ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 186อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 187อ่านอรรถกถา 26 / 188อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕
๑๐. วิมลเถรคาถา

               อรรถกถาวิมลเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระวิมลเถระ เริ่มต้นว่า ธรณี จ สิญฺจติ วา.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้ท่านก็ได้เป็นผู้มีอธิการอันได้กระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลของคนเป่าสังข์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว สำเร็จการศึกษาในศิลปะนั้น
               วันหนึ่งพบพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี มีใจเลื่อมใสแล้ว ทำการบูชาด้วยการเป่าสังข์ถวาย. จำเดิมแต่นั้น ได้ทำการบำรุงพระศาสดา ตลอดกาลเวลา.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเกิดในเทวโลก กระทำบุญไว้มาก ท่องเที่ยวไปๆ มา ๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตั้งอธิฐานไว้ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ว่า ในอนาคตกาล ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีร่างกายบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ดังนี้แล้วรดต้นโพธิด้วยน้ำหอม ซักฟอกอาสนะที่เป็นเจดีย์ และเนินโพธิ ซักสมณบริขารที่เศร้าหมองแม้ของภิกษุทั้งหลาย.
               ก็ครั้นจุติจากมนุษยโลกแล้วก็ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ณ พระนครราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้.
               ก็เมื่อท่านอยู่ในท้องมารดาก็ดี ออกจากท้องมารดาก็ดี ร่างกายของท่านไม่เศร้าหมองด้วยดี และเสมหะเป็นต้นไม่แปดเปื้อน ดุจหยาดน้ำฝักบัว ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดังพระโพธิสัตว์ผู้ประสูติในภพสุดท้าย ด้วยเหตุนั้น คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า วิมละ.
               วิมลมาณพเจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ ได้เฉพาะซึ่งศรัทธา บรรพชาแล้ว เรียนกรรมฐาน อยู่ในถ้ำแห่งภูเขา แคว้นโกศล.
               อยู่มาวันหนึ่ง มหาเมฆที่เกิดในทวีปทั้ง ๔ ได้ยังฝนให้ตก แผ่คลุมทั่วท้องจักรวาล.
               ได้ยินว่า ฝนย่อมตกอย่างนี้ ในเวลาที่พระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิยังทรงดำรงอยู่ ในวิวัฏฏัฏฐายีกัป. จิตของพระเถระได้ตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เพราะฝนช่วยสงบ ระงับ ดับความร้อนในฤดูร้อน และเพราะได้ฤดูเป็นที่สบาย. ท่านจึงมีจิตตั้งมั่น ขวนขวายวิปัสสนาในขณะนั้นเอง แล้วบรรลุพระอรหัต ตามลำดับมรรค.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราเป็นผู้เป่าสังข์บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นผู้ประกอบการบำรุงพระสุคตเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เป็นนิตย์ เราเห็นผลแห่งการบำรุงพระโลกนาถผู้คงที่ ดนตรีหกหมื่นห้อมล้อมเราทุกเมื่อ
               ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ เราบำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบำรุง. ในกัปที่ ๒๔ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ พระองค์นามว่า "มหานิโฆษะ" มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๐๒

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีใจยินดีแล้ว เพราะทำกิจสำเร็จแล้ว.
               เมื่อจะเปล่งอุทานได้กล่าวคาถาว่า
                         แผ่นดินชุ่มชื่นด้วยน้ำฝน ลมก็พัด สายฟ้าก็แลบ
                         อยู่ทั่วไปในท้องฟ้า วิตกทั้งหลายย่อมสงบไป จิต
                         ของเราตั้งมั่นแล้วเป็นอันดี ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธรณี แปลว่า แผ่นดิน. ก็แผ่นดินนั้น ท่านเรียกว่า "ธรณี" เพราะทรงไว้ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งสิ้น
               บทว่า สิญฺจติ ความว่า เมื่อมหาเมฆยังฝนให้ตกเต็มทั่วท้องฟ้าโดยรอบ ผืนดินก็ชุ่มชื่นด้วยน้ำฝน.
               บทว่า วาติ มาตุโล ความว่า ลมที่เยือกเย็นเพราะสัมผัสกับบรรยากาศที่ฝนโปรยลงมา ก็พัด.
               บทว่า วิชฺชุลตา จรติ นเภ ความว่า สายฟ้าที่แลบออกจากกลุ่มเมฆหนา ร้องคำรามกระหึ่ม ครวญครางในที่นั้นๆ ก็แลบไปในอากาศด้านโน้น และด้านนี้รอบทิศ.
               บทว่า อุปสมนฺติ วิตกฺกา ความว่า มหาวิตก ๙ แม้ทั้งหมดมีกามวิตกเป็นต้น ชื่อว่าเป็นอันสงบแล้ว ด้วยสามารถแห่งองค์มรรคนั้น ในชั้นต้น โดยการที่พระเถระได้บรรลุสมถะและวิปัสสนาอันสำเร็จแล้วเพราะมีฤดูเป็นที่สบาย ชื่อว่าย่อมเข้าไปสงบ เพราะการได้บรรลุอริยมรรค. คือย่อมขาดสูญไปโดยไม่มีส่วนเหลือ พระเถระกล่าวถึงขณะแห่งอริยมรรค ทำให้เป็นปัจจุบัน เพราะใกล้ปัจจุบัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทนี้ เป็นคำกล่าวถึงปัจจุบัน ในข้อความที่ผ่านมาแล้ว.
               บทว่า จิตฺตํ สุสมาหิตํ มมํ ความว่า พระเถระพยากรณ์พระอรหัตผลว่า ต่อจากนั้นมา จิตของเราก็ตั้งมั่นด้วยดี ด้วยโลกุตรสมาธิ บัดนี้ไม่มีกิจอะไรที่จะต้องกระทำในการตั้งจิตนั้น ดังนี้.

               จบอรรถกถาวิมลเถรคาถา               
               จบวรรควรรณนาที่ ๕               
               ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่าปรมัตถทีปนี               
               -----------------------------------------------------               

               ในวรรคนี้ รวมพระเถระได้ ๑๐ รูป คือ
                         ๑. พระสิริวัฑฒเถระ
                         ๒. พระขทิรวนียเรวตเถระ
                         ๓. พระสุมังคลเถระ
                         ๔. พระสานุเถระ
                         ๕. พระรมณียวิหารีเถระ
                         ๖. พระสมิทธิเถระ
                         ๗. พระอุชชยเถระ
                         ๘. พระสัญชยเถระ
                         ๙. พระรามเณยยกเถระ
                         ๑๐. พระวิมลเถระ
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๕ ๑๐. วิมลเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 186อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 187อ่านอรรถกถา 26 / 188อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5271&Z=5283
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=4245
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=4245
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :