ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัน ”             ผลการค้นหาพบ  11  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 11
[15] ที่สุด หรือ อันตา 2 (ข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ผิดพลาดไปจากทางอันถูกต้อง คือมัชฌิมาปฏิปทา - the two extremes)
       1. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข - the extreme of sensual indulgence; extreme hedonism)
       2. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง, การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน - the extreme of self-mortification; extreme asceticism)

Vin.I.10;
S.V. 420
วินย. 4/13/18;
สํ.ม. 19/1664/528.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 11
[31] ปฏิสันถาร 2 (การต้อนรับ, การรับรอง, การทักทายปราศรัย - hospitality; welcome; greeting)
       1. อามิสปฏิสันถาร (ปฏิสันถารด้วยสิ่งของ - worldly hospitality; material or carnal greeting)
       2. ธรรมปฏิสันถาร (ปฏิสันถารด้วยธรรมหรือโดยธรรม - doctrinal hospitality; spiritual greeting)

A.I.93;
Vbh.360.
องฺ.ทุก. 20/397/116.
อภิ.วิ. 35/921/487.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 11
[58] โสดาบัน 3 (ท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, ผู้แรกถึงกระแสอันนำไปสู่พระนิพพาน แน่ต่อการตรัสรู้ข้างหน้า — Stream-Enterer)
       1. เอกพีชี (ผู้มีพืชคืออัตตภาพอันเดียว คือ เกิดอีกครั้งเดียว ก็จักบรรลุอรหัต — the Single-Seed)
       2. โกลังโกละ (ผู้ไปจากสกุลสู่สกุล คือ เกิดในตระกูลสูงอีก 2-3 ครั้ง หรือเกิดในสุคติอีก 2-3 ภพ ก็จักบรรลุอรหัต — the Clan-to-Clan)
       3. สัตตักขัตตุงปรมะ (ผู้มีเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือ เวียนเกิดในสุคติภพอีกอย่างมากเพียง 7 ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัต — the Seven-Times-at-Most)

A.I.233:
IV.380;
V.120;
Pug.3,16,74
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129/;
อภิ.ปุ. 36/47-49/147.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 11
[61] อรหันต์ 2 (ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, ท่านผู้สมควรรับทักษิณาและการเคารพบูชาอย่างแท้จริง — an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกขวิปัสสก (ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง คือ ท่านผู้มิได้ฌาน สำเร็จอรหัตด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วนๆ — the dry-visioned; bare-insight worker)
       2. สมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือ ท่านผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต — one whose vehicle is tranquillity; the quiet-vehicled)

KhA.178,183;
Vism.587,666.
ขุทฺทก.อ. 200;
วิสุทธิ. 3/206,312;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/398; 579.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 11
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 11
[122] สันโดษ 3 และ 12 (ความยินดี, ความพอใจ, ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม, ความยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้, ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ — contentment; satisfaction with whatever is one’s own)
       1. ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือ เพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา — contentment with what one gets and deserves to get)
       2. ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสลงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ย่อมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตน แต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน — contentment with what is within one’s strength or capacity)
       3. ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ทานผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของปอนๆ มาใช้หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน — contentment with what is befitting)

       สันโดษ 3 นี้ เป็นไปในปัจจัย 4 แต่ละอย่าง จึงรวมเรียกว่า สันโดษ 12
       อนึ่ง สันโดษ 3 นี้ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งมุ่งแสดงข้อปฏิบัติของพระภิกษุโดยเฉพาะ ปรากฏในอรรถกถาและฎีกามากมายไม่น้อยกว่า 10 แห่ง คฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร.

AA.I.45;
KhA.145;
UdA.229;etc.
ที.อ. 1/253;
ม.อ. 2/188;
องฺ.อ. 1/81;
ขุทฺทก.อ. 159;
อุ.อ. 288; ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 11
[210] อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ 4 (ตามบาลีว่า ภัยสำหรับกุลบุตรผู้บวชในธรรมวินัยนี้ อันเป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาไป - perils or terrors awaiting a clansman who has gone forth from home to the homeless life; dangers to newly ordained monks or novices)
       1. อูมิภัย (ภัยคลื่น คือ อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความขึ้งเคียดคับใจ เบื่อหน่ายคำตักเตือนพร่ำสอน - peril of waves, i.e. wrath and resentment caused by inability to accept teaching and advice)
       2. กุมภีลภัย (ภัยจรเข้ คือ เห็นแก่ปากแก่ท้อง ถูกจำกัดด้วยระเบียบวินัยเกี่ยวกับการบริโภค ทนไม่ได้ - peril of crocodiles, i.e. gluttony)
       3. อาวฏภัย (ภัยน้ำวน คือ ห่วงพะวงใฝ่ทะยานในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้ - peril of whirlpools, i.e. desire for sense-pleasures)
       4. สุสุกาภัย (ภัยปลาร้าย หรือภัยฉลาม คือ เกิดความปรารถนาทางเพศ รักผู้หญิง - peril of sharks, i.e. love for women)

M.I.460;
A.II.123.
ม.ม. 13/190/198;
องฺ.จตุกฺก. 21/122/165.

[***] อัปปมัญญา 4 ดู [161] พรหมวิหาร 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 11
ปัญจกะ - หมวด 5
Groups of Five
(including related groups)
[***] กัลยาณธรรม 5 ดู [239] เบญจธรรม.
[***] กามคุณ 5 ดู [6] กามคุณ 5.
[***] กำลัง 5 ของพระมหากษัตริย์ ดู [230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์

[216] ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — corporeality)
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — feeling; sensation)
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — perception)
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — mental formations; volitional activities)
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — consciousness)

       ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม. อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5

       เรื่องขันธ์ 5 พึงดูประกอบในหมวดธรรมอื่นๆ เช่น
       1. รูปขันธ์ ดู [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทายรูป 24.
       2. เวทนาขันธ์ ดู [110] เวทนา 2; [111] เวทนา 3; [112] เวทนา 5; [113] เวทนา 6.
       3. สัญญาขันธ์ ดู [271] สัญญา 6.
       4. สังขารขันธ์ ดู [119] สังขาร 3; [120] สังขาร 3; [129] อภิสังขาร 3; [263] เจตนา 6.
       5. วิญญาณขันธ์ ดู [268] วิญญาณ 6.

       นอกนี้ ดู [356] จิตต์ 89; [355] เจตสิก 52

S.III.47;
Vbh.1.
สํ.ข. 17/95/58;
อภิ.วิ. 35/1/1.

[***] คติ 5 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 11
[218] ธรรมขันธ์ 5 (กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมทั้งปวงเข้าเป็นหัวข้อใหญ่ — bodies of doctrine; categories of the Teaching)
       1. สีลขันธ์ (กองศีล, หมวดศีล ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น อปจายนมัย เวยยาวัจจมัย ปาติโมกขสังวร กายสุจริต สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นต้น — body of morals; virtue category)
       2. สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ, หมวดสมาธิ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นต้น — body of concentration; concentration category)
       3. ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา, หมวดปัญญา ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ธัมมวิจยะ วิมังสา ปฏิสัมภิทา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น— body of wisdom or insight; understanding category)
       4. วิมุตติขันธ์ (กองวิมุตติ, หมวดวิมุตติ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ปหาน วิราคะ วิโมกข์ วิสุทธิ สันติ นิโรธ นิพพาน เป็นต้น — body of deliverance; deliverance category)
       5. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ (กองวิมุตติญาณทัสสนะ, หมวดธรรมเกี่ยวกับการรู้ การเห็นในวิมุตติ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เป็นต้น — body of the knowledge and vision of deliverance; knowing-and-seeing-of-deliverance category)

       ธรรมขันธ์ 4 ข้อต้น เรียกอีกอย่างว่า สาระ 4 (แก่น, หลักธรรมที่เป็นแกน, หัวใจธรรม — essences)

D.III.279;
A.lll.134;
A.II.140
ที.ปา. 11/420/301;
องฺ.ปญฺจก. 22/108/152;
องฺ.จตุกฺก. 21/150/189.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 11
[245] อนันตริยกรรม 5 (กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที — immediacy-deeds; heinous crimes which bring immediate results)
       1. มาตุฆาต (ฆ่ามารดา — matricide)
       2. ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา — patricide)
       3. อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์ — killing an Arahant)
       4. โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป — causing a Buddha to suffer a contusion or to bleed)
       5. สังฆเภท (ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์ — causing schism in the Order)

A.III.146 องฺ.ปญฺจก. 22/129/165

[***] อนาคามี 5 ดู [60] อนาคามี 5

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 11
[337] อันตคาหิกทิฏฐิ 10 (ความเห็นอันถือเอาที่สุด, ความเห็นผิดที่แล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง — the ten erroneous extremist views) คือเห็นว่า
       1. โลกเที่ยง (The world is eternal.)
       2. โลกไม่เที่ยง (The world is not eternal.)
       3. โลกมีที่สุด (The world is finite.)
       4. โลกไม่มีที่สุด (The world is infinite.)
       5. ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น (The soul and the body are identical.)
       6. ชีวะก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง (The soul is one thing and the body is another.)
       7. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก (The Tathagata is after death.)
       8. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมไม่เป็นอีก (The Tathagata is not after death.)
       9. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ก็ใช่ ไม่เป็นอีก ก็ใช่ (The Tathagata both is and is not after death.)
       10. ตถาคตเบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ก็มิใช่ ย่อมไม่เป็นอีก ก็มิใช่ (The Tathagata neither is nor is not after death.)

       คำว่า ตถาคต ในที่นี้ อรรถกถาบางแห่งว่าหมายถึงสัตว์ (เช่น ม.อ. 3/135; สงฺคณี.อ. 528) บางแห่งว่า อัตตา หรืออาตมัน (อุ.อ. 430) บางแห่งว่าพระพุทธเจ้า (สํ.อ. 3/192)

M.I.426;
S.IV.392;
A.V.193;
Ps.I.151;
Vbh.392
ม.ม. 13/147/143;
สํ.สฬ. 18/788/476;
องฺ.ทสก. 24/193/206;
ขุ.ปฏิ. 31/337/226;
อภิ.วิ. 35/1032/529


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัน
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%B9


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]