ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๒.

               ๘. เรื่องมาร [๒๔๗]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมาร
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "นิฏฺฐํ คโต" เป็นต้น.

               มารแปลงเป็นช้างรัดกระหม่อมพระราหุล               
               ความพิสดารว่า ในวันหนึ่งเวลาวิกาล พระเถระเป็นอันมากเข้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ไปถึงที่เป็นที่อยู่ของพระราหุลเถระแล้ว ก็ไล่ท่านให้ลุกขึ้น. ท่านเมื่อไม่เห็นที่เป็นที่อยู่ในที่อื่น จึงไปนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฎีของพระตถาคต. คราวนั้น ท่านผู้มีอายุนั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้เป็นผู้ยังไม่มีพรรษาเลย.
               มารชื่อวสวัตดี ดำรงอยู่ในภพนั่นแหละ เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี จึงคิดว่า "พระหน่อน้อยผู้แทงใจของพระสมณโคดมนอนข้างนอก ส่วนพระองค์ผทมในภายในพระคันธกุฎี เมื่อเราบีบคั้นพระหน่อน้อย พระองค์เองก็จัก (เป็นเหมือน) ถูกบีบคั้น (ด้วย)."
               มารนั้นนิรมิตเพศเป็นพระยาช้างใหญ่มา เอางวงรัดกระหม่อมพระเถระ แล้วร้องดุจนกกระเรียนด้วยเสียงดัง.

               พระศาสดาทรงแสดงเหตุที่พระราหุลไม่กลัว               
               พระศาสดาผทมในพระคันธกุฎี ทรงทราบว่าช้างนั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า "มาร คนเช่นท่านนั้นแม้ตั้งแสน ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้ความกลัวเกิดแก่บุตรของเราได้ เพราะว่าบุตรของเรามีปกติไม่สะดุ้ง มีตัณหาไปปราศจากแล้ว มีความเพียรใหญ่ มีปัญญามาก"
               ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๘.  นิฏฺฐํ คโต อสนฺตาสี    วีตตโณฺห อนงฺคโณ
                         อจฺฉินฺทิ ภวสลฺลานิ    อนฺติโมยํ สมฺสฺสโย.
                         วีตตโณฺห อนาทาโน    นิรุตฺติปทโกวิโท
                         อกฺขรานํ สนฺนิปาตํ    ชญฺญา ปุพฺพปรานิ จ
                         ส เว อนฺติมสารีโร    มหาปญฺโญ มหาปุริโสติ วุจฺจติ.
                                   (ผู้ใด) ถึงความสำเร็จ มีปกติไม่สะดุ้ง มีตัณหาไป
                         ปราศแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนใจ ได้ตัดลูกศรอันให้
                         ไปสู่ภพทั้งหลายเสียแล้ว, กายนี้ (ของผู้นั้น) ชื่อว่ามีใน
                         ที่สุด.
                                   (ผู้ใด) มีตัณหาไปปราศแล้ว ไม่มีความถือมั่น
                         ฉลาดในบทแห่งนิรุตติ รู้ที่ประชุมแห่งอักษรทั้งหลาย
                         และรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งอักษรทั้งหลาย.
                                   ผู้นั้นแล มีสรีระมีในที่สุด เราย่อมเรียกว่าผู้มีปัญญา
                         มาก เป็นมหาบุรุษ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า นิฏฺฐํ คโต ความว่า พระอรหัต ชื่อว่าความสำเร็จของบรรพชิตทั้งหลาย ในพระศาสนานี้ ถึงคือบรรลุพระอรหัตนั้น.
               บทว่า อสนฺตาสี คือ ผู้ชื่อว่าไม่สะดุ้ง เพราะไม่มีกิเลสเครื่องสะดุ้ง คือราคะเป็นต้น ในภายใน.
               บาทพระคาถาว่า อจฺฉินฺทิ ภวสลฺลานิ คือ ได้ตัดลูกศรอันมีปกติให้ไปสู่ภพทั้งสิ้น.
               บทว่า สมุสฺสโย คือ ร่างกายนี้ ของผู้นั้นมีในที่สุด.
               บทว่า อนาทาโน คือ ผู้ไม่มีการยึดถือในขันธ์เป็นต้น.
               บาทพระคาถาว่า นิรุตฺติปทโกวิโท ความว่า ผู้ฉลาดในปฏิสัมภิทาแม้ทั้ง ๔ คือในนิรุตติ และบทที่เหลือ.
               สองบาทพระคาถาว่า อกฺขรานํ สนฺนิปาตํ ชญฺญา ปุพฺพาปรานิ จ ความว่า ย่อมรู้หมวดหมู่แห่งอักษร กล่าวคือที่ประชุมแห่งอักษรทั้งหลาย และรู้อักษรเบื้องปลายด้วยอักษรเบื้องต้น และอักษรเบื้องต้นด้วยอักษรเบื้องปลาย. ชื่อว่ารู้จักอักษรเบื้องปลายด้วยอักษรเบื้องต้น คือเมื่อเบื้องต้นปรากฏอยู่ ในท่ามกลางและที่สุด แม้ไม่ปรากฏ ก็ย่อมรู้ได้ว่า "นี้เป็นท่ามกลางแห่งอักษรเหล่านี้ นี้เป็นที่สุด", ชื่อว่าย่อมรู้จักอักษรเบื้องต้นด้วยอักษรเบื้องปลาย คือเมื่อที่สุดปรากฏอยู่ เมื่อเบื้องต้นและท่ามกลางแม้ไม่ปรากฏ ก็ย่อมรู้ได้ว่า "นี้เป็นท่ามกลางแห่งอักษรเหล่านี้ นี้เป็นเบื้องต้น", เมื่อท่ามกลางปรากฏอยู่ เมื่อเบื้องต้นและที่สุดแม้ไม่ปรากฏ ย่อมทราบได้เหมือนกันว่า "นี้เป็นเบื้องต้นแห่งอักษรเหล่านี้ นี้เป็นที่สุด."
               บทว่า มหาปญฺโญ ความว่า ท่านผู้มีสรีระตั้งอยู่ในที่สุดนั่น พระศาสดาตรัสเรียกว่า ผู้มีปัญญามาก เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา อันกำหนดถือเอาซึ่งอรรถ ธรรม นิรุตติและปฏิภาณ และศีลขันธ์เป็นต้นอันใหญ่ และตรัสว่าเป็นมหาบุรุษ เพราะความเป็นผู้มีจิตพ้นแล้ว โดยพระบาลีว่า "สารีบุตร เราเรียกผู้มีจิตพ้นแล้วแลว่า "มหาบุรุษ."
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               ฝ่ายมารผู้มีบาปคิดว่า "พระสมณโคดม ย่อมทรงรู้จักเรา" แล้วอันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง ดังนี้แล.

               เรื่องมาร จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1162&Z=1243
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :