นมีพวงดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำ อย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะได้มาจากไหน ชะรอยจะได้ มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้” พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จองจำตระกูลคนวัดนั้น ต่อมา เช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวรไป บิณฑบาตที่ปิลินทวัจฉคามอีก เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับในหมู่บ้านปิลินท วัจฉะ เดินผ่านไปทางที่อยู่คนวัดคนนั้น ถามคนคุ้นเคยว่า “ครอบครัวคนวัดนี้ไปไหน” ชาวบ้านตอบว่า “ครอบครัวนี้ถูกจองจำเพราะเรื่องพวงดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า” [๖๒๑] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้า พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น พระ เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จเข้าไปหาพระเถระจนถึงที่นั่ง ทรงอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ รัฐว่า “ขอถวายพระพร ครอบครัวคนวัดถูกจองจำเพราะเรื่องอะไร” พระเจ้า พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ที่บ้าน เขามีพวงดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนจนจะได้มาจากไหน ชะรอยจะ @เชิงอรรถ : @ “เสวียน” คือของเป็นวงกลมสำหรับรองก้นหม้อ ทำด้วยหญ้าหรือหวายเป็นต้น, ของที่ทำเป็นวงกลม @สำหรับรองหรือรับสิ่งต่างๆ ดู พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕, หน้า ๘๒๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ

ได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้” ทีนั้นท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานให้ ปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเป็นทองคำ ปราสาทกลายเป็นทองคำ ไปทั้งหลัง แล้วท่านก็ถวายพระพรว่า “ทองคำมากมาย มหาบพิตรได้มาจากไหน” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “โยมทราบแล้ว นี่เป็นฤทธานุภาพของพระ คุณเจ้า” แล้วรับสั่งให้ปล่อยครอบครัวนั้น พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า “พระคุณเจ้า ปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตตริมนุสสธรรมในท่ามกลางราชบริษัท” พากันพอใจเลื่อมใสนำเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมาถวาย ตามปกติท่านพระปิลินทวัจฉะก็ได้เภสัช ๕ อยู่เสมอ ท่านจึงแบ่งเภสัชให้บริษัทของ ท่าน แต่บริษัทของท่านมักมาก บรรจุเภสัชที่ได้มาแล้วๆ ไว้ในตุ่มบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็มแล้วเก็บไว้บรรจุลงในหม้อกรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง แล้วแขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นไหลเยิ้มซึม จึงมีสัตว์จำพวกหนู ชุกชุมทั่ววิหาร พวกชาวบ้านเที่ยวไป วิหารพบเข้าจึงพากันตำหนิประณาม โพนทะนาว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากย บุตรเหล่านี้มีเรือนคลังเก็บของเหมือนพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ” พวกภิกษุ ได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงคิดเพื่อความมักมากเช่นนี้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุคิดเพื่อความมักมาก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงคิดเพื่อความมักมาก เล่า การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ
[๖๒๒] ก็ เภสัชใดควรลิ้มสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนเภสัชนั้นแล้วเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระปิลินทวัจฉะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๒๓] คำว่า เภสัชใดควรลิ้มสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้ มีอธิบายดังนี้ ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสทำจากน้ำนมโคบ้าง เนยใสทำจากน้ำนมแพะบ้าง เนยใสทำจากน้ำนมกระบือบ้าง หรือเนยใสทำจากน้ำนมสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้นแหละ ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดผักกาด น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดมะซาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง หรือน้ำมันไขสัตว์ ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำรสหวานที่แมลงผึ้งทำ ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำรสหวานที่เกิดจากอ้อย คำว่า ภิกษุรับประเคนเภสัชนั้นแล้วเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างมาก คือ ภิกษุพึงฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างมาก คำว่า ให้เกินกำหนดนั้นไป ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ความว่า เมื่อรุ่ง อรุณวันที่ ๘ เภสัชนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่ บุคคล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละเภสัชที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

วิธีสละเภสัชที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้ แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ เภสัชของกระผมนี้เ กินกำหนด ๗ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละเภสัชนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดง อาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนเภสัชที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เภสัชของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้เภสัชนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ เภสัช ของกระผมนี้เกินกำหนด ๗ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละเภสัชนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนเภสัชที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า เภสัชของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วก็พึงให้เภสัชนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ เภสัชของกระผมนี้เกินกำหนด ๗ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละเภสัชนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนเภสัชที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม คืนเภสัชนี้ให้แก่ท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท บทภาชนีย์

บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๖๒๔] เภสัชที่เกินกำหนด ๗ วัน ภิกษุสำคัญว่าเกินกำหนดแล้ว ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชเกินกำหนด ๗ วัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชเกินกำหนด ๗ วัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกินกำหนด ต้องอาบัตินิสสัคคิย ปาจิตตีย์ เภสัชยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าได้สละแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชยังไม่สูญหาย ภิกษุสำคัญว่าสูญหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าถูกชิงไปแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เภสัชที่สละแล้ว ภิกษุได้คืนมา ไม่พึงใช้ด้วยกิจที่เกี่ยวกับร่างกายและไม่ควร ฉัน พึงน้อมเข้าไปในการตามประทีปหรือการผสมสี ภิกษุอื่นจะใช้ด้วยกิจที่เกี่ยวกับ ร่างกายก็ได้ แต่ไม่ควรฉัน
ทุกทุกกฏ
เภสัชยังไม่เกินกำหนด ๗ วัน ภิกษุสำคัญว่าเกินกำหนดแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ เภสัชยังไม่เกินกำหนด ๗ วัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ เภสัชยังไม่เกินกำหนด ๗ วัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกินกำหนด ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๓. เภสัชชสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๖๒๕] ๑. ภิกษุอธิษฐานภายใน ๗ วัน ๒. ภิกษุสละให้ไป ๓. ภิกษุผู้มีเภสัชสูญหายภายใน ๗ วัน ๔. ภิกษุผู้มีเภสัชฉิบหายภายใน ๗ วัน ๕. ภิกษุผู้มีเภสัชถูกไฟไหม้ภายใน ๗ วัน ๖. ภิกษุผู้มีเภสัชถูกโจรชิงไปภายใน ๗ วัน ๗. ภิกษุผู้มีเภสัชถูกถือเอาไปโดยวิสาสะภายใน ๗ วัน ๘. ภิกษุผู้ไม่เยื่อใย ให้แก่อนุปสัมบันด้วยจิตสละละวางแล้วกลับได้ ของนั้นมาฉันอีก ๙. ภิกษุวิกลจริต ๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
เภสัชชสิกขาบทที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๔๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๓๙-๑๔๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=23              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=3452&Z=3644                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=138              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=138&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5277              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=138&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5277                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np23/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :