![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() บทว่า น อตริ แปลว่า ข้ามไม่ได้แล้ว. บทว่า สมุทฺทํ ได้แก่ ทะเลคือสงสาร หรือทะเลคืออายตนะ มีจักขุอายตนะเป็นต้น สงสารและอายตนะแม้ทั้งสองอย่างนั้น ชื่อว่าสมุทร เพราะเป็นเหมือนทะเล โดยความหมายว่าเต็มได้ยาก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสมุทร เพราะอรรถว่าเป็นเหมือนสมุทร. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นเหมือนสมุทร เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของกิเลส คือเพราะสันดานของสัตว์เป็นเรือนของกิเลส. บทว่า สวิจึ ความว่า มีระลอกโดยระลอก คือความโกรธและความแค้น. สมดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า ภัย คือระลอกนี้แลเป็นชื่อของความโกรธและความแค้น.๑- ____________________________ ๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๙๑ ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘๙ บทว่า สาวฏฺฏํ ความว่า พร้อมด้วยวังวนโดยวังวน คือกามคุณ ๕. สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า อาวัฏฏะ นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้ง ๕. ____________________________ ๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๙๓ องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๒๒ ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘๙ บทว่า สคหํ สรกฺขสํ ความว่า ชื่อว่าประกอบด้วยบุคคลที่เป็นวิสภาคกัน (ศัตรู) เช่นกับด้วยมังกรดุ ปลาร้ายและผีเสื้อสมุทร เพราะให้เกิดอนัตถะแก่ผู้ไปสู่แหล่งหากินของตน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า สคหํ สรกฺขสํ นี้แลเป็นชื่อของมาตุคาม.๓- ____________________________ ๓- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๙๔ ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘๙ บทว่า อตริ ความว่า ข้ามพ้นทะเลตามที่กล่าวแล้วด้วยเรือ คือมรรคปัญญา. บทว่า ติณฺโณ แปลว่า ข้ามพ้นไปแล้ว. บทว่า ปารคโต ได้แก่ ผู้เข้าถึงฝั่ง คือฝั่งข้างโน้นของทะเลนั้น ได้แก่นิโรธ. บทว่า ถเล ติฏฺฐติ ความว่า ต่อจากนั้นไป เราตถาคตเรียกเขาว่าเป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปแล้ว ยืนอยู่บนบก คือฝั่งโน้น ได้แก่พระนิพพาน เพราะข้ามห้วงน้ำใหญ่มีกามเป็นต้น. แม้ในพระสูตรนี้ คาถาก็มีมาแล้วด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นฝ่ายขาวเหมือนกัน. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุมฺมิภยํ ได้แก่ คลื่นและภัยตามที่กล่าวแล้ว คลื่นนั้นชื่อว่าเป็นภัย เพราะเป็นแดนน่าสะพึงกลัว. บทว่า ทุตฺตรํ ได้แก่ ข้ามได้ยากเหลือเกิน. บทว่า อจฺจตริ แปลว่า ได้ข้ามพ้นแล้ว. บทว่า สงฺคาติโค ความว่า ชื่อว่าผ่านเครื่องข้องไปแล้ว เพราะเป็นผู้ก้าวเลย คือละเครื่องข้อง ๕ อย่างมีราคะเป็นต้นได้แล้ว. บทว่า อฏฺฐงฺคโต โส น ปมาณเมติ ความว่า ผู้นั้นเป็นอย่างนั้น คือเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่าผู้ถึงความขาดสูญแล้ว เพราะกิเลสมีราคะเป็นต้นที่เป็นธรรมทำประมาณถึงความดับสูญไปโดยส่วนเดียวโดยแท้. และต่อแต่นั้นไปเป็นผู้ไม่อาจที่ใครๆ จะนับได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเช่นนี้โดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา เพราะความบริบูรณ์แห่งธรรมขันธ์มีศีลเป็นต้น ชื่อว่าไม่ถึงการนับได้. อีกอย่างหนึ่ง ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ กล่าวคืออนุปาทิเสสนิพพาน ชื่อว่าย่อมไม่ถึง คือไม่เข้าถึงการนับได้ เพราะเป็นผู้ที่ใครๆ ไม่สามารถจะนับได้ว่า พระอรหันต์นั้นเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วโดยคติชื่อนี้ และเป็นผู้เช่นนี้โดยชื่อและโคตร. ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระธรรมเทศนาลงด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั่นแหละว่า เราตถาคตกล่าวว่า เธอยังมัจจุราชให้หลงได้แล้ว คือเป็นผู้ที่พญามัจจุราชไม่สามารถจะติดตามได้. ในวรรคนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสวัฏฏะไว้ในสูตรที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๖ ตรัสวิวัฏฏะไว้ในสูตรที่ ๒ ที่ ๗ และที่ ๘ ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะไว้ในพระสูตรที่เหลือ ด้วยประการดังพรรณนามานี้. จบอรรถกถาทุติยราคสูตรที่ ๑๐ จบวรรควรรณนาที่ ๒ รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ๒. จักขุสูตร ๓. อินทรียสูตร ๔. อัทธาสูตร ๕. ทุจริตสูตร ๖. สุจริตสูตร ๗. สุจิสูตร ๘. มุนีสูตร ๙. ปฐมราคสูตร ๑๐. ทุติยราคสูตร และอรรถกถา. .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ทุติยวรรค ราคสูตรที่ ๒ จบ. |